"บิ๊กตู่" จัด ม.44 ช่วย "ทีวีดิจิทัล" คืนใบอนุญาตได้ ไม่ต้องจ่ายค่าประมูล 2 งวด พ่วงยืดหนี้ค่าธรรมเนียมประมูลคลื่น 3 ค่ายมือถือ 10 งวด ด้าน "ดร.สมเกียรติ" แห่งทีดีอาร์ไอ มาตามนัด อัดรัฐอุ้มบริษัทสื่อสารตักตวงผลประโยชน์จากดอกเบี้ยปรับพุงกาง
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 มีหลายฝ่ายจับตาไปที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ที่ได้เผยแพร่คำสั่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม
การออกประกาศดังกล่าว อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
โดยในส่วนของทีวีดิจิทัลนั้น ประกาศในข้อ 10 ระบุว่า ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการรายใดประสงค์จะคืนใบอนุญาตที่ได้รับตามประกาศ ให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช. ภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้สำนักงาน กสทช. พิจารณากำหนดค่าชดเชยให้แก่ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับในระหว่างที่ได้มีการประกอบกิจการ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ได้มีการชำระแล้ว
นอกจากนี้ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล 22 ช่อง ไม่ต้องนำเงินค่าประมูล 2 งวดสุดท้าย คือ งวดที่ 5 และ 6 มาชำระให้กับ กสทช. ส่วนรายใดที่นำเงินมาชำระไปแล้ว ก็มาขอคืนได้ และรายใดที่ยังชำระงวดที่ 4 ไม่ครบตามจำนวน ก็ให้นำเงินมาชำระค่าประมูลให้ครบตามถ้วน และตามวันเวลาครบรอบการชำระค่าประมูล ซึ่งจะครบชำระในเดือน พ.ค. 2562 นี้
ในส่วนผู้ประกอบการโทรคมนาคมนั้น เอไอเอส และทรู ที่ประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ไปก่อนหน้านี้ จะได้รับความช่วยเหลือด้วยการขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จาก 4 งวดเป็น 10 งวด หรือจากเดิมต้องจ่ายหมดในปี 2563 ยืดไปเป็น จ่ายงวดสุดท้าย 2568 สำหรับเอไอเอส และทรู ส่วนดีแทคที่ประมูลหลังสุด งวดสุดท้ายปี 2570 ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีเงินทุนมาประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ และขยายโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อรองรับการให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และรองรับการให้บริการ 5 จีในอนาคตอันใกล้ด้วย
สำหรับวงเงินค่าธรรมเนียมการประมูลคลื่น 900 ดังกล่าวกลุ่มทรู มีมูลค่า 76,298 ล้านบาท เอไอเอส 75,654 ล้านบาท และดีแทค 38,064 ล้านบาท
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิช ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาตามนัดทันที โดยได้โพสต์ FB "ยืดหนี้มือถือ = ยกผลประโยชน์หมื่นล้านให้นายทุน" โดยระบุว่า วันสองวันนี้มีข่าวลือว่า จะมีการออกคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 เพื่อยืดหนี้ให้กับบริษัทโทรศัพท์มือถือ 3 ราย คือ เอไอเอส ทรู และดีแทค ในเร็วๆ นี้ ซึ่งทำให้หุ้นของบริษัททั้งสามเด้งสูงขึ้นมาทันที
การที่หุ้นเด้งสูงขึ้นรับข่าวลือดังกล่าว ชี้ชัดเจนอย่างไม่มีข้อสังสัยว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสามจะได้ประโยชน์หากมีมาตรการยืดหนี้ออกมาจริง ซึ่งตรงกันข้ามกับความพยายามก่อนหน้านี้ของคนในภาครัฐที่บอกว่า มาตรการนี้ไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้นายทุน
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางรายบอกว่า ทรูจะได้ประโยชน์มากที่สุด ในขณะที่ดีแทคจะได้ผลประโยชน์น้อยที่สุด เพราะหนี้งวดสุดท้ายที่จะถูกยืดออกไปมีมูลค่าน้อยที่สุด
"การคำนวณของผมพบว่า ที่จริงแล้ว ทั้งสามบริษัทจะได้ผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน แม้ว่าหนี้ก้อนสุดท้ายที่จะยืดออกไปจะใหญ่ไม่เท่ากัน แต่การปรับระยะเวลาในการยืดหนี้ที่แตกต่างกันก็ทำให้สุดท้ายได้ตัวเลขเท่าๆ กันคือ แต่ละรายได้ผลประโยชน์ไปประมาณ 8 พันล้านบาท ใกล้เคียงกันอย่างน่ามหัศจรรย์ เสมือนมีการหารือกันมาก่อนเพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน"
แม้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายอาจไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันและต่างก็ได้หมด ผู้ที่จะเสียเปรียบจากมาตรการดังกล่าว คือ ประชาชนผู้เสียภาษี เพราะการที่รัฐยืดหนี้ให้ทั้งสามราย คือ การยกผลประโยชน์ของประชาชน 2.4 หมื่นล้านบาท ให้กับนายทุนโทรคมนาคม
ข้ออ้างเรื่องการยืดหนี้อุ้มผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าประมูลคลื่น 5G ก็เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น ด้วยหลายเหตุผล คือ หนึ่ง ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมและความจำเป็นต้องประมูลคลื่น 5G ในปีนี้ สอง ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ไม่มีใครสัญญาว่า จะเข้าประมูล 5G เลย โดยต่างพูดตรงว่า ต้องดูเงื่อนไขการประมูลและราคาเริ่มต้นก่อน
ข้ออ้างในการยืดหนี้เพื่อให้เอกชนเข้าประมูล 5G จึงไม่ใช่ “หมูไปไก่มา” แต่ “เสียหมูไปฝ่ายเดียว” เสมือนเป็น “ค่า (แกล้ง) โง่”
หากมีการใช้มาตรการดังกล่าวจริง ก็ต้องถือว่า รัฐบาลประยุทธ์ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง ทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง ในทางกฎหมาย การใช้คำสั่งตามมาตรา 44 จะทำให้คสช. และรัฐบาลพ้นความรับผิดทางกฎหมาย ประชาชนไม่สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลได้ ส่วนในทางการเมือง การดำเนินการในช่วงหลังเลือกตั้งทำให้ไม่ถูกคู่แข่งโจมตีในการเลือกตั้งว่า เอื้อประโยชน์ให้นายทุน และการดำเนินการในช่วงก่อนสงกรานต์ ก็ถือเป็นการใช้จังหวะที่ประชาชนติดตามข่าวสารกันน้อยเพราะเป็นวันหยุดยาว
หากรัฐบาล และ คสช. ซึ่งมาจากการยึดอำนาจและกล่าวหารัฐบาลก่อนหน้านี้ว่าทุจริตคอรัปชั่น ต้องออกคำสั่งใช้มาตรการพิเศษ เพื่อทำเรื่องที่ไม่จำเป็น สร้างความเสียหายต่อประชาชน และทำลายความน่าเชื่อถือในการทำสัญญากับภาครัฐ เพียงเพื่อเอื้อนายทุน เราคงอดคิดไม่ได้ว่า แม้ คสช. จะประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่รัฏฐาธิปัตย์แท้จริงที่เหนือกว่า คสช. ก็คือ กลุ่มทุนบางกลุ่มนั่นเอง!