ยังคงเป็นทอล์ก ออฟเดอะทาวน์..
กับความสำเร็จของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการจัดประมูลคลื่นความถี่ 5จี ไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่สามารถประมูล 3 คลื่นหลัก คือ 700 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz), 2600 MHz และ 26 กิกะเฮิร์ตซ (GHz) ออกไปได้ถึง 48 ชุดจาก 49 ชุดที่นำออกประมูล
สร้างเม็ดเงินรายได้เข้ารัฐกว่า 100,521 ล้านบาท ถือเป็นการลบคำสบประมาทก่อนหน้าที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลจนประมูลออกไปได้สักกี่มากน้อย หลังบริษัทสื่อสารน้อย-ใหญ่แสดงท่าทีอิดออดไม่อยากเข้าร่วมประมูล บ้างก็เสนอให้เลื่อนออกไป่ก่อน เพื่อรอให้ กสทช.เคลียร์หน้าเสื่อคลื่น 2600 MHz และ 3500 MHz ให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยจัดประมูลไปพร้อมในช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้า
แต่ กสทช.ก็ “ยืนกระต่ายขาเดียว” ต้องเร่งโมแป้งจัดประมูลไปตามกำหนดเดิม ด้วยหวังจะให้ประเทศไทยเปิดบริการ 5 จีในเชิงพาณิชย์เป็นประเทศแรกในในภูมิภาคนี้ ซึ่งผลการประมูลที่ได้ไม่ได้สร้างความผิดหวังเพราะไม่เพียงจะกวาดเม็ดเงินรายได้เข้าคลังได้ทะลุแสนล้าน เผลอๆ 5 จีพี่ไทยจะปาดหน้าให้บริการเชิงพาณิชย์แซงจีน-และญี่ปุ่นไปด้วยซ้ำ!
แม้ผลงานชิ้นโบแดงของ กสทช. ครั้งนี้ จะทำเอา กสทช. หน้าบานเป็นจานกระด้ง แต่สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ “แคท” ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ส่งเข้าร่วมประมูลด้วย และสามารถคว้าคลื่น 5จี ติดไม้ติดมือกลับมาตามเป้าหมายนั้น
สำหรับผู้คนในวงการโทรคมนาคมแล้ว ต่างกำลังมองว่า คลื่น 5จี ที่ 2 หน่วยงานประมูลได้ไปครองสมใจอยากนั้น อาจไม่ได้ทำให้ศักยภาพของสองรัฐวิสาหกิจได้ลืมตาอ้าปาก หรือผงาดขึ้นมาเป็นธุรกิจโทรคมนาคมชั้นแถวหน้าอะไร ตรงกันข้ามอาจไม่ต่างไปจาก “ไก่ได้พลอย วานรได้แก้ว” ไปเสียด้วยซ้ำ หรือเป็นดาบ 2 คมที่ทำให้สองหน่วยงานที่กำลังอยู่ในกระบวนการควบรวมกิจการต้องแบกภาระการถือครองคลื่นเกินความจำเป็น
เพราะในปัจจุบันทั้งทีโอที และแคท เทเลคอม ที่กำลังอยู่ในกระบวนการควบรวมกิจการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ซึ่งผลพวงจากการควบรวมกิจการจะทำให้ NT มีคลื่นในมือไม่น้อยกว่า 3 คลื่น คือ คลื่น 2100, 2300 จากมือทีโอที และคลื่น 850 MHz จากแคท เทเลคอม ที่สามารถจะให้บริการไปจนถึงปี 2568 อยู่แล้ว โดยไม่มีความจำเป็นจะต้องไปสะสมคลื่นใหม่ให้เป็นภาระอีก
“ขนาดคลื่นที่มีอยู่ในมือเวลานี้ทั้งคลื่น 2100 MHz , 2300 MHz ในมือทีโอที และคลื่น 850 MHz ในมือแคท ที่ล้วนได้มาเปล่าๆ ปรี้ๆ ไม่ต้องไปประมูลแข่งกับใครเขา ก็ยังไม่สามารถเอาไปทำมาหากินให้เป็นชิ้นเป็นอันได้ ต้องอาศัยการ “เซ็งลี้” ให้บริษัทสื่อสารเอกชนเช่าใช้ หรือโรมมิ่งคอยเก็บค่าต๋งกินไปวันๆ”
นี่นอกจากจะต้องควักเม็ดเงินกันเป็นหมื่นล้าน อย่างแคทที่ได้คลื่น 700 ไป 2 ชุด ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมประมูล (อัฐยายซื้อขนมยาย) 34,300 กว่าล้านบาท ส่วนทีโอทีไม่เท่าไหร่พันกว่าล้านบาทนั้น ค่าธรรมเนียมส่วนนี้แม้จะต้องทยอยจ่ายเป็น 10 ปี แต่ยังต้องมีเงินลงทุนอีกนับหมื่นล้านบาทตามมา ซึ่งลำพังแค่จะต้องไปสู้รบปรบมือกับบริษัทสื่อสารทั้ง 3 ค่ายก็เรียกได้ว่า “หืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง” อยู่แล้ว
แต่เหนือสิ่งอื่นใด เป้าหมายของ รมต. ”บี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ที่ให้สองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจลุยกำถั่วประมูลคลื่น 5จีออกมาให้ได้นั้น ก็แค่ยังหวังจะเอาคลื่นที่ได้ไปให้บริการเชิงสังคม ให้บริการสาธารณะเป็นหลัก ซึ่งจุดนั้นเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายชัดๆ อย่างที่ “เนตรทิพย์” เคยคัดง้างมาโดยตลอด..
สุดท้ายก็คงมาตอดเอาเงินจากกองทุนยูโซ่ USO ที่เรียกเก็บจากบริษัทเอกชนนั่นแหล่ะไปชดเชยอยู่ดี ทั้งที่กองทุนยูโซ่เองก็ทำหน้าที่ให้บริการเชิงสังคม ทดแทนในส่วนที่บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมโดยทั่วไปไม่ทำอยู่แล้ว
แต่เมื่อ 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจดอดเข้ามาประมูลเอาคลื่น 5จี 700 MHz และ 26 GHz เข้ามากอดเอาไว้อีก ทำให้ NT Telecom ต้องแบกคลื่นเอาไว้เต็มมือ โดยที่ไม่มีใครบอกได้ว่าหากจะเอาไปลงทุนทำระบบ 5จี แข่งกับชาวบ้านร้านรวงเขาจะไปได้สักกี่น้ำ จะลากสังขารอะไรไปสู้กับเอกชนเขา หรือหากจะเบนไปทำ 5 จีประชารัฐแข่งกองทุนยูโซ่ของ กสทช.ที่เขาทำอยู่แล้ว ก็จะก่อให้เกิดคำถามอีกว่า จะไปลงทุนซ้ำซ้อนอะไรกับเขาอีก ลงไปแล้วจะแสวงหารายได้ที่ไหนมาจ่ายค่าคลื่น ค่าลงทุนมันถึงจะคุ้ม
จะบอกว่าเป็นการเตรียมตัวไว้รองรับหลังควบรวม และรองรับคลื่นเดิมที่จะสิ้นสุดระยะเวลาถือครองในปี 2568 หรือ 5 ปีจากนี้ ก็ต้องย้อนถามกลับไปว่า แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าถึงเวลานั้นแล้วเทคโนโลยี 5จีนี้ จะยังโลดแล่นอยู่บนคลื่นที่ตัวเองมีอยู่ อย่าลืมว่าเวลานี้ผู้ผลิตเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังดิ้นแข่งขันกันเอาเป็นเอาตาย เริ่มมีการปล่อยเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนมือถือหรือสมาร์ทโฟนอะไรนี่แล้ว
“อย่าง “อีลอน มัสก์” ที่มีแผนจะให้บริการดาวเทียม SpaceX 4,000 ดวง เพื่อให้บริการฟรีไวไฟครอบคลุมไปทั้งโลกหรือ YouTube FB Google เองก็แข่งกันให้บริการแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ๆ ที่แทบจะเป็นของฟรีกันทั้งโลกแล้ว คลื่นที่สองหน่วยงานถือครองอยู่อาจจะกลายเป็นขยะหรือก้อนกินที่ต้องแบกกันตายไปข้างในอนาคตอันใกล้ “
สิ่งที่สองรัฐวิสาหกิจและดีอีเอสควรดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ไม่เพียงแต่ในเรื่องของการเร่งแผนควบรวมกิจการ ที่ทำยังไงจะไม่ล้มเหลวไปอีก เพราะเอาแค่ชื่อจัดตั้งบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT)จะเป็นบริษัทมหาชนหรือจำกัดยังยักแย่ยักยันกันมาจนวันนี้ ยังจะต้องหาเวทียืนให้กับตัวเอง อะไรจะเป็นธุรกิจหลักเป็น Core business ที่ตนเองถนัดและยังพอจะทำมาหากินในระยะยาวต่อไป ทั้งในส่วนของ บริษัททีโอที และ กสท โทรคมนาคม หรือ บริษัท NT แห่งชาติอะไรที่ว่า(หากตั้งได้สำเร็จ)
เพราะอย่างที่ทุกฝ่ายรู้แก่ใจกันดี เมื่อ 5จี เปิดให้บริการอย่างเค็มรูปแบบ มันไม่ใช่แค่มือถือธรรมดาๆ หรือสมาร์ทโฟนอย่างที่เราคุ้นเคยกันอีก แต่มันจะเข้ามาแทนที่คน แทนที่ระบบต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยอยู่ จนถึงขนาดที่ผู้คนคาดการณ์กันว่าต่อให้เป็นแบงก์ สาขาแบงก์ โมเดิร์นเทรด หรือห้างสรรพสินค้าก็อาจสูญพันธุ์หายวับไปกับตา
แล้วสองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ทั้งใหญ่ เทอะทะ อุ้ยอ้าย หวังจะหากินอยู่กับ 5จีประชารัฐนั้นจะเหลืออะไร? !!!
โดย...แก่งหินเพิง