มโหฬีปี่กลองทางการเมืองที่กำลังเชิดฉิ่ง รัวกลองกันระรัว ทำเอาบรรยากาศทางการเมืองจ่อระอุแดด สวนกระแสลมหนาวที่กำลังทำเอาผู้คนยะเยือกไปกับ “ศึกซักฟอก-อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล” ที่พลพรรคฝ่ายค้าน (และฝ่ายแค้น) จองกฐินขออภิปรายไม่ไว้วางใจ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ พร้อม 5 รัฐมนตรีร่วมคณะ
โดยพุ่งเป้าไปที่ตัวพลเอกประยุทธ์ เป็นหลัก โดยนัยว่า ขอจองกฐินซักฟอกตัวนายกฯ คนเดียวถึง 2 วัน 2 คืนกันเลยทีเดียว ทั้งในเรื่องของการบริหารงานบริหารเศรษฐกิจที่ “ล้มเหลว” เศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลป่าวประกาศว่าดีวันดีคืน แต่ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะในระดับรากหญ้ากำลัง “ตายทั้งเป็น”
รวมไปถึงควันหลงจากความพยายามไล่ “เช็คบิล” ม.44 ที่ถือเป็นมรดกบาป คสช. ในครั้งก่อน ที่รัฐบาล “แพ้แล้วขอโหวตใหม่” นั้น ก็คาดว่าพรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และประธานกรรมาธิการกฎหมาย สภาผู้แทนฯ คงจะนำประเด็นนี้กลับมา “ยำใหญ่” อดีตหัวหน้า คสช. มันหยดแน่!
พูดถึง ม.44 มรดกบาป คสช. แล้วก็ให้นึกถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 79/2557 ที่ปลดนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เซ่นคดีสะเทือนขวัญที่ลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานรถไฟข่มขืนและฆ่าเด็กหญิงคนหนึ่ง แม้ตัวผู้ว่าการรถไฟฯ จะแสดงความรับผิดชอบเยียวยาญาติเหยื่อผู้เสียหายอย่างถึงที่สุด แต่หัวหน้า คสช. ก็มีคำสั่งปลดกลางอากาศผู้ว่าการรถไฟฯ ด้วยวลีเด็ดต้องรับผิดชอบจากการที่ไม่สามารถดูแลผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้
แต่พอเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ห้างเทอร์มินัล 21 ที่โคราช ที่ยังความสูญเสียและโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์ กลับไม่เห็นความรับผิดชอบใดๆ ออกมา!
อีกควันหลงของคำสั่ง ม.44 ที่สังคมยังคลางแคลงใจ ก็คือ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2562 ลงวันที่ 24 เมษา 2561 เมื่อเกือบ 2 ปีมาแล้ว ที่สั่งล้มกระบวนการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.หน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระที่เพิ่งจะเรียกสื่อมวลชน ทีวีช่องต่างๆ เข้าไปจัดระเบียบการไลฟ์สดเหตุการณ์กราดยิง โดยให้ กสทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเวลานั้นทำหน้าที่ต่อไป พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สำนักงาน กสทช.) ไปพิจารณาประเด็นการตีความกฎหมาย การถือหุ้นหรือหุ้นส่วนที่ยังมีความอึมครึม ก่อนจะเดินหน้ากระบวนการสรรหาใหม่
แต่จนกระทั่งวันนี้ กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ เส้นทาง ”การสรรหา กสทช.ชุดใหม่” ที่ต้องขับเคลื่อนกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่สุดของระบบเศรษฐกิจวันนี้ ยังคงอยู่ภายใต้ กสทช.รักษาการ (จนรากงอก) โดยไม่มีทีท่าว่าสำนักงานเลขาธิการ วุฒิสภา และ กสทช. จะริเริ่มกระบวนการสรรหา กสทช.ใหม่ กันได้เมื่อใด
จะอ้างว่าผลของคำสั่ง ม.44 ยังคงมีอยู่สำนักงานเลขาธิการ วุฒิสภา จำเป็นต้องเคารพก็ไม่รู้จะต้องเคารพกันไปชั่วลูกชั่วหลานเลยหรือไม่ จะอ้างต้องรอร่างแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. ใหม่ ที่ว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติ กสทช. และกระบวนการสรรหา ที่มีการนำไปปรับปรุงแก้ไขกันใหม่ ที่วันนี้เพิ่งจะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนในวาระแรกไปเท่านั้น ยังไม่รู้ว่าจะต้องโม่แป้งแก้ไขกันในชั้นกรรมาธิการ และวาระ 2-3 กันอีกมากน้อยเพียงใด
เกิดนายกฯ ตู่ ฟิวขาด เพราะทนรับแรงกดดันจากศึกซักฟอกไม่ได้จนประกาศยุบสภาขึ้นมา ก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอไปถึงชาติหน้าตอนบ่าย ๆ กันเลยหรืออย่างไร
จากคำสั่งหัวหน้า คสช. อันเป็นมรดกบาปในครั้งนั้น ทำให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระแห่งนี้ แทบไม่เคยถูกตรวจสอบใดๆ มีการใช้ (ถลุง) งบกันอย่างอีลุ่ยฉุยแฉก
อย่างการแจกคูปองดิจิทัลทีวีที่ถลุงงบไปกว่า 15,000 ล้านนั้น ได้ผลแค่ไหน ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดี ความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลทีวีที่ กสทช. แจกไลเซ่นส์ออกไปเป็นกุรุด 24 ช่องนั้น สุดท้ายกลับ “ตายเป็นเบือ” ภายในระยะ 2 ปี กระทั่งวันนี้ ก็ยังพะงาบๆ ไม่รู้จะตัองปิดและคืนใบอนุญาตกันอีกกี่ช่อง
ที่มองเห็นเป็นรูปธรรมของ 3 ล้อถูกหวย ก็เห็นจะเป็นการใช้ (ถลุง) งบกองทุน USO หรือ “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ที่มีวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้แทบจะครอบจักรวาล
จึงมีกระแสข่าวกองทุนไฟเขียวงบ 3,000 ล้าน ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติผุดศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ 191 เบอร์เดียวทั่วไทย ที่ป่านนี้คนไทยจะรู้หรือไม่โทร 191 ที่บอกโทรไม่ติด สายไม่ว่าง อะไรนั้น ได้งบมาจากไหน ?
อีกโครงการที่อื้อฉาวไม่แพ้กันก็คือ “เน็ตชายขอบ” หรือโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (ยูโซ่เน็ต) ในพื้นที่ชายขอบ (โซน C+) เฟสแรก 3,920 หมู่บ้าน วงเงิน 13,614.62 ล้านบาท ที่ กสทช. เปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการใน 5 พื้นที่ (โซน) รวม 10 สัญญา โดย 1 ในนั้นมีบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่มารับจ๊อบติดตั้งไป 3 สัญญาวงเงินกว่า 6,486.39 ล้านบาท แต่ผลงานกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า
แม้จะขยายสัญญาติดตั้งไปร่วมปีแต่ก็ไม่สามารถส่งมอบงานได้ จนท้ายที่สุด กสทช. ต้องมีหนังสือบอกเลิกสัญญา พร้อมสั่งปรับทีโอที 800 ล้าน กับขึ้นบัญชีดำแบล็กลิสต์ห้ามประมูลงานรัฐอีก เพราะผลพวงจากการติดตั้งเนตชายขอบที่ล้มเหลวของทีโอที ทำให้โครงการเน็ตชายขอบที่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 3,920 หมู่บ้าน 2.1 ล้านครัวเรือน มีประชาชนในพื้นที่บริการกว่า 6.3 ล้านคน ไม่สามารถใช้งานได้ตามเป้าหมาย โดยมีผู้เสียโอกาสไปกว่า 6 แสนครัวเรือน จำนวน 2.1 ล้านคน และทำให้เน็ตยูโซ่หรือเน็ตประชารัฐตามเป้าหมายรัฐบาลไปไม่ถึงฝั่ง
แม้โครงการเน็ตชายขอบ หรือยูโซ่เน็ต ของ กสทช. จะเป็นโครงการที่สนองตอบนโยบายรัฐบาลให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ได้เข้าถึงบริการโทรคมนาคมและอินเตอร์เน็ตไวไฟ แต่ล่าสุด รมต. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่สั่งให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประมูลคลื่น 5จี ด้วยหวังจะนำไปให้บริการในเชิงสังคมในพื้นที่ห่างไกลและชนบท เป็นโครงการ 5จีประชารัฐ
จนก่อให้เกิดคำถามตามมา เหตุใด กสทช. ที่เพิ่งจะบอกว่ามีหนังสือเลิกสัญญากับบริษัททีโอทีไปและสั่งขึ้นบัญชีดำไปแล้ว กลับไฟเขียวให้บริษัททีโอที ฉลุยเข้ามาประมูลคลื่น 5จี ไปทำโครงการที่ซ้ำซ้อนกับเน็ตยูโซ่ ได้หน้าตาเฉย
หรือทั้งหมดเป็นเพราะผลพวงจาก ม.44 อันเป็นมรดกบาปของ คสช.หรือไม่ จึงทำให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระแห่งนี้ มุ่งสนองตอบนโยบายการเมืองหรือไม่?
โดย...แก่งหินเพิง