ขึ้นชื่อว่าเป็นนักการเมืองแล้ว จะเมื่อก่อนหรือวันนี้เป็นถูกตราหน้าว่า เข้ามาก็เพื่อ “สวาปาม” แบ่งเค้ก แบ่งผลประโยชน์กันเป็นหลัก จนกลายเป็นคำแสลงหูที่ทุกคนไม่อยากได้ยิน
แต่มาถึงรัฐบาลคสช.ที่มี “บิ๊กตู่”พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ที่ป่าวประกาศภารกิจของรัฐบาลปฏิรูปชุดนี้จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง และมุ่งขัดรากเหง้าของปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นชนิด “ขุดรากถอนโคน”!
แต่กับเรื่องของการ “แบ่งเค้ก”ที่เป็นคำ “แสลงหู”ของนักการเมืองในอดีต ในยุคปัจจุบันดูจะกลายเป็นเรื่อง Simple ธรรมดากันไปแล้ว...
โครงการเมกะโปรเจ็กต์โครงการแล้ว โครงการเล่าที่เราฝันว่ารัฐบาลปฏิรูปคสช.ชุดนี้จะเข้ามา “ยกเครื่อง-ปฏิรูป” รื้อระบบแบ่งเค้กประเคนสัมปทานไปให้เอกชนสวาปามกันนั้น
วันนี้นอกจากจะไม่ได้เห็นแล้ว พัฒนาการของการประเคนผลประโยชน์ของรัฐออกไปให้เอกชน ยังพัฒนาไปอีกขั้นผ่านนโยบายรัฐบาลเสียเอง
โดยเฉพาะการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือ “Public Private Partnership : PPP” ที่หากถอดรหัสถอดสัมการออกมามันก็คือ การถลุงเม็ดเงินภาษีประชาชนไปลงทุน แล้วประเคนสัมปทานออกไปให้เอกชน “สวาปาม”กันดีๆ นี่เอง!!!
โครงการรถไฟฟ้าไม่รู้กี่สิบสายทางที่ยึด “โมเดล PPP” คือถลุงภาษีประชาชน/หรือกู้เงินมาเป็นหมื่นล้านหรือแสนล้านไปลงทุนก่อสร้างแล้ว แทนจะให้ประชาชนได้ใช้บริการที่ถูกหรือได้ใช้ฟรีกันไป ก็กลับประเคนไปให้เอกชน “ชุบมือเปิบ”ผ่านนโยบายที่ช่วยกันสุมหัวเรียกว่า “PPP”
ไล่มาตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่ 23 กม.วงเงินลงทุนกว่า 68,000 ล้านบาท ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ที่สร้างเสร็จ ก็ประเคนสัมปทาน 30 ปีไปให้บริษัทเอกชนคือ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BEM ไป
มาถึงรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 28 กม.วงเงินลงทุน 83,123 ล้านบาทรัฐบาลและรฟม.ก็ประเคนให้เอกชนรายเดิมคือ BEM รับสัมปทานบริหารจัดการระยะยาว 30 ปีไปอีก ด้วยข้ออ้างเพื่อให้การเดินรถมีความต่อเนื่อง ภายใต้รูปแบบพีพีพีอีกโมเดล ที่สุดจะสรรหามาอ้าง
มารถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง 30.5 กม. 54,644 ล้าน สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี 34.5 กม. 56,725 ล้านบาท สายสีส้ม เฟสแรก ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 110,116 ล้านบาท สายสีเขียวส่วนต่อขยายเหนือ-ใต้ พหลโยธิน-คูคต (อนาคตคลอง5) กับสายใต้แบร่ิง -สมุทรปราการที่ใช้เงินลงทุนไปอีกกว่า 80,000 ล้าน งานนี้ กทม.เอง ก็ประเคนโครงการไปให้บริษัทเอกชน(รายเก่า)คือ BTS บริหารจัดการ 30 ปีตามรอยรถไฟฟ้า BTS ในปัจจุบัน
มาถึงรถไฟ ความเร็วสูง High Speed Train เชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่าลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาทก็เช่นกัน รัฐบาลก็อนุมัติหลักการดึงเอาเม็ดเงินภาษีหรือจัดหาแหล่งเงินกู้ไปให้เอกชนในช่วงก่อสร้างวงเงินร่วม 1.19 แสนล้านบาท หรือกว่าครึ่งของเงินลงทุน แต่กลับประเคน สัมปทานบริหารจัดการรถไฟฟ้าการพัฒนาที่ดินทั้งหลายทั้งปวงไปให้บริษัทเอกชนชุบมือเปิบไปร่วม 50 ปีแถมยังจ้องจะขยายสัมปทานไปถึง 99 ปีอีกด้วย
ไม่เพียงแต่รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่ต่างยึดโมเดลนี้ ล่าสุดกรมทางหลวง ก็จ่อเจริญรอยตามโดยเตรียมประเคนโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 2 สายคือมอเตอร์เวย์บางประอิน-แก่งคอย-โคราช ระยะทาง 250 กม.วงเงินลงทุน 76,600 ล้านบาท และมอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรีระยะทาง 106 กม. วงเงินลงทุน 49,120 ล้านบาท ที่ใช้เม็ดเงินภาษีก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ก่อนจัดทำแผนประเคนสัมปทานบริหารจัดการ-ซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลา 30 ปี ไปให้เอกชน"สวาปาม"เช่นกัน
นัยว่าเบ็ดเสร็จ ณ เวลานี้มีโครงการพีพีพีที่ “คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ” (พีพีพี) ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เห็นชอบโครงการที่เข้าสู่แผนยุทธศาสตร์พีพีพีปี 2558-2562 ไปแล้ว 66 โครงการวงเงินลงทุนรวม 1.662 ล้านล้านบาท โดยมีโครงการลงทุนที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทจำนวน12 โครงการมูลค่ารวม 720,000 ล้านบาท หรือสรุปให้ง่าย โครงการลงทุนขนาดใหญ่ระดับเกิน 1,000 ล้านที่รัฐใช้เม็ดเงินภาษีและเงินกู้ไปลงทุน ณ เวลานี้มีอยู่ 12 โครงการมูลค่ารวม 720,000 ล้านบาท
ขอโทษเถอะ! นี่หรือคือการ “ปฏิรูป” นี่หรือคือโครงการดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน? มันใช่หรือ?!!!
แม้จะเข้าใจว่างาน Civil Work ต้องลงทุนสูง-ครั้งเดียวจบ แต่งานบริหารจัดการที่เป็น Long term maintenance มันกินเวลานานนนนนน..ถึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและคล่องตัวเอกชนมาบริหาร หาไม่แล้วมันจะเกิดกรณีรัฐลงทุนก่อสร้างไปแล้ว ยังจะต้องไปแบกค่าบริหารจัดการบักโกรกตามมาอีกแบบกิจการรถไฟ หรือรถไฟฟ้า “แอร์พอร์ตลิงค์”
แต่ช่วยตอบสังคมให้หาย "กังขา"กันทีเหอะ กับ โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 2 สายที่ถลุงภาษีประชาชนก่อสร้างไปร่วม 150,000 ล้านบาท ก่อสร้างจนแล้วเสร็จนั้น มันต้องไปอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญ อะไรจากภาคเอกชนเขาหรือ
กะอีแค่ตั้งระบบคอมพิวเตอร์ จัดกำลังคน/เครื่องมือ วางระบบ by pass ลงทุนไม่กี่ร้อยล้านบาท มันต้องอาศัยความเชี่ยวชาญอะไรหรือ?
หน่วยงานรัฐไร้สติปัญญา-ความสามารถหรือ? ถึงต้องประเคนไปให้เอกชนดำเนินการโดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไร?
หรือกัยงานซ่อมบำรุงทาง ก่อสร้างถนนที่เป็นภารกิจ ดั้งเดิมของกรมทางหลวงอยู่แล้วนั้น สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องไปอาศัยความรู้ความเเชียววชาญอะไรจากภาคเอกชนเขาหรือ?
บางโครงการนั้นไม่เพียงจะประเคนให้เอกชนชุบมือเปิบ ยังออกกฎหมายรองรับการกระทำข้องเจ้าหน้าที่ให้เร่งรัดดำเนินการโดยไม่ให้มีการเอาผิดย้อนหลังได้อีกและบางโครงการนั้นยังงัดรูปแบบ PPP ฟาสต์แทร็คเร่งรัดการดำเนินโครงการเหล่านี้อีก อย่างโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี 5 โครงการมูลค่ากว่า 600,000 บาท
ทุกโครงการเหล่านี้ล้วนถอด"โมเดล"มาในนลักษณะเดียวกันนั่นคือการอาศัยเม็ดเงินภาษีหรือเงินกู้จากภาครัฐลงทุนไปในระดับ 40 - 60 % ก่อนจะประเคนหรือเอกชนเข้ามาชุบมือเปิบต่อยอดโครงการและรับสัมปทานกันไป
ก็ถ้ารัฐ-คมนาคม -ทางหลวง จะใช้วิธีนี้ ...ทำไมไม่ให้สัมปทานแก่เอกชนไปลงทุนเองเสียตั้งแต่แรก ไม่ต้องมาเบียดบังเอาภาษีประชาชนไปลงทุนกัน ไม่ใช่รัฐลงทุนไปกว่า 80- 90% แล้ว จ่ายเงินงบประมาณลงทุนไปหมดแล้ว จะเปิดใช้ฟรีก็ยังได้ แต่กลับประเคนไปให้เอกชนที่ลงทุนแค่ 10-20% ซึ่งก็แปลว่า ประชาชนยังต้องตามไปใช้หนี้ให้พวกทำนาบนหลังคนไปอีก 30 ปีเป็นการดึง “เอกชนร่วมลงทุน” ตรงไหนหรือ?
เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรี! คนจ่ายสุดท้ายยังไงก็ประชาชนผู้ใช้ทางอยู่ดี!
โดย..แก่งหินเพลิง