ได้มีโอกาสไปจังหวัดน่าน ไปฟังเวที แลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ “เงิน เงิน เงิน การจัดการการเงินและการลงทุนแบบชาวบ้าน” ที่จัดโดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ในวาระครบรอบปีที่ 10 ของมูลนิธิฯ
โดยหลักๆ หยิบยกประเด็นเรื่องปัญหาการเป็นหนี้ของคนไทยโดยรวม และเจาะลึกลงไปที่ภาคเหนือตอนบนมุ่งไปที่จังหวัดน่าน จังหวัดที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ทำกิน ต้องอาศัยพื้นที่ป่า ทำกินทั้งๆที่อาศัยพื้นดินน่านเป็นที่เกิด ที่แก่ ที่เจ็บ และที่ตายมาหลายชั่วอายุคน
จังหวัดน่านยังเป็นจังหวัดที่มีการปลูกข้าวพืช ที่ทำลายดินมากที่สุดเพราะเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้องใช้ปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืชอย่างมาก และที่นี่ยังเป็นแหล่งต้นน้ำน่านอีกด้วย
สิ่งที่ได้รับจากเวทีนี้ ที่มุ่งเน้นไปเรื่องประเด็นของหนี้สินครัวเรือน โดยหยิบยกเกษตรกรที่จังหวัดน่านเป็นต้นแบบ พบว่า การยิ่งเพิ่มรายได้ด้วยการเปิดพื้นที่ทำกิน มากขึ้นเท่ากับเป็นการสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรมากยิ่งขึ้น เพราะยิ่งมีรายได้ก็ยิ่งจ่ายมากขึ้น โดยไม่ได้คำนึงถึงการออมเงิน หรือการลดรายจ่ายเพื่อให้ลดหนี้ลง
ตัวเลขของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า คนไทย 1 ใน 3 คนจะเป็นคนมีหนี้ และจากคนไทย 21 ล้านคนมีหนี้กว่า 3 ล้านคนหรือ 15.9 % เป็นหนี้เสีย
หนี้ครัวเรือนของไทยปัจจุบันสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียเกือบ 80% และยังพบอีกว่า หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ท่องเที่ยว ซื้อสินค้าออนไลน์ ซื้อเสื้อผ้าฯลฯ
คนไทยอายุ 29-31 คนรุ่นใหม่ก็เป็นหนี้แล้ว และอายุเลยเกษียณก็ยังเป็นหนี้อยู่ อายุ 70-79 ปี มีหนี้เฉลี่ย 287,932 บาทต่อคน ที่คนไทยเป็นหนี้เยอะเพราะไม่มีเงินออม คนไทย 5 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 25.7 % ไม่มีเงินออมและคนที่มีเงินออมมากกว่า 1 ล้านบาท มีเพียง 1.5% เท่านั้น
ปัญหาหนี้ถ้าไม่แก้ ก็จะทำให้ประเทศเสียหาย คนจนก็จะจนกันต่อไป คนรวยก็จะรวยยิ่งขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็จะยิ่งกว้างมากขึ้น
อย่างที่บอกแล้วก่อนหน้าที่จังหวัดน่าน เกษตรกรที่จังหวัดน่านถือว่ามีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนคือเรียกว่าจนไม่มีอะไรกิน
แต่หลังจากมูลนิธิ ฯ เข้าไปเพื่อช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ต้นแบบ 10 ปีครบพอดี เกษตรกรจังหวัดน่านโดยส่วนใหญ่พ้นจากเส้นความยากจนแล้ว และเริ่มจะมีชีวิตที่ดีขึ้น
“จำเนียร ถาอิน” เกษตรกรบ้านยอดเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการปลูกข้าวโพดที่เริ่มลงมือปลูกก็เป็นหนี้ หันมาปลูกมะนาวพันธุ์ตาฮิติ ที่ให้น้ำมาก ลูกโต เพียงแค่ 3 ปีของการปลูกมะนาว มีรายได้จากการขายมะนาวได้ถึงปีละ 2 แสน จากที่ต้องติดลบจากการปลูกข้าวโพด ทำให้ชาวบ้าน บ้านยอด 96 ครัวเรือน เปลี่ยนผืนดินทำกินจากการปลูกข้าวโพดมาเป็นมะนาวทั้งหมดหมู่บ้าน 581 ไร่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แถมยังมี ห้างแมคโครรับซื้อมะนาวไปจำหน่ายอีกด้วย
“นริศรา พงศ์ประเสริฐ” เกษตรกรบ้านน้ำชี อำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีหนี้สิน 5 แสนบาท จากการเป็นสาวโรงงานในกรุงเทพ กลับบ้านและหันไปเอาดีด้วยการปลูกมัลเบอรี่ เพียงแค่ 2 ไร่ แค่ 5 ปีหนี้หมดแถมยังมีเงินเก็บ
มูลนิธิฯ พบว่า การนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ต้นแบบของจังหวัดน่านมีรายได้เพิ่มกว่าเท่าตัวและมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นถึง สองแสนไร่ชีวิตความเป็นอยู่ที่เคยแร้นแค้นก็กลับดีขึ้น จึงจะเพิ่มความสำคัญด้านส่งเสริมการบริหารจัดการ ครอบคุลมการผลิต การตลาด การบริหารและการเงินเพื่อให้ประชาชนสามารถยืนได้ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์ในอนาคต
“การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ" ผู้อำนวยการสถาบันปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เสริมว่าในปีที่ 11 สิ่งที่มูลนิธิ ฯ จะดำเนินการต่อคือนำเอาโมเดลของจังหวัดที่เป็นพื้นที่ต้นแบบของน่านและอุดรธานี ไปขยายผลให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำ การปลูกพืช ขยาบผลการจัดการความรู้ไปสู่ระบบราชการ ขยาบผลการจัดการความรู้ไปสู่สถาบันการศึกษา และขยายผลไปยังจังหวัดนครนายก กระบี่ ร้อยเอ็ด ภายใต้โครงการเครือข่ายหลุมพอเพียงอินทรีย์วิถีไทย ภายใต้มาตรฐาน Earth Safe ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการพัฒนา
สิ่งที่หวังให้เกิดขึ้นคือให้เกษตรกรของไทยหมดหนี้สินและสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นงานหนักที่ท้าทาย ตามหลักการ ”ปิดทองหลังพระ”