“แก่ง หินเพิง” ไม่แปลกใจเลยกับการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจ GDP ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กบง.) และแบงก์ชาติล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2563 ลงจากเดิมคาดการณ์ติดลบ 5.3% ไปเป็นติดลบ 8.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ทั้งที่ประเทศไทยนั้น ได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ดีที่สุดเป็นประเทศต้นๆ ของโลก และน่าจะมีโอกาสฟื้นฟูประเทศได้ก่อนมหาอำนาจอื่น ๆ ของโลก เพราะจนถึงวันนี้เรามีผู้ติดเชื้อเพียง 3,000 ราย มีผู้เสียชีวิตไม่ถึง 60 รายเท่านั้น ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ไปแล้วกว่า 10 ล้านคน และเสียชีวิตเกิน 500,000 คนเข้าไปแล้ว
อีกทั้งก่อนหน้านี้ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังดูจะเป็นรัฐบาลประเทศแรกๆ ของโลกที่เร่งผลักดันงบประมาณลงไปในระบบเศรษฐกิจ ทั้งเพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อม โดยรัฐบาลได้เสนอ 3 พระราชกำหนดวงเงินรวมกว่า 1.9 ล้านล้านบาทเพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น
แต่วันวาน นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับออกมาแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
พร้อมกันนี้ กนง. ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวติดลบ 5.3% ลงไปเป็นขยายติดลบ 8.1% เนื่องจากการระบาดของโควิด -19 ทั่วโลก ส่งผลกระทบการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยรุนแรง โดยคาดว่า การส่งออกจะติดลบ 10.3% และมีนักท่องเที่ยวลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 8.8% และคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยเพียง 8 ล้านคนเท่านั้น ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 15 ล้านคน
ส่วนการบริโภคภาคเอกชน คาดว่า จะติดลบ 3.6% จากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 1.5% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ติดลบถึง 13.8% จากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 4.3% โดยมีเพียงการลงทุนภาครัฐเท่านั้น ที่คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกที่ระดับ 5.8% เท่าคาดการณ์เดิม ส่วนเศรษฐกิจไทยปีหน้า คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกที่ 5% จากเดิมที่คาดว่าไว้ 3%
แถมวันดีคืนดี นายวิรไทย สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ยังออกประกาศ ธปท.ไปยังธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบสั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำหรับระยะ 1-3 ปีข้างหน้าเพื่อนำเสนอ ธปท.โดยให้คำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และศักยภาพลูกหนี้ในการทำธุรกิจหลังโควิด-19 คลี่คลาย นอกจากนั้น ยังขอให้งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานในปี 2563 รวมถึงงดการซื้อหุ้นคืน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องด้วยอีก
ฟังถ้อยแถลงของแบงก์ชาติข้างต้นแล้ว บอกตามตรงผมไม่แปลกใจเลย ว่าเหตุใดเงินกู้กว่า 1 ล้านล้าน หรือ 1.9 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลชุดนี้บากหน้ากู้ไปสิบทิศด้วยตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ลูกหลานไทยลืมตาอ้าปากขึ้นมาก็เป็นหนี้หัวโต แต่ทำไมจึงไม่สามารถจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ผงาดขึ้นมาได้ ทั้งที่ปัจจัยในเรื่องของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสก็ไม่มี
เหตุผลนั้นก็เพราะ หากเป็นการกู้เงินมาลงทุนใน Real Sector ลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สามารถจะสร้างศักยภาพและขีดความสามารถให้แก่ผู้คน แก่ระบบเศรษฐกิจ เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับทุกอณูของระบบเศรษฐกิจแล้ว คงไม่มีปัญหา
แต่ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดีว่า เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลกระเตงผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ไส้ในเงินกู้ครั้งประวัติศาสตร์ก้อนนี้ ถูกละเลงหมดไปกับมาตรการเยียวยาที่แทบจะหาสาระอะไรไม่ได้เลย เป็นเงินให้เปล่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าเท่านั้น โดยมีเม็ดเงินเพียง “ส่วนน้อย” ไม่ถึง 400,000 ล้านบาทเท่านั้น ที่ถูกระบุว่า จะนำไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือในโครงการที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งก็ไม่รู้ไส้ในเงินก้อนสุดท้ายนี้จะนำไปลงทุนตามนั้นจริงหรือไม่อีก
เมื่อคลี่ไส้ใน 3 พระราชกำหนดการกู้เงินดังกล่าวที่แทบจะเป็นการ “ตีเช็คเปล่า” กันออกไปนั้น เราพบว่า มีวัตถุประสงค์ แนวทาง และเป้าหมายการใช้จ่ายที่บ่งบอกเอาไว้อย่างชัดเจน โดย พ.ร.ก.ฉบับแรก คือ พ.ร.ก.เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ ก้อนแรก 1 ล้านล้านบาทนั้น ถูกจำแนกเอาไว้ว่า จะเป็นเงินกู้เพื่อใช้ในการพัฒนาความพร้อมด้านสาธารณสุขและการแพทย์ 45,000 ล้านบาท เพื่อการช่วยเหลือประชาชนโดยตรง อย่างโครงการเราไม่ทิ้งกัน ฯลฯ 555,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ ไม่ได้มีความเกี่ยวโยงใดๆ กับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือทำให้เงินหมุนเวียนอะไรเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นเพียงเงินเยียวยาที่จ่ายออกไปแล้ววูบหายเข้ากลีบเมฆไปเท่านั้น
ขณะที่งบลงทุนที่จะใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจริง ๆ ตั้งเอาไว้แค่ 400,000 ล้านบาทนั้นก็ยังไม่รู้ไส้ในจริงๆ แล้วจะไปลงทุนอะไร หากเอาไปลงทุนแค่จัดฝึกอบรมอาชีพให้แก่ผู้คน เสริมทักษะอะไรต่อมิอะไรอันเป็นบทถนัดที่หน่วยงายรัฐทั้งหลายชอบตั้งแท่นดำเนินการน อันนั้นก็น่าห่วง เพราะสุดท้ายแล้วมันก็จะหายเข้ากลีบเมฆไปอีก
ส่วน พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพระบบการเงินฯ ที่ให้แบงก์ชาติลงทุนผ่านกองทุนแบบ Backstop funds (BFS) จำนวน 4 แสนล้าน เพื่อไปซื้อหุ้นกู้ของบริษัทไทยที่มีคุณภาพ หรือพูดง่าย ๆ คือ หุ้นกู้คุณภาพดีที่กำลังจะถึงเวลาจ่ายเงินคืน หรือจ่ายผลตอบแทน เงินก้อนนี้เป็นเสมือน Bridge financing ชั่วคราว 6 เดือน ซึ่งเอาเข้าจริงจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหนนั้นยังต้อง”ปูเสื่อ”ติดตามกันดูอีกหลายยก เพราะธุรกิจที่จะบ่ายหน้าเข้าพึ่งพาเงินกู้ที่ว่านั้นย่อมต้องเสี่ยงกับชื่อเสียง เครดิตของธุรกิจตนเอง เพราะจะทำให้ตลาดมองว่าเครดิตบริษัทไม่ดี ไม่มีใครลงทุน หรือไม่มีแบงก์ใดให้กู้แน่ ๆ
ส่วน พ.ร.ก. เงินช่วยเหลือสินเชื่อวิสาหกิจฯจำนวน 500,000 ล้านเป็น Soft loan ผ่านธนาคารต่าง ๆ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อปล่อยกู้ให้วิสาหกิจที่เป็นลูกค้าเดิมของตนเองในอัตราดอกเบี้ย 2% โดยมีกติกาว่าต้องปลอดดอกเบี้ยในช่วง6 เดือนแรกนั้น จนถึงวันนี้กิจการเอสเอ็มอีน้อย-ใหญ่ก็ยังร้องแรกแหกกระเชอเข้าไม่ถึงเงินกู้ซอฟท์โลนที่ว่านี้
ดังนั้น บทสรุปเงินกู้ 1.9 ล้านล้าน ที่ถือเป็นการกู้ครั้งประวัติศาสตร์ ที่ลากเอาหนี้สาธารณะของประเทศทะยานขึ้นไปติดยอดดอยนั้น หากจะฟันธงว่าเงินกู้ก้อนนี้ไม่ต่างไปจากมหกรรม “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ก็คงไม่ผิดนัก แต่ผลพวงของเงินกู้ก้อนหนี้ คงจะทำให้ลูกหลานที่ลืมตาขึ้นมาดูโลกต้องเป็นหนี้กันตั้งแต่อยู่ในท้อง และอาจจะต้องช่วยกันชดใช้หนี้ที่คนแก่ยุคนี้ทิ้งไว้ดูต่างหน้ากันไปอีก 7 ชั่วโคตรโน้นแหล่ะ
เพราะมองดูอนาคตประเทศหลังพรรคแกนนำรัฐบาลเพิ่งจะเปลี่ยนบังเหียนเปลี่ยนม้า(แก่)กลางศึกไปนั้น สำหรับ แก่ง หินเพิง แล้ว ได้แต่ทอดถอนหายใจจริงๆ ครับ ลำพังแค่การ “เปลี่ยนม้ากลางศึก” โบร่ำโบราณเขาก็ห้ามนักห้ามหนากันอยู่แล้ว
แต่นี่อะไร ดันเปลี่ยนเอา “ม้าแก่” เข้ามากรำศึกเอาซะงั้น มันจะไหวเหรอลุง!!!!
โดย..แก่ง หินเพิง