จ่อจะเรียกแขกให้งานเข้าและคงจะทำเอาเจ้ากระทรวงคมนาคมและผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั่งไม่ติดกันละงานนี้
กับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่ไม่รับคำร้องของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ที่ขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีค่าโง่โฮปเวลล์ กลับมาพิจารณาใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้าศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2562 สั่งให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้คืนหลักประกันทางการเงิน และจ่ายคืนเงินลงทุนแก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 11,888 ล้าน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
เป็นการ "ปิดฉาก"มหากาพย์ค่าโง่โฮปเวลล์ ที่ยังความเสียหายแก่รัฐสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์
(ใครที่เกิดไม่ทัน และอยากศึกษาตื้น-ลึกหนาบางของโครงการโฮปเวลล์นี้อย่างละเอียด เหตุใดจึงจบลงด้วยค่าโง่อัปยศนับหมื่นล้านเช่นนี้ได้ ผมขอแนะนำให้ไปหาพ็อกเก็ตบุ๊คที่ชื่อว่า "พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 : หนามยอกอกเมกะโปรเจ็กต์" ที่เขียนโดย ชูชาติ สว่างสาลี และ "เนตรทิพย์" แห่ง นสพ.ไทยรัฐเมื่อปี 2550 มาอ่านดูครับเพราะเขารวบรวมเอาไว้อย่างละเอียดและฟันธงเอาไว้ตั้งแต่แรกว่ามันจะจบลงด้วยค่าโง่นับแสนล้านตามมา ตามห้องสมุดในมหาวิทยาลัยต่างๆ น่าจะพอมีอยู่ครับ)
เหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำร้องของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ที่ขอให้รื้อฟื้นคดีใหม่นั้น "แก่ง หินเพิง" คงจะไม่สาธยายอะไรให้ยืดยาว เพราะสื่อต่างๆ คงลงรายละเอียดไปกันหมดแล้ว แต่เอาเป็นว่า ประเด็นที่อัยการ (ซึ่งก็ไม่รู้คนไหน) และการรถไฟฯ กับกระทรวงคมนาคม เพิ่งจะมาตรัสรู้ได้ว่า มีช่องทางที่จะพลิกฟื้นคดีนี้ไม่ให้ภาครัฐต้องจ่ายค่าโง่ที่นับจาก วันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาด มาจนปัจจุบันนั้น ปาเข้าไปกว่า 2.4 หมื่นล้านแล้ว
ทั้งเรื่องที่ว่าคำพิพากษาของศาลปกครองไม่ตรงกับสภาพข้อเท็จจริงแห่งคดี หรือกรณีบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง เจ้าของโครงการนี้ แอบถอนหุ้นหรือขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ออกไปให้แก่กลุ่มทุนมอริเชียสไปตั้งแต่ปี 2548 ทั้งที่ตามสัญญาสัมปทานนั้น บริษัทต้องคงสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่เอาไว้อย่างน้อย 30% ตลอดระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี
จึงเป็นหลักฐานใหม่ที่การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม คาดหวังว่าจะเป็น “ไพ่ตาย” ที่จะทำให้รัฐบาลและการรถไฟฯ สามารถพลิกคดีค่าโง่โฮปเวลล์นี้ จนถึงขั้นที่อาจไม่ต้องเสียค่าโง่เลยนั้น วันนี้ก็เป็นอันยุติแล้วว่า ศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟอกฟื้นคดีใดๆ อีกแล้ว
จะว่าไปหลักฐานเด็ดที่ถือเป็นไม้ตายของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ที่ว่านั้น ไม่เพียงจะลากเอาโครงการนี้หลงเข้ารกเข้าพงแล้ว มันยังทำให้รัฐและการรถไฟฯ นั่นแหละต้องเผชิญกับ “ค่าโง่ดับเบิ้ลโง่” หนักยิ่งขึ้นไปอีก
เพราะหากนับเนื่อง จากกำหนด 180 วันที่ศาลปกครองสูงสุด สั่งให้การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม จ่ายเงินชดเชยความเสียหายคืนกลับบริษัทคือวันที่ 22 ตุลาคม 2562 มาจนถึงวันนี้ที่ปาเข้าไปกว่า 9 เดือน ร่ำๆ จะยืดออกไปเป็นปีนั้น สำหรับบริษัทโฮปเวลล์แล้ว ยิ่งประวิงเวลาการจ่าเงินชดเชยออกไปนานเท่าใด ก็ยิ่งเข้าทาง....(ตีน) บริษัท
อย่าลืมว่า เงินชดเชยตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้น นอกจากจ่ายคืนเงินต้น 11,888 ล้านบาทแล้ว ยังต้องบวกดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับจากวันที่อนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาด คือ นับจากเดือนธันวาคม 2551 ที่หากนับเนื่องมาถึงวันนี้ เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยก็ปาเข้าไปกว่า 2.4 หมื่นล้านบาทเข้าไปแล้ว หากลากไปได้สัก 3-5 ปี ก็มีสิทธิ์ที่มูลค่าความเสียหาย จะทะลักขึ้นไปเป็น 4-50,000 ล้านบาทได้ ทำเป็นเล่นไป
นี่ก็มีข่าวสะพัดอีกว่า การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ยังดิ้นสุดขั้วเพื่อหาทางประวิงเวลาการจ่ายเงินชดเชยที่ว่า ถึงขั้นอาจจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด หรือศาลอื่น เพื่อขอให้พิจารณาว่า สัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์นี้ เป็น "โมฆะ" มาตั้งแต่ต้นอีก
สำหรับ "แก่ง หินเพิง" แล้วอยากจะเรียนว่า บรรดาหลักฐานเด็ด ไม้ตายสำคัญที่การรถไฟฯ และคมนาคมเพิ่งจะมาตรัสรู้กันได้วินาทีนี้ ไม่ว่าจะเรื่องสถานะของบริษัทโฮปเวลล์ ที่กระทำผิดสัญญา ไม่เป็นไปตามสัญญา จดทะเบียนไม่ถูกต้อง สัญญาสัมปทานถือเป็นโมฆะมาตั้งแต่แรกอะไรนั้น หากรัฐจะต่อสู้ด้วยประเด็นปลีกย่อยเหล่านี้ เหตุใดจึงไม่นำขึ้นต่อสู้ตั้งแต่ปีมะโว้โน้น มัวเก็บงำไว้ทำสากอะไร ทำไมจึงเพิ่งจะมาตรัสรู้และทักท้วงเอาหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาไปหมดสิ้นแล้ว
ตอนที่ "รมต.เต้าหู้ยี้" กระเตงแนวทางบอกเลิกสัญญาเข้าที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2541 เพื่อสั่งการให้การรถไฟฯ มีหนังสือบอกเลิกสัญญานั้น พวกท่านมัวไปมุดอะไรกันอยู่ที่ไหนหรือ? ถึงได้ปล่อยให้เขาฉีก/เลิกสัญญากัน “สุดชุ่ย” ได้ โดยไม่คิดจะทักท้วง หรือตรวจสอบการบอกเลิกสัญญาให้มันรอบคอบและถูกต้องหรือไม่
เพราะแนวทางการบอกเลิกสัญญาของคมนาคมและรถไฟฯ ในเวลานั้น ไปลากเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาเป็นเครื่องมือในการเลิกสัญญาสัมปทานโครงการนี้ ทั้งที่คู่สัญญาเอกชน คือ บริษัทโฮปเวลล์ได้ร้องแรกแหกกระเชอปาว ๆ ๆ ว่า เป็นการบอกเลิกสัญญาไม่ชอบ ไม่เป็นไปตามสัญญานั้น ท้ายที่สุดแล้วมันได้กลายมาเป็น “หอกข้างแคร่” ที่ย้อนศรกลับมาให้รัฐต้องจ่ายค่าโง่หูดับตับไหม้อย่างที่เห็น
จะบอกว่าไม่รู้ก็คงไม่ได้ เพราะตัวแทนอัยการก็นั่งอยู่ในบอร์ดรถไฟฯ หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจเกือบทุกแห่งนั่นแหละ! หากวันนั้นทางตัวแทนอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุดจะทักท้วงสักนิด เรื่องมันคงไม่เลยเถิดมาจนถึงขณะนี้
สำหรับ "แก่ง หินเพิง" แล้ว สิ่งที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ (หรือสำนักงานอัยการสูงสุด) ควรจะต้องเร่งดำเนินการนับจากนี้ หาใช่การประวิงเวลาการจ่ายชดเชยความเสียหายออกไปครับ แต่ต้องควานหาตัวบุคคล เจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมืองที่จะต้องมาร่วมกันรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539
เพราะเมื่อรัฐต้องเสียหายจ่ายเงินค่าโง่ที่เกิดจากการบริหารสัญญา หรือยกเลิกสัญญา “ผิดพลาดสุดมหันต์” แล้ว หน่วยงานต้นสังกัดย่อมต้องมีหน้าที่ไปไล่เบี้ยความเสียหายทางแพ่งกลับมา
นั่นหมายความว่า กระทรวงคมนาคมและรถไฟฯ จะต้องจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบต้นตอความเสียหาย ตลอดจนการ “ไล่เบี้ย” เอากับตัวบุคคลที่มีส่วนทำให้รัฐเสียหายตั้งแต่ต้น จะเป็นนักการเมือง ข้าราชการประจำ หรือเจ้าหน้าที่รัฐใด ๆ ที่มีส่วนสร้างความเสียหายจากโครงการนี้ ก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบมาก-น้อยแตกต่างกันไป ซึ่งก็รวมไปถึงตัวรัฐมนตรีคมนาคม บอร์ดการรถไฟฯ และผู้บริหารการรถไฟฯ ในชุดที่ผ่านมานี้ด้วย (หลัง 22 ตุลาคม 2563)
ส่วนใครจะต้องรับผิดชอบความเสียหายเท่าไหร่อย่างไรนั้น ก็คงเป็นเรื่องที่ศาลจะพิจารณาในภายหลังครับ เฉกเช่นการไล่เบี้ยความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำลังฟ้องไล่เบี้ยผู้เกี่ยวข้องนับร้อยคน เพื่อเรียกความเสียหายนับหมื่นล้านบาท อยู่ในเวลานี้
หรือกรณีค่าโง่ในโครงการรถและเรือดับเพลิง กทม. มูลค่ากว่า 6,800 ล้านบาท โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มูลค่ากว่า 23,000 ล้านบาท หรือกรณีโรงพักและแฟลตตำรวจร้าง มูลค่ากว่า 5,700 ล้านบาท ที่หน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการที่เสียหายมีหน้าที่ต้องไปดำเนินการไล่เบี้ยมูลละเมิด หรือค่าเสียหายทางแพ่งเอากับผู้มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐตามมา
หาไม่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บอร์ดและผู้บริหารการรถไฟฯ รวมถึงรัฐบาลชุดนี้ทั้งชุดนั่นแหล่ะ จะ “งานเข้า” ถูกฟ้องไล่เบี้ยเสียเอง โทษฐานนั่ง "ทับขี้" ซุกค่าโง่เอาไว้ใต้พรหมโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
เตือนกันเอาไว้ด้วยความรักใคร่จริงๆ ฯพณฯ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่เคารพ!!!
แก่ง หินเพิง