ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอตเป็น Talk of the Town..
กับเรื่องที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงมืดแปดด้านต้องอยู่ในสภาพหันรีหันขวางเอากับอนาคตของ บมจ.การบินไทย สายการบินแห่งชาติ ที่กำลังอยู่ในสภาพโคม่าแทบล้มละลายและรอคอยนโยบายรัฐว่า จะโอบอุ้มและกระเตงกันต่อไปหรือจะปล่อยลอยแพให้ล้มละลายไปตามยถากรรม..
หลังจากที่รัฐบาลและกระทรวงการคลัง โดยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) จับเอาการบินไทยเข้ามาใส่ตะกร้าล้างน้ำ เป็น 1 ใน 6-7 รัฐวิสาหกิจที่ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการมากว่า 6 ปี นับแต่ปี 2558 แต่สถานการณ์ยังคงไม่ดีขึ้น ผลประกอบการตลอดช่วงที่ผ่านมายังคงขาดทุนบักโกรก ไม่สามารถจะปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้ยื่นเอาไว้ต่อ คนร.ได้
เมื่อทั่วโลกต้องมาเผชิญกับวิกฤต “ไวรัส โควิด- 19" ที่ทำลายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบินทั่วโลกจนย่อยยับ ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ของการบินไทยที่ “หืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง” เป็นทุนเดิมอยู่แล้วต้องล้มละลายทั้งยืน ไม่เพียงจะต้องทำการบินเส้นทางทั้งในและต่างประเทศ หนทางกอบกู้สถานการณ์ข้างหน้าก็ยังไม่มีทีท่าว่า อุตสาหกรรมการบินจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างไรและเมื่อใด และมองไม่เห็นอนาคตเลยว่า หากรัฐจะดันทุรังกระเตงการบินไทยไปในสภาพนี้ต่อไปแล้ว จะทะยานหนีจากสภาพการล้มละลายไปได้อย่างไร?
เหตุนี้ จึงมีรายงานจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า รัฐมนตรีเกินกว่าครึ่งในที่ประชุม ครม. ต่างเห็นพ้องที่จะให้ พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจให้ ”การบินไทยล้มละลาย” ดีกว่าจะให้นำเงินภาษีประชาชนเข้าไปอุ้มไว้ โดยไม่รู้ทางรอด เนื่องจากในแผนฟื้นฟูกิจการที่ฝ่ายบริหารบินไทยนำเสนอให้รัฐและคลังเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ 54,000 ล้านบาท จากที่การบินไทยขอมา 80,000 ล้านบาท อันจะทำให้การบินไทยสามารถฟื้นฟูกิจการกลับมามีกำไรได้ภายในปี 2564 นั้น พบว่า ยังคงมีรายการสอดใส่จะต้องใช้เงินเพิ่มเติมอีกกว่า 2 แสนล้านบาทด้วย
ล่าสุด รมว.คมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ออกมาทิ้งไพ่ตายถึงการจัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ที่แม้ คนร.จะไฟเขียวให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้ 50,000 ล้านบาท เพื่อให้การบินไทยยังคงเดินหน้าไปได้ แต่เมื่อจะต้องนำเสนอแผนดังกล่าวต่อที่ประชุม ครม.ก็กลับต้องหยุดชะงักเมื่อกระแสสังคมต่างพากันตั้งข้อกังขา เหตุใดรัฐบาลถึงต้องหอบเอาภาษีประชาชน ไปโอบอุ้มรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในสภาพล้มละลายเช่นนี้ ทั้งที่ประชาชนคนไทยต้องเดือดร้อนไม่มีอันจะกินไปทุกหย่อมหญ้า จนทำให้กระทรวงคมนาคมที่ต้องรับหน้าเสื่อกำกับดูแลการบินไทยต้องชะลอการเสนอแผนดังกล่าวเอาไว้ก่อน
พร้อมกับ “แบไต๋” ท่าทีของที่ประชุม ครม.ที่ รมต.ส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องที่จะ “เท” การบินไทย โดยลอยแพให้ล้มละลายไปตามครรลอง หรือเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามครรลองที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ดึงดันเอาเม็ดเงินภาษีประชาชนไปโอบอุ้ม มีเพียง นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่ยืนยันจำเป็นที่ต้องเดินหน้าโอบอุ้มการบินไทยต่อไปไม่ให้ล้มละลาย
ทั้งนี้ รมว.คมนาคม ยอมรับว่า การจะให้ที่ประชุม ครม.ตัดสินใจนำภาษีประชนไปโอบอุ้มการบินไทยนั้น จำเป็นต้องมีความรอบคอบ และต้องตอบคำถามสังคมได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยส่งมา
เพราะจากการพิจารณาแผนปฏิบัติ หรือ Action plan ที่การบินไทยส่งมายังพบว่า มีความเสี่ยงอยู่ถึง 23 เรื่องจึงทำให้ที่ประชุม ครม.ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ "อย่าว่าแต่ความเสี่ยง 23 เรื่องเลย แม้แต่เรื่องเดียวยังไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นต้องไปคิดให้รอบคอบ เพราะที่ผ่านมาในอดีตเหมือนกับที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีว่าไว้ ตอนให้ไปดำเนินการก็ไม่ทำ ผ่านมาตั้ง 5 ปี วันนี้เราต้องดูเรื่องนี้ด้วยใจที่ปราศจากอคติ แล้วดูว่าสิ่งที่เป็นธรรมที่สุดที่จะทำให้ การบินไทยกลับมาแข็งแรงทำอย่างไร อะไรคือ What When Where Why How to แผนหารายได้ควรทำอะไร ไม่มีรายได้แล้วจะใส่เงินไปอย่างเดียวทำได้หรือ แผนบริหารหนี้จะทำอย่างไร จะเจรจาไกล่เกลี่ย อะไรกับใคร อย่างไร ก็ต้องว่ามา ต้องเอาเรื่องจริงมาคุยกัน"
หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปพิจารณา แนวนโยบายของรัฐและกระทรวงการคลังที่มีต่อกิจการรัฐวิสาหกิจแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงการคลังให้น้ำหนักและความเอื้ออาทรต่อการบินไทย ราวกับเป็น “อภิรัฐวิสาหกิจ” จะกู้เงินซื้อเครื่องบินกี่ลำต่อกี่ลำก็ไฟเขียวผ่านฉลุย แม้แต่เครื่องบินพิสัยไกลอย่าง Airbus A340-500 จำนวน 3 ลำ ที่ซื้อมาบินเส้นทางกรุงเทพ-นิวยอร์ก ได้แค่ 1-2 ปีแล้วต้องจอดทิ้งเป็นซากเน่าอยู่อู่ตะเภานั่น
รัฐบาลและกระทรวงการคลัง พร้อมจะทุ่มเทเม็ดเงินภาษีของประชาชนหลักหมื่นล้านแสนล้านให้กับการบินไทยทั้งในส่วนของการค้ำประกันเงินกู้ หรือการจัดซื้อเครื่องบินเครื่องไม้เครื่องมือในการทำมาหากิน การสยายปีกขยายกิจการในไทยของการบินไทย ล้วนได้รับการสนองตอบจากรัฐอย่างทันทีทันควัน
แม้การบินไทยจะเผชิญกับวิกฤตด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน ต้องประสบกับการขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอดช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อการบินไทยจัดทำแผนจัดซื้อบินฝูงใหม่สุดอภิมหากาฬถึง 38 ลำ มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท รัฐบาลและกระทรวงการคลังก็ยังคงไฟเขียวให้การสนับสนุน เสียแต่ว่าแผนดังกล่าวมาเผชิญกับวิกฤต ไวรัส -19 เข้าเสียก่อนจึงต้องพับไป หาไม่แล้วก็คงมีการกระเตงแผนจัดซื้อฝูงบินดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.ไปแล้ว
ตรงกันข้ามกับรัฐวิสาหกิจอย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. หรือ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่ถือเป็นฟันเฟืองหลักของการขนส่งที่หลากหลาย ตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงประชาชนโดยทั่วไป ยิ่งกับการรถไฟฯ ที่ถือเป็นโครงข่ายทางรางที่รัฐบาลป่าวประกาศว่าเป็นฟันเฟืองหลักเป็น Backbone ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาโดยตลอด
แต่รัฐบาลและกระทรวงการคลังกับปฏิบัติต่อรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ราวกับ "ลูกเมียน้อย" อย่าง ขสมก. ที่มีแผนจะปรับเปลี่ยนรถโดยสารเก่าบุโรทั่งนั้น จัดทำแผนกันมาเป็นสิบๆ ปี ก็ยังไปไม่ถึงไหน ถูก ครม. และคลังตั้งแง่เรื่องการปรับปรุงกิจการสารพัด สุดท้ายก็แทบจะไม่ขยับไปไหน อาจไม่พ้นต้องขายทิ้งกิจการไปให้เอกชน
เช่นเดียวกับการรถไฟฯ ที่จัดทำแผนจัดซื้อหัวรถจักรและโบกี้รถไฟใหม่มาไม่รู้กี่ยุคกี่สมัยกว่าจะผ่านด่านกระทรวงการคลัง และ ครม. มาได้ก็แทบหืดจับ แทบจะหมดความจำเป็นในการใช้งานไปแล้ว ยิ่งกับการจะขอเม็ดเงินภาษีประชาชนสัก 40,000-50,000 ล้านบาท เพื่อมาค้ำประกันเงินกู้ให้กับการรถไฟฯ ในการลงทุนจัดหาหัวรถจักรที่ทันสมัย จัดหาโบกี้รถไฟใหม่เพื่อให้บริการขนส่งได้ทั้งคนและสินค้าให้ทันสมัยแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในชาตินี้
แม้แต่การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุน 240,000 ล้านบาท ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย หมายมั่นปั้นมือจะโม่แป้งเองมาโดยตลอด แต่สุดท้ายก็ทำได้เพียงเป็น "พ่อสื่อแม่ชัก" ทำหน้าที่เจรจากับกลุ่มทุน ซี.พี. ที่จะเข้ามารับสัมปทาน โดยรัฐบาลและคลังยังไฟเขียวจ่ายเงินสมทบให้กับผู้ลงทุนไปด้วยกว่า 120,000 ล้านบาท (ไม่รวมประเคนรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ 35,000 ล้าน และค่าเวนคืนที่ดินที่แถมพกให้เอกชนไปด้วย) เพราะรัฐบาลได้จัดตั้งและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ดูแลเป็นการเฉพาะ
ทั้งที่จะว่าไป หากรัฐจะต้องใช้เงินเป็นหมื่นล้าน หรือนับแสนล้านโอบอุ้มรัฐวิสาหกิจอย่างการบินไทยเช่นนี้ หรือใช้เงินอุดหนุนให้แก่นักลงทุนที่จะมาลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกันเป็นแสนล้านบาทเช่นนี้ ก็๋สู้ให้การรถไฟฯเป็นผู้รับผิดชอบโม่แป้งเองให้รู้ดำรู้แดงประชาชนคนไทยยังจะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ แถมอานิสงส์ยังรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าการขนส่งทางรางครบวงจร โดยไม่จำเป็นต้องประเคนไปให้ทุนใหญ่ที่ไหน “ชุบมือเปิบ”
ส่วนเม็ดเงินภาษีที่ละเลงไปกับการโอบอุ้มการบินไทยนั้น ใครได้ประโยชน์ ประชาชนคนไทยในระดับรากหญ้าได้อานิสงด้วยหรือไม่ ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดี
โดย..แก่งหินเพิง