มีที่ไหน?
จะมากทั้งคน มากทั้งเครือข่ายและพันธมิตร “40 ล้านคน – 8 หมื่นแห่ง” ทั่วไทย แถมพร้อมเด้งรับแผนฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจไทย เพื่อให้ฐานรากเข้มแข็งและยั่งยืน คำตอบคือ...กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
ฝ่ายค้านอย่าง...นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ยังมองเห็นปัญหาและชี้ทางออกให้กับรัฐบาลของ พล.อ.ประยทธ์ จันทร์โอชา กับปม “สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจฐานราก” ผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.)
นั่นจึงเป็นที่มา...ที่เขาเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านไปยังรัฐบาล ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยนี้ เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ ด้วยการแนะนำให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 1 ล้านบาท ผ่านไปยังกองทุนหมู่บ้านฯ ทั่วประเทศ 7 หมื่นแห่ง (ตัวเลขจริงกว่า 7.9 หมื่นแห่ง) รวมเงิน 7 หมื่นล้านบาท เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านฯ แต่นำเงินที่ได้ไปเยียวยาประชาชนในท้องถิ่นของตัวเอง
เรียกว่า...ยิงได้เข้าเป้าและตรงจุดอย่างที่สุด!
หันมาดู...หน่วยงานต้นทางของกองทุนหมู่บ้านฯ อย่าง...สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สบท.) ภายใต้การนำของ นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สทบ. และมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานกรรมการ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
ว่ากันว่า...เพราะความที่นายสมคิด นั่งแท่น “ประธาน กทบ.” แถมยังกำกับดูแลกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขอกู้เงินและใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท นั่นจึงทำให้ตัวเขาไม่กล้าจะอัดเงินที่ได้จากเงินกู้ก้อนนี้ โดยเฉพาะในซีกของการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ ภายหลังวิกฤตแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ที่มีวงเงิน 4 แสนล้านบาท ไปกับกองทุนหมู่บ้านฯ
ด้วยเกรงข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้าน ประมาณว่า... “ชงเอง กินเอง”
แต่เมื่อฝ่ายค้าน...จากพรรคใหญ่ฯ อย่าง...เพื่อไทย เสนอแนวทางนี้มา ก็สมควรแล้ว หากนายสมคิดจะใช้บริการของ สทบ. ที่มี นายรักษ์พงษ์ เป็น...ลูกศิษย์คนใกล้ชิด เพราะเป็นถึง “อดีตเลขานุการส่วนตัว” กันมาก่อน ในการต่อยอดและสร้างระบบเศรษฐกิจฐานราก ในระดับชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ผ่าน...กองทุนหมู่บ้านฯ ทั้งกว่า 7.9 หมื่นแห่งทั่วประเทศ
ข้อมูลเบื้องต้น พบว่า...กองทุนหมู่บ้านฯ มีสมาชิกฯรวมกันกว่า 12.9 ล้านคน แต่ละสมาชิกฯ ก็มีคนในครอบครัวตัวเองอีก 1-3 คน ขึ้นกับว่าเป็น....ครอบครัวเล็กหรือใหญ่ ประเมินตัวเลขคร่าวๆ ถึงจำนวนคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกองทุนหมู่บ้านฯ ทั้งกว่า 7.9 หมื่นแห่ง ทั่วประเทศ มีไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน
กว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนคนไทยในเวลานี้เลยทีเดียว
หากรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนกองทุนหมู่บ้านฯ แห่งละ 1 ล้านบาท ตามที่ ส.ส.เพื่อไทย (นายพิเชษฐ์) เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลก็แค่ใช้จ่ายเม็ดเงินเพียง 7 หมื่นล้านบาท จากเงินกู้ในก้อนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท แต่ผลประจักษ์ที่เกิดขึ้นตามมา น่าจะเป็นอะไรที่หวังผลได้มากกว่าหรือไม่?
เนื่องจาก...ผู้บริหารกองทุนหมู่บ้านฯ ล้วนเป็น “คนใน” ที่มองและรู้เห็นปัญหา รู้ถึงสถานภาพของตัวคนในชุมชนฯ ที่จะเอาเงินก้อนนี้...ไปใช้เพื่อต่อยอดระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ง่ายกว่า “คนนอก”
รัฐบาลก็แค่...กำหนดนโยบายในภาพใหญ่ และจัดตั้ง “องค์กรตรวจสอบการใช้เงิน” หรือจะทำคู่ขนานไปกับสภาผู้แทนราษฎร ตามที่พรรคฝ่ายค้านเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี
ก่อนหน้านี้ นายสมคิด ได้สั่งการให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กลั่นกรองการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เร่งวางกรอบพิจารณาการใช้เงินตามแผนงานข้างต้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับหน่วยงานราชการที่จะต้องนำไปปฏิบัติ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจตรงกัน และ สศช. จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อจะได้นำเสนอเข้าสู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ
ก่อนนำไปสู่การกู้เงินและแจกจ่ายเงินตามโครงการที่ได้กำหนดกรอบการดำเนินการเอาไว้ในช่วงครึ่งปีหลัง
4 กรอบการพิจารณาเพื่ออนุมัติโครงการใดๆ นั้น จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่ง นายสมคิด ได้วางภาพกว้างๆ ให้ สศช. นำไปคิดต่อ นั่นคือต้องเป็น….1. โครงการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์, 2. โครงการพัฒนาและเพิ่มแหล่งน้ำในชนบท, 3. โครงการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนและพื้นที่ต่างๆ รวมถึงซ่อมแซมและทะนุบำรุงแหล่งท่องเที่ยวให้มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ภายหลังจากที่โควิด-19 สิ้นสุดลง และ 4. โครงการเกี่ยวกับการฝึกและพัฒนาอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น
นายสมคิด ย้ำว่า หัวใจสำคัญจากนี้ไป จะต้องเน้นสร้างและจ้างงานให้มากที่สุด ทำให้คนมีอาชีพและรายได้ โดยเฉพาะการจ้างงานในชนบท เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้เศรษฐกิจช่วงปลายไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ทั้งไตรมาส เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง จนเกิดการหยุดชะงัก จำเป็นจะต้องอาศัยโครงการเหล่านี้ และการปรับงบประมาณปี 2564 เพื่อดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยในระยะต่อไป สศช. ต้องดูการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จากเดิมที่เคยพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยว มาเป็นการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มมากขึ้น ด้วยการนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายใน
ขณะที่ นายรักษ์พงษ์ ในฐานะ ผอ.สทบ. เอง ก็ได้ประกาศความพร้อมในการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ของรัฐบาล โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการเน้น “สร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิต” ให้กับคนไทย ทั้งในระดับหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ
“นายสมคิด ได้ให้นโยบายว่า…ต่อจากนี้ไปกองทุนหมู่บ้านจะต้องมีภารกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน หรือสมาชิกของกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ หลังจากได้เคยทำบทบาทกองทุนหมุนเวียนจนสำเร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว โดยหน้าที่ใหม่ภายหลังสิ้นสุดปัญหาโควิด-19 ก็คือ จะต้องมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะต้องทำให้คุณภาพชีวิตของสมาชิกฯดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจาก สทบ. และกองทุนหมู่บ้าน อยู่ใกล้และติดกับคนในระบบเศรษฐกิจฐานรากมากที่สุด เมื่อเทียบกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ และด้วยความที่มีเครือข่ายครอบคลุมและกว้างไกล หากรัฐบาลจะดำเนินโครงการการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านกองทุนหมู่บ้านทั้ง 7.9 หมื่นกองทุนฯ โดยมอบหมายให้ สทบ. เป็นผู้ดูแลโครงการฯแล้ว เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว” นายรักษ์พงษ์ ระบุ
เช่นกัน ตลอด 1-2 เดือนที่ผ่านมา เป็น นายรักษ์พงษ์ ที่สร้างปรากฏการณ์ “กทบ.บนหน้าสื่อ” กล่าวคือ นำทีมฯ ลงพื้นที่เพื่อ...ตรวจเยี่ยม มอบนโยบาย และนำเอาความสำเร็จของการดำเนินงาน “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” ของกองทุนหมู่บ้านบางแห่ง ผ่านโครงการ “ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันเอง” ของกองทุนหมู่บ้านฯที่อยู่ห่างไกล ไปใช้เป็น “ต้นแบบ” เพื่อขยายแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานไปยังกองทุนหมู่บ้านอื่นๆ
ไม่เพียงแค่นั้น...สทบ. ยุคของนายรักษ์พงษ์ ยังเชื่อมประสานและต่อยอดความสำเร็จใหม่ๆ ด้วยการ...ดึงเอาพันธมิตรเก่งๆ มาช่วยเหลือสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ และที่ตกเป็นข่าวก่อนหน้านี้ คือ...การดึงเอา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มาร่วมในการยกระดับการผลิต ในเชิงกึ่งอุตสาหกรรมและการแปรรูปสินค้าเกษตร รวมถึงหาช่องทางการตลาด ผ่านระบบการค้าออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อสร้างหลักประกันว่า...
สินค้าที่สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ผลิตออกมาแล้ว...ต้องขายได้
ที่สำคัญ การดึงเอา...บริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) มาร่วมในการให้บริการ “รับขนส่งสินค้า” ของกองทุนหมู่บ้านฯ ในราคาพิเศษ ด้วยบริการที่สะดวกรวดเร็ว “ส่งเช้าถึงเย็นและส่งเย็นนี้ถึงเช้าพรุ่งนี้” ก็จะยิ่งสร้างและเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ทั้งเพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้ากันเอง และ/หรือ เพื่อจำหน่ายไปยังกองทุนหมู่บ้านอื่นๆ รวมถึงคนนอกกองทุนหมู่บ้านฯอีกราว 30 ล้านคน
ดูเหมือน...การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อาจกลายเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ ที่ สทบ. และนายรักษ์พงษ์ มีแผนจะเข้าไปเจรจา เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือในการ “รับขนส่งสินค้า” ของกองทุนหมู่บ้านฯ เหมือนที่ทำกับ บสข.
หากทำได้จริงอย่างนี้...โอกาสจะสร้าง “เศรษฐีกองทุนหมู่บ้าน...หน้าใหม่ๆ” ก็มีสูงอย่างมากทีเดียว!
เป้าหมายที่รัฐบาล และนายสมคิด คาดหวังจะเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้ทั้งระบบเศรษฐกิจและคนในชุมชนท้องถิ่น...เติบโต กล้าแกร่ง และยั่งยืน ก็มีสูง เพียงแต่ต้องใจกว้าง...กล้าที่จะเปิดโอกาสผ่านกองทุนหมู่บ้าน ทั้งกว่า...7.9 หมื่นแห่ง ที่มีสมาชิกและครอบครัวรวมกันราว 40 ล้านคน อย่างมั่นคง!