ผลสะเทือนจากคำตัดสิน “นาฬิกายืมเพื่อน” ของ ป.ป.ช. ที่ระบุว่า “พล.อ.ประวิตร” ไม่ผิด! ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินท้ายแบบบัญชีรายการหนี้สิน เพราะสินทรัพย์สินคงรูป? กระทบความเชื่อมั่นขององค์กรตรวจสอบภาครัฐ ที่ พล.อ.ประยุทธ์และบรรดาลูกหาบทั้งหลาย พยายามจะบอกสังคมไทยว่า...สภาผู้แทนราษฎร ไม่จำเป็นต้องจัดตั้ง กรรมาธิการตรวจสอบการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านของรัฐบาล เพราะมีหน่วยงาน อย่าง...สตง. ป.ป.ช. ปปง. ป.ป.ท. อยู่แล้ว แต่ล่าสุดก็ยอมถอยในเรื่องนี้!
แต่ก็ยังมีคำถามว่า “ความกลัวนำมาซึ่งความเสื่อม!”
สัจจธรรมข้อนี้ อาจทำให้ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ พัง! เพียงเพราะกลัวอำนาจการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎร และทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นข้อเสนอของฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล “ประชาธิปัตย์ – ภูมิใจไทย” ที่พยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งกรรมาธิการตรวจสอบการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านของรัฐบาล
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึง ส.ส.ในซีกของพรรคพลังประชารัฐ พยายามจะบอกกับสังคมไทยว่า...การใช้จ่ายเงิน โดยเฉพาะในซีกของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้งบประมาณก้อนหลัง 4 แสนล้านบาทของรัฐบาล ยังคงถูกตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจการตรวจสอบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น...สตง. ป.ป.ช. ปปง. ป.ป.ท. อีกทั้งยังมีคณะกรรมการกลั่นกรองที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานรัฐที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณเงินกู้ก้อนหนี้อีก
แต่ละคนที่ออกมาสนับสนุนแนวคิดของรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ ค่อนข้างจะมีต้นทุนทางสังคมไม่สูงนัก ล่าสุด การที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ออกมาแสดงความเห็นในเชิง “ไม่เห็นด้วย” กับข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้าน ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการจัดตั้งกรรมาธิการตรวจสอบการใช้เงินกู้ของรัฐบาล โดยย้ำว่า...มีหน่วยงานทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว และเกรงจะเกิดปัญหาการตามมา
“ผมมองว่าจะเกิดการทำงานทับซ้อนกัน และมั่นใจว่าผู้ใช้เงินต้องใช้เงินอย่างระมัดระวังอยู่แล้ว” นั่นคือ มุมมองของ ร.อ.ธรรมนัส
ในทางกลับกัน ถามว่า...คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ เชื่อมั่นการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลและหน่วยงานที่จะได้รับจัดสรรเงินก้อนนี้แค่ไหน?
คำตอบคือ ไม่มั่นใจพอๆ กับที่ไม่มั่นใจว่า...องค์กรตรวจสอบภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น สตง. ป.ป.ช. ปปง. ป.ป.ท. รวมถึงไปถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ จะดำเนินการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล อย่างจริงจังแค่ไหน?
ผลงาน 6 ปีของรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องถึงรัฐบาลพลังประชารัฐ พอจะเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดีว่า...องค์กรตรวจสอบเหล่านั่น ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีและตรงไปตรงมาแค่ไหนกัน?
ยิ่งการที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาระบุว่า...นาฬิกากว่า 20 เรือน ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อ้างว่า “ยืมเพื่อนมา” ไม่ผิด!
ไม่ผิด! เพราะเจ้าของ คือ นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เจ้าของนาฬิกา คนที่ให้ยืมใช้ในโอกาสต่างๆ นั้น จะได้รับนาฬิการคืน ทันทีที่ พล.อ.ประวิตร ใช้เสร็จ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า “การยืมดังกล่าวเป็นการยืมใช้คงรูป และการยืมใช้คงรูปแม้เป็นหนี้ แต่มิใช่หนี้สิน ตามที่ ป.ป.ช. กำหนดให้ต้องแสดงในแบบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะตามคำอธิบายการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินท้ายแบบบัญชีรายการหนี้สิน ล้วนหมายถึงหนี้สินที่เป็นเงินตราเท่านั้น มิใช่เป็นการยืมใช้สอยได้เปล่า และมีการคืนทรัพย์ให้แก่ผู้ยืม ดังนั้น พล.อ.ประวิตร จึงไม่มีหน้าที่ต้องแสดงการยืมนาฬิกาในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน” ทำเอาผู้คนในสังคมไทย เกิดอาการ “อึ้ง ทึ่ง งง” เป็นไก่ตาแตก! เอากันอย่างนี้เลยหรือ?
มุมมองที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการ และ ส.ส.พรรคอนาคต สวนกลับทันควัน! ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง โดยย้ำว่า...สิ่งนี้ อาจกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานและมาตรฐานใหม่ ต่อการซุกซ่อนทรัพย์สินของนักการเมืองและข้าราชการประจำในวันข้างหน้าหรือไม่?
ไม่ว่า...ปลายทางของเรื่องนี้ จะมีคำตัดสินใหม่ เพื่อลบล้างคำตัดสินเก่า กระทั่งเอาผิดกลุ่มคนใน ป.ป.ช. ที่ร่วมกันสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาหรือไม่นั้น
ข้อเท็จที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยวันนี้ ก็คือ...คนไทยไม่เชื่อมั่นการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. และองค์กรตรวจสอบอื่นๆ ทั้งภาครัฐและองค์กรอิสระ และนั่นจึงมีผลกระทบโดยตรงไปยังสิ่งที่รัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึง “กองหนุน” ที่พยายามบอกกับสังคมไทย ทำนอง...
“ไม่จำเป็นต้องมีกรรมาธิการตรวจสอบการใช้เงินกู้ของรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร เพราะทุกวันนี้...เรามีหน่วยงานที่คอยตรวจสอบอย่าง... สตง. ป.ป.ช. ปปง. ป.ป.ท. คอยทำหน้าที่ตรงนี้อยู่แล้ว”
เชื่อหรือ? จะมีคนเชื่อคำพูดในลักษณะนี้
ฟันธง! ได้เลยว่า...ผลสะเทือนจากคำตัดสินใจในคดี “นาฬิกายืมเพื่อน” ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในครั้งนี้...ได้ทำให้ภาวะ “ความล้มละลายทางเครดิต” ของ ป.ป.ช. และองค์กรตรวจสอบภาครัฐ ล่มสลาย ชนิดไม่เหลืออะไรอีกแล้วหรือไม่!