สะดุ้ง! เมื่อผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่สัมพันธ์กับแนวทางและมาตรการที่มี เทียบกับงบประมาณรายจ่ายฯ แต่ละปี จาก “เม็ดเงินภาษี” ของประชาชน มันคุ้มค่าแค่ไหน? อย่าได้สงสัย? กับวลีการเมือง “ผนงรจตกม”
ย้อนหลังกลับไปดูการแข่งขัน...ฟุตบอลประเพณี “จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” ครั้งที่ 74 เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2563 มีป้ายเดินขบวนแห่ล้อการเมืองป้ายหนึ่ง เขียนเอาไว้ว่า “ผนงรจตกม”
หลายคนถอดความเอาไว้อย่าง...เจ็บแสบ!
ทำเอา...ทั้งตัว “นายกรัฐมนตรี” รวมถึงคณะรัฐมนตรี และบรรดากองเชียร์ ต่าง “เลือดขึ้นหน้า” ด่าทอ...นิสิตนักศึกษา “ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง!”
ผ่านมาจนถึงวันที่ทั่วโลกและบ้านเมืองไทย ตกอยู่ในสถานการณ์และวังวนเดียวกัน นั่นคือ มนุษยชาติ...กำลังกลายเป็นเหยื่อให้กับ “โรคห่าตำปอด” ความหมายที่ สปป.ลาว เรียกขาน ไวรัสโคโรโน สายพันธุ์ 2019 (COVID-19) กัดกิน...จนมียอดผู้ป่วยสะสมทั่วโลก ณ เช้าวันที่ 3 เมษายน 2563 สูงถึงกว่า 1 ล้านคน
ตัวเลขจริงคือ...ทั่วโลกมียอดผู้ป่วยสะสม 1,015,048 คน เสียชีวิต 53,166 คน รักษาหาย 212,065 คน ขณะที่ในประเทศไทย พบผู้ป่วยสะสม 1,875 คน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 104 คน และเสียชีวิต 15 คน
จนถึงตอนนี้ หลายคนคงเข้าใจความหมาย “ผนงรจตกม” กันอย่างลึกซึ้งแล้ว!
ล่าสุด วานนี้ (2 เม.ย. 2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทรท.) ถึงมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น หลังการประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน 2563
ด้วยการประกาศเป็น “แม่ทัพ” นำทีมแพทย์และบุคลกากรทางการแพทย์ สู้รบกับศัตรูที่มองไม่เห็นอย่าง...โควิด-19 พร้อมกับย้ำหนักแน่นให้คนไทยได้ยินไปพร้อมกัน นั่นคือ..
คนไทยทุกคนจะได้รับการดูแลรักษาอย่างเท่าเทียมและครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น...ยาที่ใช้ในการรักษา อุปกรณ์การแพทย์ เตียงผู้ป่วย ฯลฯ นายกรัฐมนตรีพูดชัด! ทุกอย่างจะไม่มีวันขาดแคลนและขาดตลาด เช่นกัน นั่นก็รวมถึงอาหารการกิน และสินค้าอุปโภค-บริโภคที่สำคัญและจำเป็นอื่นๆ
ถึงขนาดที่รัฐบาล...พร้อมจะปรับเปลี่ยนและเพิ่มจำนวนอาคารและเตียงสำหรับผู้ป่วยฯ ทั้งเพิ่มพื้นที่รักษาไวรัสโควิด-19 ในส่วนของโรงพยาบาล รวมถึงปรับเปลี่ยนเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ และโรงแรม ให้เป็น...โรงพยาบาลชั่วคราว เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
พร้อมมาตรการคุมเข้มอื่นๆ โดยเฉพาะ การประกาศเคอร์ฟิวส์ทั่วประเทศ ด้วยการสั่งห้าม...ผู้คนออกนอกเคหะสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 น. – 04.00 น. และห้ามคนต่างด้าวและคนไทยในต่างแดน เดินทางกลับประเทศไปจนถึงวันที่ 15 เมษายนนี้
แน่นอนว่า...ผลจากการเพิ่มระดับความเข้มของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย่อมส่งผลกระทบทั้งต่อวิถีชีวิตของคนไทย และธุรกิจน้อยใหญ่ โดยเฉพาะร้านรวงในยามราตรี เรื่อยไปจนถึงร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น, แมคโคร, โลตัส, บิ๊กซี ฯลฯ
วันเดียวกัน ก่อนหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะออกแถลงการณ์ในช่วงหลัง “6 โมงเย็น” ที่กระทรวงการคลัง เมื่อช่วงบ่าย... นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานทางเศรษฐกิจมหภาคสำคัญๆ ถึงแนวทางการออกมาตรการเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 ซึ่งก่อนหน้านี้ นายสมคิด เคยแถลงว่า...จะเน้นมาตรการที่ยึดโยงกับหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ยกระดับ “เศรษฐกิจชุมชมและท้องถิ่น” ให้มีความเข็มแข็ง
นายสมคิด ย้ำภายหลังการประชุมฯ ว่า ได้มีการประเมินเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ และเห็นว่าจำเป็นต้องเร่งออกมาตราการดูแลเศรษฐกิจชุดที่ 3 ครอบคลุมทุกกลุ่ม ประกอบด้วย...กลุ่ม “ประชาชน - เกษตรกรที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ -ผู้ประกอบการ – การดูแลเสถียรภาพตลาดเงินและตลาดทุน”
โดยกระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วาระพิเศษ พิจารณาในวันที่ 3 เมษายน หากที่ประชุมฯ เห็นชอบก็จะได้ดำเนินการต่อไป
ส่วนมาตรการฯชุดใหม่จะดูแลในส่วนใดและใช้งบประมาณเท่าไหร่ รวมถึงจะนำเงินมาจากแหล่งใดนั้น กระทรวงการคลังจะเสนอทั้งรูปแบบ...การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โดยการจัดสรรวงเงินงบประมาณในปี 2563 บางส่วนใหม่ นำเงินที่ยังไม่สำคัญและจำเป็นจะต้องใช้ในสถานการณ์นี้ จากกระทรวงต่างๆ มาใช้เพื่อภารกิจต่อสู้กับไวรัสโควิด-19
และบางส่วนมาจากการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โดยวิธีการกู้ยืมเงินในประเทศ
“ในการจัดหาแหล่งเงินเพื่อใช้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่นั้น ยังไม่ขอบอกว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่จะนำชุดมาตรการเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 เข้าหารือในการประชุม ครม.นัดพิเศษ หากที่ประชุมเห็นชอบ ก็จะเสนอให้ที่ประชุม ครม.ชุดใหม่พิจารณาอีกครั้ง ในวันที่ 7 เม.ย. นี้” นายสมคิด ระบุ
ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า ชุดมาตรการใหม่จะครอบคลุมการดูแลประชาชน ผู้ประกอบการ เกษตรกร และการดูแลระบบเศรษฐกิจ โดยเป็นมาตรการที่ยึดโยงถึงกัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบของเรามั่นคง และต้องมองไปข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยจะเน้นมาตรการสนับสนุน ส่งเสริม การจ้างงานระดับฐานราก ชุมชน โดยจะดำเนินการร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานอื่นๆ และการคลังพร้อมจะดูแลเรื่องการเงินให้
มีรายงานระบุว่า กรอบวงเงินที่กระทรวงการคลังจะนำมาใช้ในมาตรการเศรษฐกิจระยะที่ 3 นั้น น่าจะสูงกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ โดยก่อนหน้านี้ มีการประเมินกันว่า กระทรวงการคลังจะต้องใช้วงเงินไม่ต่ำกว่า 4-5 แสนล้านบาท แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป และขอบเขตความช่วยเหลือครอบคลุมกลุ่มคนในวงกว้าง กรอบวงเงินที่ต้องใช้ในภารกิจนี้ อาจสูงกว่า 1 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำ!
มีการประเมินกันคร่าวๆ ว่า รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ สามารถใช้พระราชบัญญัติฯ เพื่อเกลี่ยกรอบวงเงินงบประมาณฯปี 2563 ใหม่ ด้วยการนำเงินจากกระทรวงต่างๆ ที่ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้จ่ายเพื่อการลงทุน และงบประมาณในการจัดประชุมสัมมนา ศึกษาดูงานในต่างประเทศ และอื่นๆ มาได้บ้าง...
แต่อย่างมากคงไม่เกิน 2-3 แสนล้านบาท
นั่นหมายความว่า...เม็ดเงินที่ขาด บวก/ลบ 1 ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลจะต้องออกเป็น พ.ร.ก.กู้ยืมฯ เงินภายในประเทศ
โอ้แม้เจ้า! ขนาดงบประมาณในปี 2563 ที่มีมากถึง 3 ล้านล้านบาท และหากย้อนหลังมองกลับไปในแต่ละปี จะเป็นว่า...ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา มีเม็ดเงินงบประมาณฯ รวมกันและผ่านมือ นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ สูงถึงกว่า 15 ล้านล้านบาท!
แต่เม็ดเงินจำนวนมากมายมหาศาลเหล่านี้ กลับไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อการวางโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทย ในทุกมิติที่สำคัญแต่อย่างใด
ไอ้นู่นก็ขาด ไอ้นี่ก็ไม่พอ ไอ้นั้นก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามา...
ฉะนั้น คนไทย “ผู้เสียภาษี” ให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้จ่ายกันอย่างสบายใจ! ก็อย่าได้แปลกใจอะไรนัก กับ “ป้ายล้อการเมือง” ที่นิสิตนักศึกษา...บรรจงเขียนเอาไว้ว่า “ผนงรจตกม”
เพราะมันพิสูจน์อะไรต่ออะไรได้มากมายนัก...บนแผ่นดินไทยนี้