ลองคัดย่อ ผลสำรวจ ”สภานภาพผู้ประกอบการร้านโชห่วย” ที่สำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มาสรุปให้อ่าน พบว่า
ร้านค้าปลีกดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า “ร้านโชห่วย” มีจำนวน 395,006 ราย กระจัดกระจายไปทั่วประเทศ มีปัญหาร่วมกันคือ ถูกคู่แข่งใหม่ทั้งร้านค้าปลีกขนาดเล็ก-ใหญ่ การทำธุรกิจออนไลน์และโมเดิร์นเทรด พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ขาดประสิทธิภาพด้านการตลาด บัญชี การบริหารจัดการ ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น รายได้น้อยลง
ผลสำรวจร้านโชห่วย 1,246 ราย พบว่า 85.99% ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา และ 14.01% ในรูปแบบนิติบุคคล โดย 90.10% เป็นเจ้าของคนเดียว และส่วนใหญ่ 33.09% ทำอาชีพนี้มา 7-10 ปี มีรายได้เฉลี่ย 51,665.94 บาทต่อเดือน ซึ่ง 60.45% มีรายได้จากการเปิดร้านโชห่วยเท่านั้น โดยต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ยประมาณ 4 คน
ทั้งนี้ 31.7% จะใช้บ้าน/ทาวน์เฮาส์ทำเป็นร้าน และส่วนใหญ่ 28.59% ตั้งอยู่ในตัวเมืองจังหวัด 61.6% จะขายสินค้าจิปาถะ ส่วน 38.4% ขายสินค้าเฉพาะอย่าง ด้านแหล่งที่มาของสินค้า 41.3% จากพนักงานขาย 31.2% ซื้อจากห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต และ 27.5% ซื้อจากร้านค้าส่งขนาดใหญ่ในตัวเมือง
โดยกลุ่มตัวอย่าง 61.7% บอกว่า มีรายได้จากการขายสินค้าในร้านเท่านั้น ส่วน 38.3% มีรายได้เสริมจากบริการอื่นๆ ด้วย เช่น ตู้หยอดเหรียญ เติมเงินมือถือ รับชำระบิล ถ่ายเอกสาร/รับ-ส่งแฟกซ์ และอื่นๆ เป็นต้น ด้านการออมนั้น เฉลี่ย 7,282.66 บาทต่อเดือน ซึ่ง 59.16% ออมทุกเดือน
เมื่อสำรวจความสามารถในการแข่งขัน ทุกรายพูดว่า แข่งขันได้น้อยกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะทุนจำกัด ไม่มีการปรับตัว มีเพียง 13.12% เท่านั้นที่ปรับตัว สร้างความประทับใจให้กับลูกค้า หาบริการเสริมและมีโปรโมชั่น พร้อมกับตรวจสอบคุณภาพสินค้าอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพยายามหารายได้เสริมจากการค้าขายออนไลน์
ส่วนต้นทุนในการทำธุรกิจร้านโชห่วยนั้น มาจากค่าสินค้า ค่าเช่า ค่าบริหารจัดการ ค่าแรง ค่าขนส่ง รวมเฉลี่ยที่ 21,761.48 บาทต่อเดือน โดย 53.13% มีภาระหนี้สิน เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 462,075.86 บาท อัตราผ่อนชำระเฉลี่ย 11,681.11 บาทต่อเดือน แยกเป็นหนี้ในระบบจากสถาบันการเงิน 218,723.41 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน 37,534.81 บาท และเป็นหนี้นอกระบบจากการกู้ยืมนายทุน ญาติ พี่น้อง หรือแชร์ 347,382.00 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน 5,754.52 บาท
ทั้งนี้ ภาระหนี้ในปัจจุบันนั้น ทั้งในและนอกระบบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากเหตุผล เช่น นำไปขยายธุรกิจ ใช้เป็นทุนหมุนเวียน ซื้อสินค้า ชำระเงินกู้ ลงทุนเริ่มธุรกิจใหม่ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่บอกว่า ภาระหนี้ดังกล่าวส่งผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินธุรกิจ
เมื่อถามถึงความต้องการสินเชื่อ และการเข้าถึงสินเชื่อ ผู้ประกอบการร้านโชห่วย 38.13% ประเมินศักยภาพเข้าถึงได้มาก ซึ่งภายใน 1 ปีนี้ จำนวน 47.99% มีความต้องการสินเชื่อ และแทบทั้งหมดต้องการสินเชื่อในระบบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ ซื้อสินค้าไปขาย ปรับปรุงร้าน ขยายธุรกิจ ชำระหนี้ วงเงินเฉลี่ยที่ต้องการ คือ 182,500 บาท
โดย 57.06% บอกว่า สามารถกู้ในระบบได้ ทว่า 42.94% คิดว่า ไม่สามารถจะกู้เงินในระบบได้ เพราะสาเหตุ เช่น หลักประกันไม่พอ ไม่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางบัญชี โครงการไม่เป็นที่สนใจของธนาคาร เป็นกิจการใหม่ และไม่ผ่านการอนุมัติจากธนาคาร เป็นต้น
ด้านความต้องการให้สถาบันการเงินปรับปรุงเกี่ยวกับสินเชื่อ คือ ปรับลดดอกเบี้ย ขั้นตอนเงื่อนไขในการกู้ ระยะในการอนุมัติ หลักทรัพย์ค้ำประกัน และหากได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบ 51.69% บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากำไรที่จะเพิ่มขึ้น 31.16% บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่ากับกำไรที่จะเพิ่มขึ้น และ 17.15% บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่ากำไรที่จะเพิ่มขึ้น
ที่สำคัญพวกเขาต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ลดต้นทุนการคเทขาย พัฒนาระบบขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบ พัฒนาเทคโนโลยีและบุคคลากรให้มีความสามารถและทันสมัย พัฒนาแหล่งน้ำ และดูแลสินค้าเกษตร
ผลสำรวจที่เกิดขึ้นจึงเป็นเสียงสะท้อนของกลุ่มคนรากหญ้า ที่สำคัญ ที่ทุกรัฐบาลไม่เคยใส่ใจและหยิบยื่นโอกาสให้
มิหนำซ้ำยังเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่ม บุกรุก ความเป็นพื้นฐานของสังคมไทยจนหมดสิ้น
เมื่อไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คนเหล่านี้ก็พร้อมจะก่อหนี้สินล้นพ้นตัว ใช้เงินกู้นอกระบบ เพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอดไปวัน ๆ เท่านั้น
โดย... คนข้างนอก