ผิดไปจากที่ ”แก่ง หินเพิง” ฟันธงไว้ซะที่ไหน!
เรื่องการประมูลให้สิทธิ์สัมปทานร้านปลอดภาษี หรือ Duty free ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่ก่อนหน้ามีความพยายามจะ ”มัดตราสัง” ให้เอกชนรายเดียว “กินรวบ” ทั้ง 4 สนามบินรวด
แต่หลังจากทนแรงเสียดทานของสังคมไม่ไหว แถมนายกฯ ตู่ ยังออกมาปรามสั่งให้ ทอท.ทบทวนเงื่อนไขการประมูลที่ว่าด้วยอีก
สุดท้าย ทอท. จึงยอมคายอ้อยจากปากช้าง แยกประมูลดิวตี้ฟรี ในสนามบินออกกเป็น 2 สัญญา คือ ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) 1 ราย และท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่ง (เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต) อีก 1 สัญญา
แต่ก็อย่างที่ “แก่ง หินเพิง” ฟันธงไปก่อนหน้า ลองบิ๊ก ทอท. ดาหน้าออกมายืนยัน นั่งยันต้องเดินหน้าจัดประมูลโครงการนี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนศกนี้ ราวกับ “ตั้งธง” กันเอาไว้ล่วงหน้าชนิด “เปิดถ้วยแทง” และแม้เครือข่ายองค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่น (แห่งประเทศไทย) จะออกโรงเรียกร้องให้นำเอาโครงการนี้เข้าไปดำเนินการภายใต้ “ข้อตกลงคุณธรรม” อันเป็นสิ่งที่คน ทอท. พร่ำบอกว่า ยึดมั่นมาโดยตลอด แต่ฝ่ายบริหาร ทอท. กลับดิ้นเหมือนถูกน้ำร้อนลวก ชี้แจงออกน้ำออกทะเลไปไหนต่อไหนก็ไม่รู้
แล้วแบบนี้จะไม่ให้ผู้คนในสังคม "กังขา"กันได้อย่างไร?
และแล้วสิ่งที่ผู้คนในสังคม “กังขา” มาตลอดก็โผล่หางออกมา เมื่อ นายวรวุฒิ อุ่นใจ นายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ออกมาเปิดเผยข้อมูลอันน่าตกใจในเงื่อนไขทีโออาร์การประมูลดิวตี้ฟรีของ ทอท. ครั้งนี้ มีรายการหมกเม็ดเงื่อนไขการพิจารณาเอาไว้สุดลิ่ม ประเภทต่อให้เสนอผลตอบแทนแก่รัฐเป็นแสนล้านก็ไร้ค่า เพราะ ทอท. ตั้งเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคเอาไว้ถึง 80% ให้น้ำหนักข้อเสนอด้านผลตอบแทนแก่รัฐแค่ 20% เท่านั้น
โดยข้อเสนอด้านเทคนิคที่ว่านั้นก็เป็นไปดั่งที่ “แก่ง หินเพิง” ทิ้งปริศนาเอาไว้ก่อนหน้าว่าจะต้องมีรายการหมกเม็ดเอาไว้แน่ โดยเฉพาะการกำหนดเกณฑ์เงื่อนไขในเรื่องคุณสมบัติของบริษัทเอกชนที่จะเข้าประมูลจะต้องมีประสบการณ์ บริหารร้านปลอดภาษีในระดับ 10,000 ล้าน หรือ 20,000 ล้าน บทถนัดที่หน่วยงานรัฐมักหมกเม็ดเอาไว้ เตะสกัดคู่แข่งนั้น ก็มีจริง ๆ
โดยรายละเอียดข้อเสนอด้านเทคนิคที่กำหนดไว้นั้นครอบคลุมไปถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเชิงธุรกิจของผู้ยื่นข้อเสนอ โครงสร้างองค์กรและแผนพัฒนาบุคลากร งบการเงิน กำไร ขาดทุน แผนการดำเนินงาน การออกแบบตกแต่งสถานที่ แผนการจัดบริหารสินค้าปลอดอากร แผนธุรกิจรวมไปถึงแผนการตลาด ขณะที่ข้อเสนอผลตอบแทนขั้นต่ำหรือ Minimum Guarantee นั้นให้น้ำหนักในการพิจารณาเอาไว้แค่ 20% เท่านั้น
เรียกได้ว่าต่อให้เสนอผลตอบแทนแก่ ทอท.เป็นแสนล้าน 30-40% ของรายได้ ก็ใช่ว่าจะชนะการประมูล เพราะ ทอท. ไม่ได้ให้น้ำหนักกับเงื่อนไขทางการเงิน แต่ต้องการผู้ประกอบการที่มีคุณภาพในสายตา ทอท. เท่านั้น เผลอๆ รายที่เสนอผลตอบแทนแก่รัฐ 30-40% อาจจะถูกตีตกด้วยข้ออ้างเป็นข้อเสนอที่ Impossible ทำเป็นเล่นไป
ล่าสุด “วรวุฒิ อุ่นใจ” นายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ออกมาโพสต์ FB ถึงเรื่องประมูลดิวตี้ฟรีอีกครั้ง โดยระบุว่า จะประมูลให้สัมปทานรายเดียวหรือกี่รายก็ตาม แต่ผลตอบแทนที่ผู้ประมูลได้ ควรจะให้ประเทศต้องไม่น้อยกว่า 30% ยิ่งอายุสัมปทานยาวนาน 10 ปีแบบนี้ ควรจะให้รัฐไม่น้อยกว่า 35% ด้วยซ้ำ
“อย่าลืมว่าประเทศไทย เป็นประเทศท่องเที่ยวอันดับ 4 ของโลก มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการสนามบินมากกว่า 60 ล้านคนต่อปี อีก 10 ปีข้างหน้า น่าจะมีนักท่องเที่ยวเกิน 100 ล้านคนด้วยซ้ำ ถ้าเป็นรัฐบาลประเทศอื่นๆ คงกำหนดผลตอบแทนเข้ารัฐขั้นต่ำ 35-40% ขึ้นไป (มาตรฐานสากล รัฐได้ผลตอบแทน 30-40%)”
“ดิวตี้ฟรีในสนามบินนั้น ห้างก็ไม่ต้องสร้าง ลูกค้าก็ไม่ต้องหา ใช้ภาษีประชาชนและทรัพยากรของชาติด้านการท่องเที่ยวสร้างลูกค้าให้อัตราผลตอบแทนที่เอกชนให้รัฐ ไม่สมควรจะต่ำอย่างยิ่ง ความพยายามใดๆ ที่จะให้เอกชนรายเดียว ให้ผลตอบแทนประเทศชาติต่ำๆ แต่มีอายุสัมปทานยาวๆ ผมคิดว่าเป็นการเอื้อประโยชน์เอกชนรายเดียวมากเกินไป”
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าประเดี๋ยวคน ทอท. ก็คงดาหน้าออกมาหว่านงบ “ตีปี๊บ” ประเด็นที่ต้องตั้งเงื่อนไขด้านเทคนิคเอาไว้สูงลิ่ว เพราะต้องพิจารณาหาผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีที่มีคุณภาพมากกว่าการพิจารณาเงื่อนไขทางการเงินนั้น เพราะต้องแข่งกับสนามบินต่างประเทศ เอกชนที่จะเข้ามารับสัมปทานจึงต้องมีศักยภาพ ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีของโลกได้
ทั้งที่มีข้อมูล “ย้อนแย้ง” สนามบินเลื่องชื่อที่ ทอท. อ้างถึงนั้นเขาผูกปิ่นโตประเคนสัมปทานให้ผู้ประกอบการรายเดียวหรือไม่ คน ทอท. ต่างรู้สาแก่ใจตนเองดีครับ
และจะว่าไปภายใต้ข้อเสนอทางการเงินของบริษัทเอกชนที่ยื่นเสนอตัวเข้ารับสัมปทานนั้น ไม่ว่าจะเสนอผลตอบแทนแก่รัฐในสัดส่วนเท่าไหร่ จะต้องมีการวางแบงก์การันตีหรือกำหนดเงื่อนไขที่เป็น Minimum Guarantee เอาไว้อยู่แล้วหาก ทำไม่ได้ตามเงื่อนไข ทอท. ก็สามารถยึดแบงก์การันตี หรือมีประกันรายได้ขั้นต่ำเอาไว้อยู่แล้ว ผมจึงมองไม่เห็นปัญหาว่าทำไมจะต้องล็อคสเปคด้วยข้อเสนอด้านเทคนิคราวกับไข่ในหินแบบนี้!
น่าแปลกใจ! วันวานยังเห็น ทอท. จัดมหกรรม “วันต่อต้านการทุจริตของ ทอท.” รณรงค์ทุกอณูในองค์กร ทอท. ร่วมกันประกาศเจตจำนงในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต สร้างจิตสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ประเภท ไม่เฉย ไม่ทน ไม่ยอม ให้เกิดการทุจริตภายในองค์กรว่างั้นเหอะ
แล้วสิ่งที่ ทอท. กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะตอบข้อกังขาสังคมเขาอย่างไรดี “ทั่นประสงค์ พูลธเนศ” ที่เคารพ!
โดย..แก่ง หินเพิง