สัปดาห์นี้การเมือง การจัดตั้งรัฐบาล ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อขับไล่ กกต. คงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลลุงตู่เพิ่งจะมะรุมมะตุ้มไล่แก้ปัญหามลพิษ PM 2.5 ในภาคเหนือ ที่ทำลายสถิติในโลกไปเรียบร้อยแล้ว และไม่เคยมีการวางแผนแก้ปัญหาระยะยาวกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน อ้างเหตุประเทศเพื่อนบ้าน จุดไฟเผาตอซังข้าวโพด จุดไฟเผาป่า ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง
แม้ประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านรอยต่อ ไม่ว่าจะเป็นพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย สปป.ลาว และกัมพูชา ได้ตั้งโต๊ะแก้ปัญหากันหลายครั้ง แต่ในทางปฎิบัติไม่เคยเห็นอย่างจริงจัง จนทำให้คนในภาคเหนือ มีปัญหาโรคระบบลมหายใจ กันอย่างรักษาไม่หาย เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นทุกปี
วันที่ 2 เมษายนนี้ ลุงตู่ เดินทางไปภาคเหนือ เพื่อบัญชาการแก้ปัญหา แต่เชื่อเหอะ ไม่มีทางแก้ได้เหมือนกับที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เคยเจอ มีปัญหาทีแก้ไขกันที รัฐบาลทุกยุคไม่เคยวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว
ก็เหมือนกรณี ของบริษัท คิงส์เกตฯ ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ที่ลุงตู่ อาศัย ม.44 ปิดกิจการโดยอ้างว่า มีการซึมเปื้อนของสารพิษที่ออกมาจากการทำเหมืองทอง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบได้รับสารพิษสะสม
กลายเป็นเรื่องลากยาวให้กับลุงตู่ เพราะคิงส์เกต ไม่ใช่บริษัทเล็กๆ ในออสเตรเลีย การปิดเหมืองที่ยังไม่มีผลการพิสูจน์ที่เพียงพอ ถูกลากโดยกระแสสื่อโซเชียล ผูกเรื่องราวให้เป็นชนักปักหลังลุงตู่
กรณีการตีความของ กกต. ที่ชี้ว่า การขึ้นเวทีเพื่อปราศรัยทางการเมืองของลุงตู่ ในฐานะประธาน คสช. ไม่ได้เป็นข้าราชการ จึงขึ้นเวทีได้ ก็เหมือนกรณีข้อพิพาทของคิงส์เกต ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกข่าวในช่วงสุดสัปดาห์
โดยยืนยันว่า การที่คิงส์เกตอ้างว่าได้รับสินไหมทดแทนจากการประกันความเสี่ยงทางการเมืองและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศกรณีข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกต ไม่จริง โดยอ้างรายงานผลการศึกษาโครงการล่าสุด
“การสำรวจตรวจสอบโอกาสการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ของเหมืองทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จังหวัดพิจิตร” ซึ่งมี ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะเป็นผู้ศึกษาโครงการ มีข้อบ่งชี้ว่า พบความผิดปกติทางความต้านทานไฟฟ้าแสดงถึงการรั่วไหลของน้ำเหมืองจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1และพบความผิดปกติของธรณีเคมีร่วมกับไอโซโทป
โดยระบุว่า มีร่องรอยการไหลของน้ำเหมืองจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ไปถึงบ่อสังเกตการณ์และบริเวณนาข้าวตามที่มีการร้องเรียนจากชาวบ้าน ส่วนประเด็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันนั้นเป็นเรื่องของความตกลงระหว่างบริษัท คิงส์เกต กับบริษัทประกัน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องและไม่มีผลต่อแนวทางการต่อสู้และรูปคดีของฝ่ายไทยในชั้นอนุญาโตตุลาการ
ขณะนี้คณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ขณะนี้คณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด โดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและที่ปรึกษากฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสากลอยู่ระหว่างการต่อสู้และการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยยังไม่มีการตัดสินชี้ขาด และยังพร้อมสู้คดีต่อไปจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด
คล้อยหลังวันเดียว คิงส์เกต ได้ออกข่าวสวนทันควัน “คิงส์เกตบรรลุข้อตกลงระงับข้อพิพาทในกรณีกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทางการเมืองด้วยเงินชดเชยมูลค่ากว่า 82 ล้านเหรียญออสเตรเลีย”
และเป็นคนละกรณีกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทย-ออสเตรเลีย หรือ (TAFTA)
โดยชี้แจงว่าการบรรลุข้อตกลงระงับข้อพิพาทในกรณีกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทางการเมืองในครั้งนี้ ไม่ใช่กรณีเดียวกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ดังนั้น กระบวนการอนุญาโตฯ ดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อไปเช่นเดิม เงินค่าชดเชยที่เกิดขึ้นทำให้ คิงส์เกต มีเงิน 82 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือประมาณ 1,840 พันล้านบาท เพียงพอในการดำเนินการกระบวนการอนุญาโตฯ จนจบ ซึ่งบริษัทผู้รับประกันภัยยังมีข้อตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อดำเนินคดีรัฐบาลไทยภายใต้คำร้อง TAFTA จนกว่าจะถึงที่สุดด้วย
บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด เป็นผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทางการเมือง (Political Risk Insurance Policy) ในช่วงที่รัฐบาลของประเทศไทยออกคำสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรีโดยมิชอบด้วยกฎหมายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 (“คำร้อง TAFTA”) ซึ่งเบื้องต้นครอบคลุมเงินชดเชยรวมเป็นมูลค่ากว่า 82 ล้านเหรียญออสเตรเลีย
การถือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทางการเมืองดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนปฏิบัติโดยปกติของการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับเหมืองแร่ทองคำชาตรี คิงส์เกตย้ำว่า การสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรีในเดือนธันวาคม ปี 2559 นั้นเป็นการกระทำโดยมิชอบและปราศจากความยุติธรรมเนื่องจากไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลใดๆ เลย ระบุว่าเหมืองฯ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบตามที่ถูกกล่าวอ้าง ในทางตรงกันข้ามบริษัท ที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบเหมืองระดับโลกอย่าง บริษัท บริษัท แบร์ โดแบร์อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (Bhere Dolbear International Limited) ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้เป็นผู้พิจารณาเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินผลอย่างละเอียดกลับมีรายงานผลการตรวจสอบพบว่าเหมืองแร่ทองคำชาตรีมีการดำเนินงานที่ได้มาตรฐานสากลในทุกๆ ด้าน
มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในทุกขั้นตอนทำให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม เทียบเท่าเหมืองแร่ชั้นนำทั่วโลกไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแต่อย่างใด
คิงส์เกต ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลากรภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)แล้วในเดือนพฤศจิกายน 2560 และได้ดำเนินการส่งเอกสารต่างๆ เพื่อสนับสนุนคำร้องของบริษัทฯ มาตลอดอย่างต่อเนื่องและจะยังคงดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ต่อไป บริษัทฯต้องขออภัยที่ไม่สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการอนุญาโตฯ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ได้เนื่องจากทางรัฐบาลไทยได้ขอความร่วมมือจากบริษัทฯมิให้เผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดการอนุญาโตฯ ใดๆ ทั้งสิ้นแก่สาธารณชน อย่างไรก็ตามหากยังไม่มีมติใดๆ ออกมา ก็จะมีการพิจารณาอนุญาโตฯ อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ (2562) และอยากเห็นเรื่องนี้จบลงโดยเร็ว
ปัจจุบัน แม้เหมืองแร่ทองคำชาตรีได้เข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า Care and Maintenance หรือกระบวนการบำรุงรักษา โดยไม่ได้มีการดำเนินกิจกรรมทำเหมืองแร่ใดๆ ทั้งสิ้น แต่บริษัทฯ ได้ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ไปพร้อมกับการทำเหมืองตามกฎหมายอยู่เสมอแม้ในขณะนี้ก็ยังมีการดำเนินการฟื้นฟูอยู่บางส่วนด้วยความรับผิดชอบ
นอกจากนั้น ชาวอัครา ที่เหลืออยู่เพียง 25 ชีวิตในขณะนี้ จากจำนวนกว่า 1,000 คน ช่วงเปิดดำเนินการ ก็ยังคงเดินหน้าช่วนเหลือชุมชนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใหญ่หรือเล็กยังคงมุ่งมั่นในการเข้าไปร่วมช่วยเหลือเสมอ ตามปณิธานของบริษัทฯ เหมืองคือบ้านหลังใหญ่และบริษัทฯ คือสมาชิกในบ้าน ในชุมชน เช่นกัน
ขอเอาใจช่วยลุงตู่ ว่าจะกลับมาแก้ปัญหานี้ได้จนจบ เพราะดู ๆ ไปแล้ว กรณีคิงส์เกต มีความเหมือนและคล้ายกับ กรณีค่าโง่ทางด่วน ที่ กทพ. อาศัยเสียงของสหภาพ กทพ. ออกมาคัดค้านเพื่อไม่เสียเงินให้กับเอกชนผู้ได้รับสัมปทาน แม้คณะอนุญาโตตุลาการ จะตัดสินแล้วว่า ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ก็ตาม
ลากกันไปยาวนาน เท่าไหร่ ก็ต้องเสียค่าโง่อยู่ดี งานนี้ลุงตู่และทีมงาน น่าจะวิเคราะห์ผลดีผลเสียให้หนักหน่วงมากกว่านี้ มากกว่ากลัวประชาชนจะไม่รัก เพราะยังไงก็ตามประชาชนก็ไม่รักลุงตู่นานแน่นอน
โดย..คนข้างนอก