แม้สังคมไทยจะมองเห็นถึงความตั้งใจจริงของ “ทีมเศรษฐกิจ” รัฐบาลประยุทธ์ 2 ต่อการจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ในยุคที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ต่างตกอยู่ในการ “ยอบแยบ” คล้ายๆ กัน..
กระนั้น สำนวน “โง่แต่ขยัน” ก็ถูกนำมาเปรียบเปรย หลังเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาท หมดไปกับการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ชนิดต่างคนต่างทำ
สังคมไทยและประชาคมโลกต่างมองเหมือนกัน ในมุมที่ว่า...“รัฐบาลประยุทธ์ 2” มีที่มาในแบบ “ผิดหลักการประชาธิปไตย”
แทนที่จะปล่อยให้พรรคการเมือง ซึ่ง “ชนะการเลือกตั้ง” เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 และได้เสียง ส.ส.มากสุด อย่าง...พรรคเพื่อไทย...จัดตั้งรัฐบาลเสียก่อน แต่เพราะความ “บิดเบี้ยว” ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เหมือนจะเขียนกำหนดให้เฉพาะ “เครือข่าย คสช.” เท่านั้น ที่จะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกสมัย จากการสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงในรัฐสภา
นั่นจึงทำให้พวกเขา...กลับมาสานต่อในสิ่งที่ “คสช.” ได้เคยทำเอาไว้กับ “รัฐบาลประยุทธ์ 1” โดยเฉพาะแนวทางการบริหารด้านเศรษฐกิจ ที่แม้จะ “พลิกด้าน” อิงเศรษฐกิจฐานราก เน้นความช่วยเหลือคนรากหญ้า ผ่านโครงการและมาตรการต่างๆ มากมาย
ทว่าปลายทางของการเยียวยาคนไทย ทั้งในซีกคนจน รวมถึงเกษตรกร...ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง และฟาร์มปศุสัตว์ ผลประโยขน์ทั้งมวล...กลับไหลไปตกอยู่กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เคยสนับสนุน “คสช.” และ “รัฐบาลประยุทธ์” มาก่อน
แม้หลายมาตรการ/โครงการ...จะเป็นไปในแบบ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ทั้งการ “แจกเงินคนจน” ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านใบ (คน) ที่กำลังจะมีเฟสใหม่ตามมา
ต่อด้วยมาตรการ “ชิปช้อปใช้” รวม 3 เฟส เกี่ยวพันกับผู้คนมากมากถึง 15 ล้านคน แม้จะมีบางส่วนที่คาบเกี่ยวกับคนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่บ้าง
แต่ถือได้ว่า...รัฐบาลดึงเอาคนระดับ “ล่างบน” ถึงระดับ “กลางๆ” ของสังคมไทย...เข้ามาเป็น “ผู้เล่น” ในเกมที่รัฐบาลกำหนดได้อย่างน่าสนใจ แม้ว่า...ผลที่ได้จะมีน้อยมาก
แถมยังเสียหายอย่างแรงกับความไม่สนใจของผู้คน ที่ส่วนใหญ่หวังเฉพาะการใช้สิทธิ์รับเงิน 1,000 บาทจาก “กระเป๋า 1” โดยไม่สนใจจะใช้สิทธิ์ “รับคืนเงินสด” (Cash Back) 15% และ 20% ตามวงเงินใช้จ่ายที่กระทรวงการคลังกำหนด 1-30,000 บาท และ 30,001-50,000 บาทตามลำดับ แต่อย่างใด
การประกันรายได้เกษตรกร ที่รัฐบาล...ซีกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้รับผิดชอบ และว่ากันว่า...โครงการนี้ ทำให้นายทุน...ผู้ที่ “ทำนาบนหลังคน” ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะไม่ว่าพวกเขาจะกดราคารับซื้อสินค้าเกษตรอย่างไร?
สุดท้าย...เกษตรกรยังคงได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ตามสัญญาประชาคม เท่าที่จะมีการกำหนดราคาประกันฯเอาไว้
แต่ความเสียหาย กลับไปตกอยู่ที่...ระบบและกลไกทางการตลาด ซึ่งนายทุนฯ ได้ทุบทำลายย่อยยับ จากการ “กดราคารับซื้อ” แทนจะปล่อยให้เป็นธรรมชาติ ตาม “ดีมานด์-ซับพลายด์” กระทบเงินที่รัฐบาลต้องนำไปอุดหนุนนับแสนล้านบาท และเป็นเงินภาษีของคนไทยทั้งแผ่นดิน
นี่ยังไม่นับรวมโครงการต่างๆ ในการดูแลของพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง...พรรคภูมิใจไทย ที่ขณะนี้กำลังมีปัญหากับสื่อค่ายใหญ่ (เครือเนชั่น) ที่สนับสนุน “รัฐบาลประยุทธ์” และ “ทีมเศรษฐกิจ” ของพรรคพลังประชารัฐ อย่างออกนอกหน้า
หากรวมมาตรการ/โครงการอื่นๆ ที่ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ออกมาในช่วงแค่ 6-7 เดือนที่ผ่านมา หลังรวมพลจัดตั้งเป็นรัฐบาลได้แล้ว ชนิด “ต่างคนต่างทำ” นั้น ว่ากันว่า...มีเม็ดเงินมากกว่า 3 แสนล้านบาทที่ถูกนำไปใช้เพื่อการนี้ทั้งมวล
และถ้านับรวมถึงเม็ดเงินที่รัฐบาล “ชี้นำ” ผ่านไปยังธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น...ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) SME D BANK หรือ EXIM BANK ฯลฯ
น่าจะมีเม็ดเงินรวมกันมากกว่า 5 แสนล้านบาท ที่ถูกนำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้
แม้หลายฝ่ายจะมองเห็นถึงความตั้งใจจริงของ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” และ “ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับบทเป็น “หัวหน้าทีมฯ” กระนั้น วลีที่ว่า “ขยันแต่โง่!...คือ ที่สุดของอันตราย” ยังคงดังกึกก้องอยู่ในหัวของคนไทยที่ “รู้ทัน” อยู่เสมอ
ปรากฏการณ์ “ติดกระดุมผิดเม็ดแรก” สะท้อนภาพการทำงานของ “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลได้ชัดเจนที่สุด!
เมื่อทำผิดกับ “กระดุมเม็ดแรก”...ก็อย่าพึงได้หวังว่า “กระดุมเม็ดต่อๆ ไป” จะถูก!
ไม่ว่าผลงานบนความตั้งใจจริงของ “ทีมเศรษฐกิจ” โดยเฉพาะในซีกของพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของ “เฮียกวง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะปรากฏเห็นเด่นชัดอย่างไร กระนั้น...เมื่อผลสัมฤทธิ์แห่งความสำเร็จ “ไม่คุ้มค่า” กับเม็ดเงินจากภาษีของคนไทยที่จ่ายไป
ก็อย่าได้แปลกใจ ว่าเหตุใด? “สังคมไทย” จะมองทุกมาตรการ/โครงการของรัฐบาลชุดนี้ เป็นไปในลักษณะ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” หาคุณค่าอะไรไม่ได้เลย!!!.