แนะ 4 แนวทาง “นายกฯ-ทีมเศรษฐกิจใหม่” แก้ปัญหาปมเศรษฐกิจ “เพิ่มอำนาจซื้อประชาชน - เว้นวรรคหนี้ภาคธุรกิจ 2 ปี –ปั้มเงิน 2 ลล. ใส่ระบบ - เร่งจัดเลือกตั้งท้องถิ่น” เตือน! อย่าอิง “รัฐราชการ” มากเกินไป เหตุเป็นคนกลุ่มเดียวที่ไม่เคยรับผลกระทบจากวิกฤตใดๆ ทั้งสิ้น ชี้! เลือกเท่ากับ “ใช้คนผิด(เนื้อ)งาน”
จบไปแล้ว!
สำหรับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และทีม “สี่กุมาร” นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่ประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ “วันหวยออก” 16 กรกฎาคม 2563
ไม่ว่า...นายสมคิดและทีม “สี่กุมาร” จะหยุดนิ่ง หรือวิ่งเต้นตั้งพรรคการเมืองใหม่ คงไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อปมปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศ เทียบเท่ากับการที่ใคร? จะเข้ามาทำหน้าที่แทนคนกลุ่มนี้
นักการเมืองน้ำเน่า...ปล่อยข่าวแย่งเก้าอี้ ยังคงมีให้เห็น ตราบใดที่การวางคนใน...ครม.ลุงตู่ 2/2 ยัง “ไม่สะเด็ดน้ำ”
ยามนี้...มีการปล่อยชื่อของคนที่จะเข้ามาทำงานใน “ทีมเศรษฐกิจ” กันบ้างแล้ว “2 ชื่อ” ในกลุ่มนั้น มี...นายปรีดี ดาวฉาย กับเก้าอี้ รมว.คลัง และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ว่าที่ รมว. พลังงาน ซึ่งสายข่าวยืนยันตรงกัน...
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลชุดนี้ ได้ทาบทามคนทั้ง 2 จริง! รวมถึงคนอื่นๆ ที่จะเข้ามาทำงานในโควต้ากลางของนายกรัฐมนตรี ด้วย...
แต่จะมาครบทีมอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่? ต้องลุ้น!
ประเด็นคือ ถึงตรงนี้...ยังไม่ชัดเจนเลยว่า เก้าอี้รัฐมนตรีในกลุ่ม “สี่กุมาร” นั้น โควตาเป็นของใครกันแน่!
ระหว่าง...พล.อ.ประยุทธ์ หรือพรรคพลังประชารัฐ?
ฉะนั้น หากประเด็นข้างต้น ไม่ได้รับการ “เคลียร์คัท” ให้ชัดเจน อาจส่งผลกระทบต่อการส่งเทียบเชิญ “คนนอก” เข้าร่วมงานกับ “รัฐบาลลุงตู่” รึป่าว?
ลำพัง...นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร “เพื่อนรัก” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งภรรยาของทั้ง 2 คน ยังเป็นเพื่อนร่วมงานสอนนิสิตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คงไม่กระไร? โควตากลาง...คงจัดวางลงได้ไม่ยากนัก แต่กับเก้าอี้ รมว.พลังงาน ที่คนในพรรคพลังประชารัฐอย่างน้อย 2 คน คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสันติ พร้อมพัฒน์ ที่ต่างก็แอบหวังลึกๆ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องแลกด้วยอะไร?
คุ้มไหม? หากต้องแลกกับ “เก้าอี้ รมว.คลัง” ซึ่งในสถานการณ์ยามนี้...การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องดำเนินการผ่าน “มาตรการทางการคลัง” และหากเป็นเงื่อนไขที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจ “แลก” กันจริงๆ แล้ว...
คนที่ไม่เคยผ่านร้อนผ่านหนาว ทั้งในทางการเมืองและระบบราชการแบบไทยๆ อย่าง...นายปรีดี ยังจะรับไหวไหม?
กระนั้น ไม่ว่าใครจะมาหรือใครจะไป? “ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่” จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? คงไม่สำคัญเท่ากับแนวนโยบายที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
อะไรที่คิดว่า...ทีมเศรษฐกิจชุดเก่าทำได้ดีแล้ว ก็ต้องสานกันต่อ...อะไรที่ยังไม่ดี หรือดีไม่พอ จำเป็นจะต้องปรับปรุงแก้ไข ปรับเปลี่ยน หรือยกเลิกแล้วสร้างมาตรการใหม่ ก็ต้องทำ...ทำเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นของคนไทย นักธุรกิจและนักลงทุนไทย กลับมาให้ได้ก่อน
เรื่องต่างประเทศเอาไว้ทีหลัง เพราะถึงอย่างไร? กว่าที่เครื่องยนต์ภายนอกประเทศ จะกลับมาขับเคลื่อนได้ใกล้เคียงภาวะปกติก่อนหน้านี้ อาจต้องใช้เวลานานถึง 2-3 ปี ฉะนั้น...เอาเรื่องภายคนในประเทศเสียก่อน
สิ่งหนึ่ง...ที่ “ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่” ต้องเคลียร์ให้ชัด! คือ จะเอาอย่างไรกับ “ระบบราชการไทย”
อย่างลืมว่า...การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งก่อนหน้า และหลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 นั้น นายสมคิด และทีม “สี่กุมาร” ต่างพึ่งพิงระบบราชการให้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ/มาตรการต่างๆ มากเกินไป
ทั้งที่ข้อเท็จจริง! ข้าราชการไทยแทบไม่เคยอยู่ในชะตากรรม “ตกงาน-ไร้เงินเดือน” เลย แถมส่วนใหญ่จะได้รับ “รัฐสวัสดิการ” เหนือกว่าประชาชนคนทั่วไปมากมาย และหากจะต้องผ่อนบ้านพักอาศัย นอกเหนือจากพวกที่อยู่บ้านหลวงฟรี! แล้ว ก็มักจะได้รับสิทธิพิเศษและเงื่อนการผ่อนชำระที่ผ่อนปรนสุดๆ
การเอาคนกลุ่มนี้...มาคิดแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องของชาวบ้าน และเศรษฐกิจฐานราก โดยที่พวกเขาไม่เคยมีปัญหาเรื่องปากท้องมาก่อน ความสัมฤทธิ์ผลของเนื้องาน...มันจึงเป็นอย่างที่เห็นจากมาตรการ “ชิมช้อปใช้”, มาตรการเยียวยา...เราไม่ทิ้งกัน และอื่นๆ รวมถึงล่าสุด! กับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ ที่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
แต่พอเดากันได้ว่า...ที่สุด! มันจะลงเอยอย่างไร?
นาทีนี้...คนเป็น “หัวหน้ารัฐบาล” มีดีกรีพ่วง “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” อาจต้องตัดสินใจใช้อำนาจที่มี ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั่นคือ ยึดการตัดสินใจในแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ให้เป็น “หนึ่งเดียวกัน” ใครผิดจากนี้...ปลดออกไป
พร้อมกำหนดแนวทางการดำเนินงาน ทิศทางและเป้าหมายให้ชัดเจน! ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เป็นที่ตั้ง!
สิ่งที่ควรต้องทำคือ...ทำอย่างไรจึงจะเพิ่ม “อำนาจซื้อ” และ “ลดรายจ่าย” ให้กับประชาชน คนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นไปได้หรือไม่? ที่จะย้อนกลับไปศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาปากท้องเหมือนในอดีต ที่รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยสร้างแบรนด์สินค้า “สินไทย” ขายราคาถูกให้กับคนไทยในปี 2523 พร้อมกับ...ซื้อผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าว น้ำตาล น้ำมันปาล์ม และสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปจากภาคเกษตรกรรรม แล้วปะแบรนด์อย่างที่เคยทำกับ “สินไทย”
เป็นการยิงปืนได้นกหลายตัว...ตัวหนึ่งคือ ภาคประชาชน อีกตัวหนึ่งคือ...เกษตรกรและผู้ผลิตในกลุ่มวิสาหกิจขนาดเล็ก
ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างสภาวะ “หยุดนิ่ง” ให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ ด้วยการ “เว้นวรรค” ทุกสิ่งอย่างเป็นเวลา 2 ปี ทั้งการพักชำระหนี้ “เงินต้นและดอกเบี้ย” การใส่เม็ดเงิน ผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสุด 0.01% โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน แต่ยิงตรงไปยังผู้ประกอบการเลย ซึ่งจะทำให้กว่า 5 ล้านเอสเอ็มอีอยู่ได้อย่างดี แต่มีเงื่อนไข คือ ต้องคงการจ้างงานเอาไว้ต่อไป
ประการต่อมา...ต้องให้แบงก์ชาติ พิมพ์แบงก์เพิ่มขึ้น ในปริมาณที่มากพอกับการดำเนินงานใน 2 ข้อแรก เพื่อแก้ไขปัญหาเงินฝืด และสร้างสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งตัวเลขที่เหมาะสมกับการ “เว้นวรรค 2 ปี” น่าจะอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท
“ข้อดี” อีกประการคือ เมื่อมีเงินในระบบมากขึ้น ปัญหาเงินบาทแข็งค่า เพราะมีเงินดอลลาร์ไหลเข้ามาพักในประเทศ แม้จะเป็นแค่ “ระยะสั้น” ก็จะคลายตัวลงทันที!
ประการสุดท้าย รัฐบาลจะต้องเร่งจัดการ “เลือกตั้งท้องถิ่น” โดยเร็วที่สุด! เพราะมากกว่าเงินงบประมาณที่จะใช้เพื่อการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับ...ทั่วประเทศนั้น ก็คือ...การที่มีเงินนอกระบบจำนวนมาก และมากกว่าหลายสิบเท่าตัว เมื่อเทียบกับงบประมาณที่รัฐบาลจะใช้เพื่อการ “เลือกตั้งท้องถิ่น” ไหลเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของประชาชน
สร้างเม็ดเงินและอำนาจการซื้อให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้หลายรอบ
นี่แค่บางส่วนของ “หนังตัวอย่าง” ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ และ “ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่” อาจต้องฟัง! และนำไปหลอมรวมกับแนวนโยบายของตัวเอง แต่ที่จะต้อง “ห้ามลืม” โดยเด็ดขาด! ก็คือ...
อย่าได้...หวังพึ่งพิง “ระบบราชการไทย” เป็นอันขาด! คนพวกนี้...เลือกใช้ในบางเรื่องและใช้ให้เป็น แต่อย่าฝากความหวังหรือปล่อยให้ “คิดเอง...เออเอง” เหมือนที่ นายสมคิดและทีม “4 กุมาร” เคยทำผิดพลาดกันมาแล้ว!
เพราะนั่นเท่ากับ...เป็นการใช้คนผิดกับลักษณะงานที่ทำ? เพราะคนพวกนี้...ไม่เคยเจ็บจริง! ตายจริง! เหมือนภาคเอกชนและประชาชนคนไทย!