ผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวม 500 คนเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งพรรคหลักอย่างพรรคเพื่อไทยได้กว่า 150 คน พรรคพลังประชารัฐได้กว่า 140 คน โดยมีน้องใหม่มาแรงพรรคอนาคตใหม่ได้กว่า 80 คน พรรคภูมิใจไทยได้กว่า 50 คน แซงพรรคประชาธิปัตย์ได้กว่า 40 คน
ผลที่ออกมาแบบไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองไหน ได้เสียงมากพอที่จะตั้งรัฐบาล ตามการออกแบบจัดสรรปันส่วนผสมของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้รัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลผสม มีการต่อรองทางการเมืองกันวุ่นวายตามมา ถอยหลังไปเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
หลังจากที่ผ่านมาไทยออกแบบเงื่อนไขการเลือกตั้ง หนุนให้มีพรรคการเมืองใหญ่ขึ้นมาสองขั้วเหมือนต่างประเทศ เพื่อหวังให้การพัฒนาเจริญก้าวหน้า แต่ด้วยการสำลักอำนาจที่ล้นเหลือ ทำให้กว่าสิบปีที่ผ่านมาไทยอยู่ในช่วงทศวรรษแห่งสูญเปล่า รูปแบบการปกครองจึงวนย้อนกลับมา ออกแบบกติกาให้พรรคการเมืองยากที่จะมีเสียงข้างมากพอจัดตั้งรัฐบาล
ทั้งนี้หลังจากการเลือกตั้ง ตามกำหนดจะต้องมีการรับรองผลประมาณต้นเดือน พ.ค. และถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองตามที่มีกระแส ก็คงจะมีรัฐบาลบาลใหม่ได้ประมาณเดือน มิ.ย. หรือผ่านครึ่งปีแรกไปแล้ว นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลที่อยู่ด้วยการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าว จะเต็มไปด้วยความไร้เสถียรภาพ ไม่ต้องพูดถึงมาตรการที่เคยหาเสียงไว้ของแต่ละพรรคคงจะมาดำเนินการจริงแทบไม่ได้ รวมไปถึงมาตรการการคลัง ที่รัฐบาลใหม่ทุกครั้งเมื่อเริ่มเป็นรัฐบาลใหม่ จะต้องใช้มาตรการการคลังอัดฉีดกระตุ้นให้เร็วที่สุด แต่ด้วยเดือนมิ.ย.เป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณก่อนจะเริ่มต้นปีงบประมาณปี 2563 (ต.ค. 2562 - ก.ย. 2563) รัฐบาลใหม่ที่เริ่มเข้ามาจึงอาจไม่มีงบประมาณไปทำประชานิยมตามที่หาเสียง ส่วนมาตรการทางการเงินก็คงไปบีบธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้มาก
จากปัจจัยการเมือง ที่ฝุ่นคงตลบไปด้วยเกมต่อรองของรัฐบาลผสม ขณะที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก 4 เครื่องยนต์ ทั้ง 1. การส่งออกซึ่งมีสัดส่วนถึงกว่า 50% ของรายได้รวมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2. การบริโภคในประเทศ 3. การลงทุนเอกชน และ 4. การใช้จ่ายภาครัฐ องค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ละตัว แนวโน้มยังเป็นไปในทางชะลอตัว ยังรอความเชื่อมั่นมากกว่านี้ถึงจะเริ่มกล้าเสี่ยง
ไล่ไปตั้งแต่ การส่งออกที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของรายได้ดันให่จีดีพีเติบโต ซึ่งไทยส่งออกติดลบต่อเนื่องมาถึง 4 เดือน เพิ่งมาส่งออกเป็นบวกเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แต่จากความผันผวนของตลาดโลกที่จะสั่งสินค้าจากไทยในประเทศที่เป็นตลาดหลัก ยังเต็มไปด้วยปัญหา เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยล่าสุดจีนได้ออกมาหั่นตัวเลขการเติบโตของประเทศลง จากสงครามที่โดนสหรัฐฯ กีดกันการค้ามากขึ้น
ขณะที่สหรัฐฯ สัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ล่าสุดเดือน มี.ค. ส่งสัญญาณว่าอาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวแย่กว่าที่คาด นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากอังกฤษที่จะออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท หากเป็นการออกแบบไม่มีแผนรองรับหรือฮาร์ดเบร็กซิทผลกระทบจะรุนแรง และเชื่อว่าการส่งออกของไทยปีนี้คงจะไม่ขยายตัวตามเป้าของกระทรวงพาณิชย์แน่
หันมามองเครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่น การบริโภคในประเทศ จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ความเหลื่อมล้ำ จีดีพีที่โตเป็นการเติบโตแบบกระจุกไม่กระจาย ราคาพืชผลเกษตรที่ยังตกต่ำเป็นส่วนใหญ่ คนตกงานที่จะมากขึ้นจากเศรษฐกิจไม่โตตามคาด เพราะขนาดเศรษฐกิจของไทยหากจะรองรับแรงงานใหม่ที่เข้ามาปีละกว่า 6 แสนคนได้ต้องโตได้อย่างน้อย 4-5% ไม่นับรวมแรงงานที่โดนเลิกจ้างจากเทคโนโลยีคุกคามหรือดีสรับชั่น
เมื่อส่งออกไม่ได้ตามเป้า การบริโภคคนส่วนใหญ่ระดับกลางล่างไม่มีกำลังซื้อ การลงทุนภาคเอกชน คงไม่มีเอกชนรายไหนลงทุนขายกำลังการผลิต ที่เหลือถ้าจะให้จีดีพีโต ก็คือต้องพึ่งการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งการใช้จ่ายภาครัฐมีสัดส่วนน้อยไม่ถึง 10% ของจีดีพีคงช่วยดันไม่ได้มาก ส่วนรายได้ที่เป็นพระเอกช่วยทำให้เศรษฐกิจยังเคลื่อนไหวช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่มากถึงหนึ่งในสามของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม ก็คงช่วยได้แค่ระดับหนึ่ง
จากภาพรวมทั้งหมด แทบไม่ต้องใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์อะไรที่มากมายก็รู้แล้วว่า เรายังจะเชื่อกระทรงการคลังที่ยืนยันว่า จีดีพีปีนี้จะโตได้กว่า 4% แน่ หรือล่าสุดที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ออกมาตีปี๊บว่า จีดีพีปีนี้โต 4% ได้แน่หรือไม่ เมื่อปัจจัยการเมืองไม่เสถียร และเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงเศรษฐกิจโลกยังผันผวน จึงฟันธงได้ว่าจีดีพีไทยปีนี้โตต่ำ 4% แน่ และถ้าการเมืองป่วนกว่าที่คาด จีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัว น้อยกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาบอกล่าสุดว่าจะโต 3.8% แน่ งานนี้ไม่เกินสิ้นปีนี้ได้รู้ว่าใครแม่นกว่ากัน
โดย..คนฝั่งธนฯ