เป็นอีกร่างกฎหมายที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่ในขณะนี้ว่า กระทบวิถีชีวิตชาวนาทั้งระบบ 15 ล้านคนถึงขั้นอาจทำให้อนาคตชาวนาไทยสูญสลายไปเลยทีเดียว
นั่นคือเรื่องของ ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังจาก รัฐบาล คสช.ชุดนี้เร่งรัดดำเนินการผลักดันให้ สนช.ทำคลอดร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อหวังจะให้เป็นของขวัญแก่ชาวนาไทย แม้ล่าสุดสนช.จะยอมชะลอการพิจารณาในเรื่องนี้ แต่”วิษณุ เครืองาม”รองนายกฯชี้ว่า สนช.ยังมีเวลาพิจารณาพ.ร.บ.ฉบับนี้ถึง 8 มีนาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ข้าว พ.ศ..ยังคงเป็นข้อกังขาว่า จะเป็นของขวัญชาวนาไทยหรือระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่กำลังจะทำลายวิถีชีวิตชาวนาไทยกันแน่!
ล่าสุด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ4 สมาคมที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมโรงสีข้าว สมาคมผู้ส่งออกข้าว สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว และสมาคมชาวนาไทย ได้จัดเสาวนและร่วมกันแสดงพลังคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างหนัก
โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ เผยว่า มาตราที่จะเป็นผลเสียหายต่อ “วงการข้าว” คือ การพัฒนาพันธุ์ข้าว ซึ่งได้ระบุว่า การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ยังไม่ได้รับการรับรองพันธุ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 27/1 และมาตรา 33/2)
“โดยมาตรานี้จะปิดกั้นขัดขวางการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ของไทย ซึ่งในอดีตข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลายพันธุ์ที่กลายเป็นพันธุ์ยอดนิยมได้แพร่หลายไปในหมู่ชาวนาก่อนที่หน่วยราชการจะให้การรับรองพันธุ์ด้วยซ้ำ และมาตราที่จะเป็นผลเสียหายต่อชาวนาเอง คือ มาตรา 27 จะปิดกั้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ อีกด้วย โดยทั้งหมดให้อำนาจไปที่กรมการข้าว ยิ่งกว่าตำรวจ เหมือนการค้าข้าวเป็นอาชญากรรม หากไม่กระทำตามมีความเสี่ยงถึงโทษจำคุก 3-5 ปีก็มี”
ด้าน นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า นิยามของคำว่า ข้าวสาร ข้าวเปลือก ผู้ร่างแทบไม่เข้าใจคุณลักษณะของข้าวด้วยซ้ำ การจดทะเบียนและขึ้นทะเบียนในมาตรา 19 ที่ต้องมีผู้ตรวจสอบคุณสมบัติ คนที่อยู่ในวงการรู้ดีว่า ใครจะเข้ามาตรวจสอบ ตรงนี้จะเป็นการเปิดช่องโหว่ให้คนกลุ่มนี้เข้ามาหาผลประโยชน์หรือไม่
ไม่เพียงแต่ร่าง พรบ.ข้าว พ.ศ....ที่กำลังถูกผู้คนในสังคมตั้งข้อกังขาว่า การผลักดันกฎหมายเหล่านี้ขึ้นมานั้นเป็นไป เพื่อประโยชน์สาธารณะและประชาชนคนไทยอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือเป็นไปเพื่อ มาเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนผูกขาดเมล็ดพันธ์ และการจำหน่ายเมล็ดพันธ์ข้าวกันแน่
เพราะทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดี ชาวนาไทยทำนาและเก็บเมล็ดพันธ์เอาไว้เพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปเป็นหลัก หากมีเหลือก็มักจะแบ่งปันญาติพี่น้องกันตามมีตามเกิด ไม่ได้คาดหวังกับการค้าเมล็ดพันธ์ การจะเอาแต่กฎหมายมาจับ จัดระเบียบการจัดเก็บเมล็ดพันธ์จึงถูกผู้คนในสังคมตั้งคำถามเป็นไปเพื่อการใดกันแน่
เช่นเดียวกับ ร่าง พรบ.จัดตั้งสภาดิจิทัลแห่งประเทศไทย พ.ศ.....ที่รัฐบาลปาดหน้าให้ สนช.ชุดเดียวกันทำคลอดกันออกไปวันวาน ที่กำลังถูกผู้คนในสังคมและแวดวงโทรคมนาคมและดิจิทัลทั้งหลายตั้งข้อกังขา เป็นไปเพื่ออุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศหรือเพื่อนายทุนยักษ์ที่กำลัง”กินรวบ”ประเทศไทย กันแน่
เมื่อต้นร่างของการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ หาได้มาจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่มาจากการผลักดันอย่างสุดลิ่มของกลุ่มทุนยักษ์โทรคมนาคมที่หวังจะหาเวทีให้แก่ตนเอง หวังผลักดันคนของตนเข้าไปนั่งอยู่ในสภาดิจิทัลแห่งชาตินี้
จะเป็นไปเพราะหวังดีต่อประเทศหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ ดังที่ทุกฝ่ายคาดหวัง หรือเพื่อจะได้วางหลักเกณฑ์ในอันที่จะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองเป็นหลักนั้น ย่อมรู้แก่ใจกันดี!