ปกติเครื่องยนต์กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่เคยเป็น “พระเอก” อย่าง...ภาคการส่งออก ต่างซบเซาในช่วง 2-3 ปี กระทั่ง...เติบโตติดลบ ณ สิ้นปี 2562 มาปีนี้ แม้แนวโน้มปัญหาสงครามการค้า “สหรัฐฯ-จีน” จะดูมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ไม่แน่ว่า...ภาคการส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนขับเคลื่อนอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) มากที่สุด ยังจะเป็น “พระเอก” ได้ในปีนี้ หรือปีหน้าหรือไม่?
อีกตัวที่เคยเป็น “พระรอง” คือ การบริโภคภายในประเทศ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตกอยู่ในภาวะซบเซาไม่ต่างกัน เพราะภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่ดี รายได้ของประชาชนไม่พอกับรายจ่าย ผู้คนเลยจับจ่ายใช้สอยเฉพาะในสิ่งที่มันจำเป็นจริงๆ ภาวะการเงินที่เคยสะพัด ก็ไม่สะพัด เมื่อกำลังซื้อหดตัว การบริโภคภายในประเทศ ก็เลยต้องหดตัวไปตามๆ กัน
หันมาดู การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน หวังจะเห็นเป็น “ผู้นำ” กระตุ้นเศรษฐกิจ และฉุดตัวเลขจีดีพี ที่ปี 2562 หดตัวจากคาดการณ์เดิม 4.1% เหลือเพียง 2.5% และกระทรวงการคลัง เพิ่งจะปรับลดตัวเลขจีดีพีใหม่ของปี 2563 จากเดิมที่ 3.2% เหลือแค่ 2.8%
เอาเข้าจริง! ทั้งการลงทุนภาครัฐ ที่รัฐบาลคาดหวังจะใช้เป็น “หัวหอก” นำร่อง...ดึงดูดให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนตามกันไป ดันเกิดสะดุดจากปัญหา “เสียบบัตรแทนกัน” ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร) ส่งเรื่องการ “เสียบบัตรแทนกัน” หรือการลงคะแนนเสียงให้กัน ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญทำการวินิจฉัย
และเป็น...ศาลรัฐธรรมนูญที่รับเรื่องดังกล่าวไปวินิจฉัย ซึ่งระหว่างรอบทสรุปอย่างใจจดใจจ่อนั้น ทำให้แผนงานการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล มีอันต้องสะดุดตามไปด้วย
ที่ทำได้และรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง กำลังดำเนินการ คือ กล่อมสำนักงบประมาณ ให้ช่วยเกลี่ยเงินงบประมาณจากปีก่อน มาใช้จ่ายเป็นการชั่วคราว โดยเฉพาะจ่ายเป็นเงินเดือนของข้าราชการ รวมถึงโครงการผูกพันอื่นๆ
แต่ที่ดูจะกลายเป็น “พระเอก-ตัวใหม่” ก็คือ การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐบาลเหมารวมว่า...นี่คืออีกหนึ่งบทบาทของการลงทุนภาครัฐ แม้ว่า...รัฐวิสาหกิจบางตัวจะเป็น “บริษัทมหาชน” จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ตาม..
นั่นเพราะเม็ดเงินจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีรวมกันในปี 2563 มากกว่า 3 แสนล้านบาทนั้น แม้ไม่มากเมื่อเทียบกับงบลงทุนในปีงบประมาณ 2563 ที่รัฐบาลตั้งเป้าจะเทเงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่รวมกันเฉียดๆ 7 แสนล้านบาท
แต่ในสถานการณ์นี้ การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นสิ่งสำคัญและความจำเป็น ถึงขนาดที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ต่างพยายามเร่งรัด ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุน และการลงทุนตรง พร้อมกับ “กดดัน” ให้รัฐวิสาหกิจเดินหน้าลงทุนโครงการต่างๆ ที่วางแผนและเสนอแผนงานกันมาก่อนหน้านี้
ชนิด...ห้ามยกเลิกโครงการลงทุน แต่ถ้าจำเป็นต้องยกเลิก จะเพราะสาเหตุใดก็ตาม รัฐวิสาหกิจนั้นๆ จะต้องสร้างโครงการใหม่ขึ้นมารองรับ และขนาดโครงการจะต้องไม่เล็กกว่าโครงการเดิม
ขณะเดียวกัน รัฐบาลและกระทรวงการคลัง ก็สั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), SME D BANK, EXIM BANK ฯลฯ รวมถึงธนาคารกรุงไทย ที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่เกิน 51% และที่จะขาดไม่ได้ก็คือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าไปอุ้มชูดูแลผู้ประกอบการ SMEs อย่างเป็นระบบและเร่งด่วน!
ภาพที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เดินทางไปเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง บสย. กับ 18 สถาบันการเงิน เพื่อร่วมกันผลักดันมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” เมื่อช่วงสายวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา อาจทำให้หลายคนรู้สึกเบาใจว่า...จากนี้ไป ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม ที่มีรวมกันมากกว่า 95% ของจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ทั้งระบบทั่วประเทศมากกว่า 3 ล้านราย จะได้รับการดูแล...ทั้งจากนโยบายรัฐ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ผ่านมาตรการภาษีและสินเชื่อ
การดูแลผ่าน “คนกลางค้ำประกันสินเชื่อ” อย่าง...บสย. ที่ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. ระบุว่า มาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ 18 สถาบันการเงิน โดยจัดสรรวงเงินค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปี เป้าหมายเพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจให้เดินต่อไปได้
โดยเขาเชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้มีเงินทุนเข้าสู่ระบบราว 1.8 แสนล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการได้ 1.42 แสนราย และจะมีผู้ประกอบการ SMEs ล็อตแรกกว่า 10,000 ราย เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการที่ช่วย SMEs เสริมสภาพคล่อง เติมเงินทุนหมุนเวียน ช่วย SMEs ที่มีปัญหาผ่อนชำระหนี้ หรืออาจกำลังจะเป็นหนี้ NPL ได้ขยายระยะเวลา ได้เงินทุน ต่อลมหายใจธุรกิจ หรือ ในกลุ่มที่มีศักยภาพ สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ หรือในกิจการที่กำลังต้องการเสริมสภาพคล่อง โดย บสย.และธนาคารพันธมิตร จะช่วยให้คนกลุ่มนี้เดินหน้าได้ต่อไป
ดร.รักษ์ ย้ำอีกว่า SMEs กลุ่มที่กำลังจะถึงทางตัน ชำระล่าช้า หรือกำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ บสย. และ 18 สถาบันการเงิน จะช่วย SMEs เปลี่ยนจากการฟ้องมาเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ โดยสถาบันการเงินพร้อมให้การสนับสนุน
สำหรับการขยายระยะเวลาการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับลูกค้า บสย. ที่ใช้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะ 5-7 บสย. ได้ขยายเวลาการค้ำประกันออกไปอีก 5 ปี เพื่อให้ SMEs กลุ่มนี้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดย บสย.และธนาคารจะร่วมกันช่วยโดยการเข้าสู่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนี้ ร่วมโครงการเต็มจำนวนเป้าหมาย 28,000 ราย
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง บอกเองว่า ช่วงเช้าวันเดียวกัน เขาได้ให้การต้อนรับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เดินทางมาหารือร่วมกัน ถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงิน โดย ธปท.ได้ทำหนังสือถึงธนาคารพาณิชย์ ให้ช่วยเหลือและดูแลลูกค้า SMEs ที่อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าฯ ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมประสานและให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวคงจะคลี่คลายลงได้บ้าง
“รัฐบาลพยายามจะดูแลทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร ผู้ประกอบการ SMEs ภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภค รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าฯ และจากปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นอยู่” รมว.คลังระบุ และย้ำว่า แม้งบประมาณฯปี2563 จะมีปัญหา แต่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ก็พยายามหาทางออกและวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาให้มากที่สุด เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการ รวมถึงงบผูกพัน และงบลงทุนที่ยังไม่ถึงขั้นตอนขอบงการลงนามเซ็นสัญญา ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ โดยใช้งบประมาณของปี 2562” รมว.คลัง ระบุ
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัส โคโรน่า สายพันธุ์ 2019 จากจีนมายังไทย...มีอัตราการเพิ่มที่สูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง และสิ่งนี้...ส่งผลกระทบตามมาค่อนข้างรุนแรง
หนึ่ง...นักท่องเที่ยวชาติอื่น ไม่อยากเดินทางมาไทย ไม่ใช่เพราะปัญหา “เงินบาทแข็งค่า” จนทำให้ค่าใช้จ่ายระหว่างอยู่ในประเทศไทยสูงขึ้นเท่านั้น แต่เพราะไทยเป็นแหล่งระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า สูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากจีน เพราะไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุดในโลก
อีกหนึ่ง...ทางการจีน ออกคำสั่งห้ามคนจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งนั่น...ย่อมกระทบภาคการท่องเที่ยว ที่ถือเป็นอีกหนึ่ง “พระเอก” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่จากนี้...มันจะไม่เป็นเช่นอีกแล้ว อย่างน้อยก็ในปี 2563 นี้
“สำนักข่าวเนตรทิพย์” ขอชี้ประเด็นให้เห็นชัดว่า...สถานการณ์เศรษฐกิจไทยยามนี้ ทุกเครื่องจักรและกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสะดุดทุกตัว... ไม่ว่าจะเป็น ภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐ-เอกชน
แล้วอย่างนี้...คนไทยยังจะคาดหวังกับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ได้อย่างไร?