สภาพบังคับให้คนไทยต้องทำใจยอมรับกับการใช้ชีวิตในยุค New Normal ที่จำต้องพึ่งพิงการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในแบบ “ไทยเที่ยวไทย” และเปิดทางให้นักเที่ยวมีระดับจากต่างประเทศ เข้ามาท่องเที่ยวที่ไทยในลักษณะ Travel Bubble สิ่งนี้...คนไทย เตรียมรับมือกันแล้วหรือยัง?
หลายประเทศ เช่น...สหรัฐอเมริกา และชาติในฝั่งยุโรป รวมถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ฯลฯ ต่างเกิดปรากฏการณ์...เชื้อไวรัสโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่
เหตุเพราะ...รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนคนในชาติ แสดงอาการมั่นใจกันมากเกินไป ไม่ทันระมัดระวังการใช้ชีวิตในแบบ “รักษาระยะห่างทางสังคม” หรือ Social distancing ยุค New Normal กระทั่ง เกิดภาวะ “การ์ดตก” สร้างปัญหาและกระทบตามมา ทั้งในและนอกประเทศ
หันดูประเทศไทย...ต้องรับว่า เราเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลก ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ และภาคประชาชน ต่างตระหนักรู้และให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ในการป้องกัน แก้ไข และสกัดกั้น การแพร่ระบาดทั้งในระดับปกติ และหลังจากรัฐบาลประกาศผ่อนคลายกฎระเบียบในการคุมเข้ม เช่นที่เคยทำก่อนหน้านี้
ผลก็คือ...การติดเชื้อครั้งใหม่ ไม่เกิดขึ้นกับคนไทยในประเทศไทย ที่พบ...ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นคนไทยที่ใช้ชีวิต ทำงาน ท่องเที่ยว ศึกษาอยู่ในต่างแดน และจำเป็นจะต้องเดินทางกลับประเทศไทย
แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาชาวโลกสักเท่าใด
ความพร้อมด้านการแพทย์และบริการสาธารณสุข รวมถึงสถานการณ์ที่คนไทยในประเทศไทย ไม่มีปัญหาเรื่องติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อรวมกับความพร้อมในมิติอื่นๆ เช่น การมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีอาหารการกินหลากหลาย มีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม สารพัด..
คนต่างชาติและรัฐบาลในหลายๆ ประเทศ สนใจจะเลือกประเทศไทย เป็น “จุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยว” ให้กับคนในชาติของพวกเขา โดยเฉพาะพวกที่ต้องการจะหนีความหนาวเหน็บในช่วงฤดูหนายปลายปีนี้ อาทิ โซนยุโรปตอนเหนือ และกลุ่มประเทศอากาศหนาว
ทูตของหลายชาติ...ติดต่อขอให้ประเทศไทย ร่วมทำสัญญาด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน ในแบบที่เรียกว่าเป็น Travel Bubble หรือ การจับคู่ด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศที่มีความมั่นใจในความปลอดภัยของเชื้อไวรัสโควิด-19
ในภาวะที่รัฐบาลไทยกำลังตกอยู่ในช่วง “ถังแตก!” แถมหนี้สาธารณะของประเทศ ยังพุ่งอยู่ในระดับสูงมากถึงร้อยละ 57 ของจีดีพี เมื่อมีการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 รวม 3.3 ล้านล้านบาท ที่ยังคงเป็นงบประมาณขาดดุล แน่นอนว่า...หนี้สาธารณะของประเทศ ย่อมทะยานต่อไปเรื่อยๆ
ขณะที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากหลายๆ ปัจจัย ตั้งแต่...ผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่กระเทือนถึงภาคการส่งออกของประเทศไทย มาก่อนหน้านี้ แล้วยังจะมีปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก เกิดขึ้นต่อเนื่อง แค่นี้...ก็หนักหนาสาหัสมากอยู่แล้ว เมื่อต้องเจอปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระจายตัวไปทั่วโลก ยิ่งสร้างแรงสะเทือนได้รุนแรงเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก
ไหนจะภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบก่อนหน้านี้ ยังต้องถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากปัญหาด้านการท่องเที่ยว ที่หดตัวแรงเอามากๆ เกือบทั้งร้อยละร้อย เพราะจู่ๆ ก็หายไปดื้อๆ จากวิกฤตไวรัสโควิด-19 แท้ๆ
แน่นอนว่า...การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยเฉพาะจากกรมสรรพากร ที่เคยคาดหมายกันว่า...ในปีงบประมาณ 2563 จะจัดเก็บรายได้เกินกว่า 2.2 ล้านล้านบาท แต่เมื่อสถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะปัญหาโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ย่อมทำให้การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ หดหายไปเยอะมาก
อย่าว่าแต่ 2.2 ล้านล้านบาทเลย กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ให้ถึง 2 ล้านล้านบาท ก็ทำให้ได้เหอะ
ดังนั้น รัฐบาลในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของดรีมทีมเศรษฐกิจ ภายใต้การนำของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และทีม “4 กุมาร” ที่มีแนวโน้มจะไม่ได้อยู่ทั้งในคณะกรรมการบริหารของพรรคพลังประชารัฐ และ ครม.ลุงตู่ 2/2
จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องงัดทุกมาตรการ/โครงการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ...
เน้นการท่องเที่ยวในประเทศ ลักษณะ “ไทยเที่ยวไทย” ก่อน...เพราะทำได้ง่าย เนื่องจากสถิติบ่งชี้ชัด! ยอดติดเชื้อไวรัสโควิด-19 “รายใหม่” ของคนไทยในประเทศไทย เป็น “0” ติดต่อกันหลายวัน ที่พบก็เป็น “คนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ” อย่างที่เกริ่นในตอนต้น
สิ่งนี้น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญ...กระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศ
และอีกตัวที่น่าจะทำได้และรัฐบาลต้องรีบทำ นั่นคือ การท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble เพราะหากรอให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ต้องรอให้ถึงปี 2565 เลย...ถึงจะกลับสู่ภาวะปกติของการจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ลำพัง...การท่องเที่ยวในประเทศ แค่ “ไทยเที่ยวไทย” อาจไม่เพียงพอต่อการจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย จำเป็นจะต้องได้เม็ดเงินใหม่จากการท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble มาช่วยขยายลมหายใจเศรษฐกิจไทย
ส่วนจะทำได้แค่ไหน? คงต้องลุ้นกันจนเหงื่อตกนั่นแหล่ะ!
และเป็น...นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ที่ออกมายอมรับว่า ขณะนี้ ตนได้คุยกับสถานทูตหลายประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการแทรเวล บับเบิล เพื่อการท่องเที่ยวและการจับคู่ธุรกิจ จากนี้...จะเร่งร่างของเงื่อนไขต่างๆ ที่แต่ละประเทศจะรับได้ โดยโครงการนี้จะจับเป็นคู่ และดูความสามารถประเทศที่ควบคุมสถานการณ์โควิด-19
พร้อมกับย้ำว่า...สิ่งที่ประเทศไทยพอจะรับได้คือ ประเทศเหล่านั้นจะต้องมีผู้ติดเชื้อน้อยหรือไม่มีเลย มีธุรกิจที่มีความเร่งด่วน มาเสริมความจำเป็นเรื่องการลงทุนในประเทศไทย ต้องดูว่ากฎระเบียบของประเทศคู่เจรจา มีการคัดกรองอย่างไร ต่างคนต่างต้องยอมรับกฎระเบียบต่อกัน
“ประเทศที่เกิดการระบาดซ้ำ อาจลำบากที่จะคุยกันในเวลานี้ เพราะเราเน้นเรื่องความปลอดภัยของประชาชน และเงื่อนไขต่างๆ ต้องชัดเจน หากระบาด เราจะสมารถปรับเงื่อนไขต่างๆ ได้ หรือระงับข้อตกลงไว้ก่อน และเรื่องนี้ต้องผ่านการหารือในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค. อีกครั้ง” นายอนุทิน กล่าว และย้ำว่า
ภายในวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน นี้ น่าจะมีความชัดเจน ขอให้คนไทยอย่าได้ต้องกังวล เพราะรัฐบาลเจาะจงเฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว และต้องมีเวลาไป-กลับแน่นอน
ถึงตรงนี้...สังคมไทย คงทำใจยอมรับเงื่อนไข ภายใต้สถานการณ์ที่บีบบังคับให้ต้อง “ก้มหน้ารับ” เพราะทุกคนต่างรู้กันดีว่า...หากรัฐบาล ภาคธุรกิจ และคนไทย ไม่ทำอะไรแล้ว โอกาสที่เศรษฐกิจและธุรกิจในประเทศ จะกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงกับปกติ คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ส่วนการท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? กับประเทศไทย? และมีขอบเขตกว้างขวางแค่ไหน? สำคัญที่สุด คือ...จะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยหรือไม่? และจะก่อปัญหาการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือเปล่า?
อีกไม่นาน...คนไทยคงได้รู้กัน!
ว่าแต่วันนี้...เราเตรียมความพร้อมรองรับชีวิตในยุค New Normal และการต้อนรับนักท่องเที่ยวในแบบ Travel Bubble มากน้อยแค่ไหนกัน?