จากเทียบเชิญ “20 มหาเศรษฐีไทย” กลายเป็น “#รัฐบาลขอทาน”!!! หากรัฐบาลใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ผิดเป้า “เข้าทางมหาเศรษฐี” ไม่เพียงเพิ่มกลุ่มคน “ตกสำรวจ” ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยามากถึง 14-15 ล้านคน ยังอาจเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ไทยไปเลยก็ได้
#รัฐบาลขอทาน…หลายคนอาจตั้งคำถาม แค่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาล จะทำจดหมายเชิญ 20 เศรษฐีของประเทศไทยที่รวยติดอันดับโลก มาร่วมหารือถึงแนวทางการสร้างทางออกใหม่ให้กับประเทศนี้
ทำไมต้องไปกล่าวหาเป็น…#รัฐบาลขอทาน จนบางคนในรัฐบาลชุดนี้…ควันออกหู! “ทีมข่าวเนตรทิพย์” ขออธิบายความง่ายๆ กับปรากฏการณ์การณ์ในโลกโซเชียล ดังนี้…
ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกือบทุกธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงภาคแรงงานและบริการ ต่างได้รับผลกระทบกันไปถ้วนหน้า
ยิ่งการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท ไปไม่ทั่วถึง มีคนที่เดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19 และจากนโยบาย/มาตรการของรัฐ ที่ยื่นลงทะเบียนมากถึง 27.7 ล้านคน จากภาคแรงงานทั้งประเทศ 44 ล้านคนเศษ แต่มีคนที่ได้รับและจะได้รับเงินเยียวยาจริง แค่ 9 ล้านคน รวมกับภาคเกษตรกร ในรูปแบบจ่ายเงินครั้งเดียว 15,000 บาทแก่ครอบครัวเกษตรกร9 ล้านครัวเรือน หรืออีก 17 ล้านคน
รวมกับคนในกลุ่มอื่นๆ ในซีกประกันสังคม พนักงานเอกชน ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐ อีกราว 3-4 ล้านคน
บวกลบคูณหาร…จะมีคนที่ได้รับการเยียวยาจริงๆ แค่ 9+17+4 = 30 ล้านคน และจะมีกลุ่มคน “ตกสำรวจ” โดยไม่มีสิทธิ์เข้าถึงเงินเยียวยาและรับความช่วยเหลือรวมกันมากถึง 14-15 ล้านคนเลยทีเดียว
แต่นั่นก็เป็นเพียงผลกระทบในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะในระยะยาว…ตัวเลขอาจเพิ่มจำนวนมากกว่านี้เป็นเท่าตัว!
นั่นเพราะ…นอกจากคน 14-15 ล้านคนที่จะกลายเป็นพวก “ตกสำรวจ” แล้ว ยังมีภาคธุรกิจ ตั้งแต่ระดับขนาดย่อม เรื่อยไปจนถึงขนาดจิ๋ว ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และธุรกิจระดับยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ
ทั้งหมดจะได้รับผลกระทบเหมือนกัน หนักเบาขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจและสายป่าน รวมถึงคอนเน้กชั่นที่มีกับ “ผู้ถืออำนาจรัฐ” แต่รวมความได้ว่า…เมื่อธุรกิจการค้าต่างได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และเป็นเหมือนกันทั่วโลก นอกจากภาคธุรกิจทุกระดับจะได้รับผลกระทบชนิดหนักหนาสาหัสแล้ว ภาคแรงงาน ตั้งแต่ลูกจ้างระดับล่าง ยันผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร ก็คงได้รับผลกระทบต่อเนื่องตามกันมา
และผลกระทบที่จะมีตามๆ กันไป นั่นคือ…การจัดเก็บรายได้ภาษีแผ่นดินจะหายไปเป็นจำนวนมาก เฉพาะปีงบประมาณแผ่นดิน 2563 (1 ต.ค. 2562 - 30 ก.ย. 2563) ซึ่งโดนเต็มๆ จากภาวะวิกฤตโควิด-19 จากเดิมที่คาดว่าจะมีรายได้จากกรมภาษีทั้ง 3 กรมหลัก ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต รวมกันราว 2.4-2.5 ล้านล้านบาทนั้น
เอาเข้าจริง…จะเก็บได้ถึง 2 ล้านล้านบาทหรือไม่?
ไหนจะมาตรการเยียวยาด้านภาษีที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง สั่งให้กรมสรรพากรต้องทำ ในแบบ “ลดแลกแจกแถม” นัยว่า…เป็นการเยียวยาทั้งตัวบุคคลและภาคภาคธุรกิจ
ไหนจะภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 จนทำให้รายได้หลักๆ อย่าง…การส่งออก และการท่องเที่ยว หายไปเป็นจำนวนมาก กระทบภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การค้าและการบริการ แทบจะครบวงจรธุรกิจในประเทศไทย
ไหนจะกำลังซื้อจากภาคประชาชน ที่เหลือไม่มากนัก
ทั้งหมดกระทบรายได้ภาษีของกรมสรรพากร ที่ถือเป็นกำลังหลักในการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ และเมื่อรายได้ภาษีไม่เข้าเป้า…ในขณะที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯของแต่ละปี เพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้รัฐบาลจำต้องกู้ยืมเงินมาใช้…
ระหว่างที่ปีงบประมาณฯ 2563 ยังไม่หมดปี และการจัดทำงบประมาณฯ ปี 2564 ก็ยังไม่เกิดขึ้น…แต่งบประมาณฯ ปี 2563 ถูก “เจ้าภาพ” ในแต่ละกระทรวง แต่ละกรมกอง “จับจอง” กันหมดแล้ว
รัฐบาลชุดนี้ จึงต้องกู้…กู้…และกู้ ล่าสุด ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับแนวทางของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ก็คือ การออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ รวม 2 หน่วยงาน และ พ.ร.ก. 4 ฉบับ คิดเป็นวงเงินกู้มากถึง 1.9 ล้านล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 60 ของเม็ดเงินงบประมาณฯ ปี 2563 เลยทีเดียว
และเงินกู้ของรัฐบาล ก็คือ เงินที่ได้มาจากการขายพันธบัตรรัฐบาลนั่นเอง
ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างนี้ ยังจะมีใครหน้าไหนมีเงินมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลกันอีก ครั้นจะกู้ยืมจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ไม่เพียง…รัฐบาลไทยจะต้องไปต่อแถวเข้าคิว รอให้รัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่จองคิวกันล่วงหน้าไปก่อนแล้ว เข้าโครงการกู้เงินจาก “คุณพ่อไอเอ็มเอฟ”
การเป็นลูกหนี้ของไอเอ็มเอฟ ยังทำให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องถูกตรวจสอบชนิดเข้มข้น! และหากผ่านเกณฑ์และเข้าร่วมโครงการฯ ยังจะต้องถูกบงการจนไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่เชื่อลองย้อนไปดูเมื่อคราววิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 หรือไม่…ก็ลองไปถาม ท่านประธานฯ ชวน หลีกภัย ดูเอาก็ได้
“กู้นอกก็ไม่ได้ กู้ในก็ไม่มีเงิน!” นั่นจึงเป็นที่มาของการที่ พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมจะส่งเทียบเชิญ 20 มหาเศรษฐีของไทยเข้าพบ...ลึกๆ ก็เพื่อจะเจรจากันในเรื่องขอร้องให้บรรดา 20 มหาเศรษฐี ช่วยเจียดเงินมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล 1.9 ล้านล้านบาท นั่นเอง
ถึงตรงนี้ หลายคนคงถึงบางอ้อกันแล้ว ทำไมโลกโซเชียลฯ ถึงได้เหน็บแนมทำนอง #รัฐบาลขอทาน…
ประเด็นต่อมา คือ การขอให้บรรดา 20 มหาเศรษฐีมาช่วยรัฐบาลนั้น เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จะเกิดรายการ “ต่างตอบแทน” หรือไม่? ซึ่งแน่นอนว่า…ไม่มีใครไม่เชื่อว่า “ไม่เป็นจริง” นั่นคือ รายการ “ต่างตอบแทน” จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน
จะว่าไปแล้ว…ในบรรดา 20 มหาเศรษฐีนั้น มีน้อยมากที่ไม่เคย “ทำมาหากิน” โดยไม่อิงกับอำนาจรัฐ ส่วนใหญ่คุ้นชินกันมาทั้งนั้น จึงไม่แปลกถ้า 20 มหาเศรษฐีจะช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาล แบบมีเงื่อนไข ย้ำ! ว่าเป็นแบบมีเงื่อนไข
ส่วนเงื่อนไขจะเป็นอย่างไร? คงต้องล้วงลึกสืบเสาะกันออกมาเอง เพราะทั้งรัฐบาลและ 20 มหาเศรษฐี คงไม่เอ่ยปากออกมาแน่
อย่าลืมว่าวงเงินกู้มีเกือบ 2 ล้านล้านบาท หารจำนวน 20 มหาเศรษฐี เฉลี่ยตกคนละ 1 แสนล้านบาท ที่ต้องซื้อพันธบัตรรัฐบาล เป็นเงินไม่น้อยทีเดียว
สมมุติว่ารัฐบาลได้เงินกู้มา 1.9 ล้านล้านบาทจริง ทีนี้แหละ...ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่า รัฐบาลจะใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 กันอย่างไร
หากดูตามชาร์ตที่กระทรวงการคลังนำเสนออกมาก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่ชัวร์ว่า…มันจะถึงทั้งคนและภาคธุรกิจที่เดือดร้อนหรือไม่? แค่ไหน? แต่ที่แน่ๆ ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น เงินส่วนใหญ่จะถูกนำไปซื้อตราสารการเงินของภาคเอกชน ซึ่งหากเชื่อมโยงกันดีๆ ก็จะพบว่า มีสายสัมพันธ์โยงไปถึงบรรดา 20 มหาเศรษฐีอยู่ดี
ถ้ารัฐบาล…เปิดเกม “ผลต่างตอนแทน” เช่นที่ฝ่ายค้านและนักวิชาการตั้งข้อสังเกตละก็ “ตัวจริง” ที่ได้รับผลกระจากวิกฤตโควิถี-19 ก็จะยังไม่ได้รับการแก้ไขและช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม
ที่สุด! คน 14-15 ล้านคน ที่ได้ชื่อว่า เป็นพวก “ตกสำรวจ” ในระยะสั้น จะได้รับการเสริมจำนวนในระยะยาว เพิ่มเป็น 20 ล้านคน 30 ล้านคน หรืออาจมากกว่านั้น
ถึงตอนนั้น อะไรก็เกิดขึ้น เพราะประวัติศาสตร์โลก แค่ขนมปังเพียงก้อนเดียว ก็เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างไปตลอดกาล