หลังจาก “สำนักข่าวเนตรทิพย์” ได้นำเสนอปัญหาความแออัดในการยกขนตู้สินค้าในการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เพราะพนักงานขับรถเครนและพ่วงเทรลเลอร์มีไม่เพียงพอ ขณะที่พนักงานประจำของ กทท.ก็มุ่งแต่จะทำงานล่วงเวลา/วันหยุดเพื่อหวังค่าแรง 2-3 เท่า จนทำให้ผู้นำเข้า-ส่งออก ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอยู่แล้ว ต้องมาแบกรับภาระจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ท่าเรือในส่วนนี้
เหตุนี้เราจึงเรียกร้อง และเสนอแนะให้ฝ่ายบริหาร กทท. พิจารณารับพนักงานเกษียณเข้ามาทำงาน ซึ่งนอกจากจะแก้ไขปัญหาคนงานขาดแคลนแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายโอทีให้แก่องค์กรได้ปีละนับสิบล้านบาทอีกด้วย ทั้งยังจะเป็นการสนองนโยบายภาครัฐในการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ รองรับนโยบายสังคมสูงอายุ Aging Society ด้วย
อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ได้รับจากฝ่ายบริหาร กทท. กลับยืนยันไม่มีนโยบายจะเปิดรับพนักงานวัยเกษียณเข้ามาทำงาน เนื่องจากต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 ที่ต้องเกษียณอายุกันเมื่ออายุครบ 60 ปี พร้อมกับระบุแนวทางในการแก้ปัญหาขาดแคลนพนักงานดังกล่าวว่า กทท.จะเร่งดำเนินการบรรจุพนักงานเครื่องมือทุ่นแรงให้เพียงพอ โดยประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกจากพนักงานภายในการท่าเรือฯ โดยเร็วเพื่อไม่ให้กระทบกับการใช้บริการ พร้อมกับชี้แจงตารางปฏิบัติงานปกติ และโอเวอร์ไทม์ของพนักงาน โดยยืนยันมีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานกำกับดูแลกระบวนการทำงานที่รัดกุมได้มาตรฐานสากล
คำตอบของฝ่ายบริหารการท่าเรือฯ ดังกล่าว สร้างความผิดหวังให้กับผู้เกี่ยวข้องที่เฝ้าติดตามปัญหาการขาดแคลนแรงงานผู้ปฏิบัติงานในเขตท่าเรือ ด้วยเห็นว่า กทท.มุ่งแต่การรักษาผลประโยชน์ขององค์กรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ส่งออก-นำเข้า ที่ปกติก็หายใจไม่ทั่วท้องอยู่แล้วจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้น
แหล่งข่าวที่ต้องใช้บริการในเขตท่าเรือมานับทศวรรษ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตท่าเรือว่า หากพิจารณา สถานการณ์ส่งออกในปีนี้ และแนวโน้มในอนาคตที่เต็มไปด้วยวิกฤตและปัญหาแล้ว ก็ให้น่าแปลกใจที่เหตุใดจะเกิดปัญหาเรื่องของความแออัดในเรื่องของการยกขนสินค้าภายในเขตท่าเรือได้ เพราะสถานการณ์ส่งออกของประเทศไม่ได้ดีขนาดที่ตัองแย่งตู้สินค้า ตรงกันข้ามกลับชะลอตัวถึงขั้นมีแนวโน้นติดลบด้วยซ้ำ
หากส่งออกไทยเรามันพุ่งกระฉูด 10-20% จนตู้สินค้าล้นทะลัก จนทำเอาเครื่องมือเครื่องไม้ที่ กทท.มีอยู่รับมือไม่ไหวก็ว่าไปอย่าง แต่นี่สถานการณ์ส่งออกนำเข้าของไทยตรงกันข้ามจึงไม่น่าจะเกิดปัญหานี้ขึ้นมาได้ ด้วยเหตุนี้ปัญหาเรื่องของความแออัดในการยกขนหรือถ่ายสินค้าภายในเขตท่าเรือนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหาร กทท.คงต้องหวนกลับไปพิจารณาต้นตอของปัญหาโดยเร็ว
ทั้งนี้ แหล่งข่าวกล่าวว่า จะว่าไปข้อเสนอของอดีตพนักงานหรือลูกจ้างวัยเกษียณที่เสนอแนวคิดให้ กทท.เปิดรับพนักงานวัยเกษียณกลับเข้ามาทำงานเสริมคนงาน/ลูกจ้างที่ขาดแคลน เพราะมัวมุ่งแต่จะไปทำงานเอาโอทีหรือทำงานในวันหยุดอะไรนั้น ก็เป็นสิ่งที่น่ารับฟังอยู่ ดีกว่า กทท.จะซุกปัญหาไว้ใต้พรมรอให้มันระอุแดด จนแก้ไม่ตก!
"อย่าลืมว่า นโยบายของรัฐบาลและโดยเฉพาะ ฯพณฯ ท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่มอบหมายให้กระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับ 5 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อร่วมกับขับเคลื่อน “วาระชาติ” เรื่องสังคมผู้สูงอายุตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 นั้นยังมีอยู่ ทั้งยังมีมติ ครม.เดิมเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2559 ที่เห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ อาทิ การจ้างงานผู้สูงอายุของบริษัทห้างร้านและนิติบุคคลที่สามารถจะหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 2 เท่าของรายจ่าย เป็นต้น"
ที่ผ่านมา เราได้เห็นภาคเอกชนหลากหลายองค์กรมีการตื่นตัวกันในเรื่องการรับผู้สูงอายุ คนวัยเกษียณที่ยังมีกำลังวังชาเข้าไปทำงานกันหลายแห่ง อย่างห้าง “อิเกีย” ธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติจากสวีเดน ที่นำร่องในการจ้างงานผู้สูงอายุ รวมทั้งพนักงานแบบไม่จำกัดอายุ (ยกเว้นแรงงานเด็ก) ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ขอเพียงแค่ความชื่นชอบในการแต่งบ้านและรักงานบริการก็สามารถสมัครเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ได้ ซึ่งปัจจุบันน่าจะเป็น 100 คนเข้าไปแล้วกระมัง
หรืออย่างกลุ่มเซ็นทรัล ก็มีการจ้างงานผู้สูงอายุอยู่เกือบ 300 คน ซึ่งมีทั้งพนักงานประจำ และ "พาร์ทไทม์" ที่ส่วนหนึ่งเป็นการต่ออายุพนักงานเดิมที่เกษียณไปแล้ว อย่างพนักงานแผนกผักผลไม้, พนักงานครัว, พนักงานขายแผนกเครื่องครัว, พนักงานห้อง CCTV, พนักงานตัดเย็บ, พนักงานทำความสะอาด และพนักงานลูกค้าสัมพันธ์ เป็นต้น
ส่วนหน่วยงานภาครัฐที่นำร่องในเรื่องนี้ไปแล้ว ก็อย่างกรมธนารักษ์ที่ก่อนหน้านี้ “สำนักข่าวเนตรทิพย์” เคยหยิบยกประเด็นที่ นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ซึ่งพร้อมจะขานรับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอุตตม สาวนายน) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายสันติ พร้อมพัฒน์) ในการเปิดรับสมัคร “ข้าราชการเกษียณอายุ” ทั้งของกรมธนารักษ์เอง และจากกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำมาช่วยเหลืองานด้านการทำรังวัดที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศกว่า 12 ล้านไร่ กระทั่ง ได้มีโอกาสสอบทานไปยัง “2 รัฐมนตรีคลัง” ในเวลาต่อมา และได้รับคำตอบทำนองเดียวกัน
มากกว่านั้น จากการสอบถามในเชิงนโยบายกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งเดินทางมาร่วมประชุมและตรวจเยี่ยมการทำงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ก็ได้รับคำตอบในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ...
“ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ20 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้น จำเป็นที่รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จะต้องไม่ทอดทิ้งผู้สูงอายุไว้ข้างหลัง โดยหากคนกลุ่มนี้ ยังพอมีศักยภาพในการทำงาน มีความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจและสติปัญญาแล้ว ภาครัฐจะต้องให้โอกาสแก่พวกเขา ได้เข้ามาทำงานในสาขาที่จำเป็นต้องมีคนที่มีประสบการณ์ตรงในสายงานที่ยังขาดแคลนมาช่วยในทำงาน"
ไม่กี่เดือนก่อน รมว.กระทรวงแรงงาน ก็เพิ่งลงนามความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน 23 องค์กรตามโครงการรวมพลังประชารัฐ ส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ เพื่อสร้างคุณค่า สร้างหลักประกันที่มั่นคงทางรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ โดยตั้งเป้าหมายในปีนี้จะส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ รับผู้สูงอายุเข้าไปร่วมงานให้ได้ถึง 100,000 คน
แต่ดูเหมือนท่าทีและจุดยืนของฝ่ายบริหาร กทท.นั้น หาได้สอดคล้องเดินไปกับรัฐบาล ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่หน่วยงานดังกล่าวมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการตามวิถีทางที่ตนพิจารณาแล้วเป็นประโยชน์ต่อองค์กร กทท.เต็มที่ แต่ในขณะที่ การท่าเรือฯยังอยู่ระหว่างการสรรหา “คนใน” เพื่อมาเป็นพนักงานเครื่องมือทุ่นแรง (ขับรถเครน, รถยก และรถพ่วงเทรลเลอร์) และยังไม่ได้ตัวมาทำงานนั้น จะเป็นไปไม่ได้เลยหรือที่จะเปิดโอกาสให้กับพนักงานที่เพิ่งเกษียณไปก่อนหน้าได้มีโอกาสเข้ามาช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพนักงานประจำ ที่รู้กันอยู่ว่าต้อง “แบกรอบ” ในการทำงานมากขนาดไหน?
เหตุการณ์ พนักงานขับรถพ่วงเทรลเลอร์ “เลขทะเบียน X22Y” เกิดอาการ “หลับใน” กระทั่งขับรถตกแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเดือนก่อน น่าจะเป็นคำตอบที่ดีว่าปัญหาที่ว่า การท่าเรือฯ บังคับให้พวกเขาต้อง “แบกรอบ” ทำงานล่วงเวลาหรือไม่?
เพราะยังโชคดีที่พนักงานคนนั้น รอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด!
หากเหตุการณ์นี้...มีคนเสียชีวิต? ต่อให้ “ต้นสังกัด” อย่าง...การท่าเรือฯ จ่ายเงินชดเชยให้ญาติคนตายมากมายเพียงไหน? มันก็ไร้ความคุ้มค่า เพราะมิอาจจะยื้อชีวิตจากการที่ต้องทน “แบกรอบ” ในการทำงาน “ใบสั่ง” และ “นโยบาย” ของการท่าเรือฯ อย่างแน่นอน!.
เพราะงั้น หาก กทท.หรือจะหน่วยงานรัฐใด ๆ จะได้ "คิดใหม่ ทำใหม่" ลองพิจารณาข้อเสนออันเป็นประโยชน์ต่อองค์กรแถมยังสนองนโยบายพลังประชารัฐ รองรับสังคมสูงอายุไปในตัวได้พร้อมกันเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่หรือ!
โดย..แก่งหินเพิง