แม้กรณีการตีความ "เจ้าหน้าที่รัฐ" ของ “บิ๊กตู่” จะยังคงคาใจผู้คนในสังคม!
ตกลง “บิ๊กตู่ - พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถมยังพ่วงตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และประธานกรรมการอะไรต่อมิอะไรอีกร้อยแปดพันเก้านั้นเป็น “เจ้าหน้าที่หรือไม่”
เมื่อองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบต่าง ๆ ยืนยัน นั่งยัน และบางองค์กรถึงกับ “ตีลังกายัน” ว่า ยังไง “บิ๊กตู่ของเรา ก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ” แต่เป็นแค่ “องค์กรพิเศษ (เหนือความพิเศษของพิเศษ)” อีก!
ก็เป็นอันว่า ... “เอาที่สบายใจ” กันไปก็แล้วกัน!
เมื่อ “บิ๊กตู่” ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ บรรดาคำสั่งและนโยบายอะไรต่อมิอะไรที่ทำไปก็เลยจ่อ “งานเข้า” เป็นวัวพันหลัก
ไล่ดะมาตั้งแต่กรณีที่นายกฯ และหัวหน้า คสช. มีคำสั่ง ม.44 ที่ 89/2557 วันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ปลดนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรณีที่ “น้องแก้ม” เด็กหญิงวัย 13 ปี ถูกซาตานลูกจ้างรถไฟ ข่มขืนแล้วโยนร่างเปลือยเปล่าของน้องลงจากขบวนรถไฟ ซึ่ง “บิ๊กตู่” ก็จัด ม.44 สั่งปลดผู้ว่าการรถไฟฯ ในขณะนั้นเป็นประเดิม ด้วยข้ออ้าง ไม่กำกับดูแลพนักงานหรือแม้กระทั่งลูกจ้างในสายบังคับบัญชาให้ดีพอ
แต่พอเกิดกรณีอื้อฉาวอื่น ๆ ตามมา ดาบอาญาสิทธิ์ ม.44 ที่ว่าก็ถูกเก็บเข้าฝักซะงั้น กลายเป็น “ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด” ไป
ที่มันเรียกแขกให้งานเข้า ก็เพราะวันดีคืนดี วันที่ 5 กันยายน2561 “ศาลปกครอง ได้มีคำพิพากษาให้การรถไฟฯ จะต้องชดเชยกรณีให้นายประภัสร์ พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระในสัญญาจ้างเป็นเงินต้น 2,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ”
ทีนี้ก็งานเข้าเพราะเงินหลวงนั้น “ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟก็ไหม้เป็นจุล” จะไปจ่ายแทนได้ยังไง เพราะหากจ่ายออกไปก็ต้องไปไล่เบี้ยหาคนรับผิดชอบตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539 ทีนี้ก็งานเข้า เพราะรถไฟเอาเงินรถไฟไปจ่ายให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไปก็ทำได้อยู่หรอก แต่จะต้องหลบการตรวจสอบของ สตง. ให้ดีว่าจ่ายเงินออกไปได้อย่างไร ในเมื่อรถไฟฯ ไม่ได้เป็นคนก่อ แต่เป็นนายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช. ที่ “ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ”
จนป่านนี้ก็ยังเกี้ยะเซี๊ยะ เคลียร์กันไม่ลง!
นั่นยังเป็น “แค่น้ำจิ้ม” ยังมีไอ้ที่ “บิ๊กบึ้ม”กว่านั้นอีก!
เพราะยังมีควันหลงจากกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ยุติการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ด้วยข้ออ้างได้รับการร้องเรียนว่า ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
ผลพวงจากประกาศิตปิดเหมืองแร่ทองคำดังกล่าว ยังผลให้บริษัท Kingsgate Consolidated ของออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด เจ้าของเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และจังหวัดพิษณุโลก ที่ถือเป็นเหมืองแร่ทองคำใหญ่ที่สุดในไทย ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยต้องชดใช้ความเสียหายแก่บริษัทวงเงินกว่า 750 ล้านเหรียญ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท ด้วยข้ออ้างละเมิดข้อตกลงด้านการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน พร้อมประกาศยื่นข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย
เจอคมแฝกแถวทัดดอกไม้นี้เข้าก็ทำเอารัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นคนต้นเรื่องแทบไปไม่เป็น ต้องลนลานตั้งคณะทำงานขึ้นเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้บริษัทตัดสินใจยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 โดยอนุญาโตตุลาการก็ชี้ชัดมาแล้ว
อำนาจตาม ม.44 นั้น ไม่ครอบคลุมไปถึงข้อตกลงระหว่างประเทศเสียด้วย
ล่าสุด เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา คุณไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกฯ (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ก็ออกมาแย้มว่า มีพรายกระซิบว่ากรณี “ค่าโง่เหมืองแร่ทองคำคิงส์เกต” นั้น รัฐบาลไทยส่อว่าจะต้องชดเชยความเสียหายให้แก่บริษัทหลายหมื่นล้านบาท
ส่วนใครจะต้องชดเชยอย่างไร ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการและกฎหมายกันเอาเถอะโยม เล่นเอา “บิ๊กตู่” และบรรดากูรูทั้งหลายในรัฐบาล คสช. ถึงกับออกอาการสะดุ้งโหยงไปตามๆ กัน เพราะหากกรณีปิดเหมืองแร่ทองคำนี้ต้องจบลงด้วย “ค่าโง่” นับหมื่นล้านจริง
แม้รัฐบาลจะไม่สามารถจะ “ปัดความรับผิดชอบ” ให้รัฐบาลใดหรือใครอื่นได้ เพราะทั้งหลายทั้งปวง ล้วนมาจากการตัดสินใจอย่างหุนหันพลันแล่น ด้วยมั่นใจในอำนาจเบ็ดเสร็จที่ตนเองมี แต่เงินหลวงนั้น เมื่อจะต้องจ่ายออกไปก็ต้องไปล่เบี้ยตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ แบบกรณี “เรือขุดเอลลิคอตต์” มูลค่า 1,700 ล้านบาท ของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม หรือกรณีค่าโง่ ดับเพลิง กทม. มูลค่ากว่า 6,600 ล้านบาทนั่นแหล่ะ
แต่ปัญหาก็คือตัวนายกฯ ในฐานะผู้ออกคำสั่ง ม.44 จะต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่? ก็ในเมื่อใครต่อใคร ออกมานั่งยันยืนยันว่า นายกลุงตู่นั้น “ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ” แล้วกรมเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ดันไปดำเนินการตามคำสั่งของคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐกันได้อย่างไร?
เป็นความอัปยศที่มาจากการ “ขว้างงูไม่พ้อคอ” โดยแท้!!!
โดย... แก่ง หินเพิง