ว่าที่รองนายกฯ และรมว.คลังคนใหม่ “ปรีดี ดาวฉาย” มีภารกิจที่ใหญ่กว่า ขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ 4 แสนล้านบาท จึงต้อง “ปล่อยผี” ตามแผนงานเดิมที่ อดีตรองฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ วางกรอบไว้ เผย! งานหนักกว่า คือ แก้ปัญหาหนี้สาธารณะ ที่ใกล้ติดเพดาน 60% ของจีดีพี และหนี้เน่าของวงการแบงก์พาณิชย์ไทย
ที่ใครๆ สงสัยกันว่า...ในวันที่ไร้ร่างเงาของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้คอยกำกับดูแลนโยบายและติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น
ท่าทีในเชิงนโยบาย และแนวทางการทำงานของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาล รวมถึง นายนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พ.ศ.2563 (เงินกู้ 4 แสนล้านบาท)..
จะเปลี่ยนแปลงไปไหม?
เพราะก่อนหน้านี้ เป็น...นายสมคิด ที่เกาะติดเรื่องมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท พร้อมกำชับให้...สภาพัฒน์ กลับไปเร่งพิจารณาอนุมัติโครงการและแผนงาน รวมถึงวงเงินงบประมาณ ตามที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เสนอกันขึ้นมากกว่า 4 หมื่นโครงการ/แผนงาน รวมวงเงินมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท เกินกว่าวงเงินจริงที่เพียง 4 แสนล้านบาท ถึงกว่า 3 เท่าตัว
คัดเลือกเฉพาะโครงการที่ตอบโจทย์รัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมการจ้างงาน สร้างรายได้ ทั้งในภาคการผลิตในระดับชุนชม ภารบริการ รวมถึงการท่องเที่ยวชุมชน กิจการเหล่านี้...สภาพัฒน์ ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะต้องเร่งพิจารณาเป็นลำดับแรกๆ
แต่พอไม่มี นายสมคิด อยู่ในรัฐบาลประยุทธ์ 2/2 ดังนั้น ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ ที่มีนัดหมายจะต้อง “ส่งการบ้าน” ให้กับรัฐบาล ผ่าน นายสมคิด จึงต้อง “ยื้อเกม” ออกไปชั่งคราว โดยที่ไม่ให้เห็นใดๆ ต่อสังคมไทยมากนัก
กระทั่ง ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงการคลัง แอบเห็นตัวเลขในมือ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ถึงกรอบวงเงินที่มีการเบิกจ่ายจากวงเงินก้อนเต็ม 4 แสนล้านบาท ว่ามีเพียงแค่ 290,000 บาทเศษเท่านั้น
สังคมไทยเลยถึงบางอ้อ! เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะสภาพัฒน์ ยื้อและดึงเรื่องเอาไว้
แต่หากทราบเหตุผล ก็คงพอเข้าใจได้ หนึ่ง...เพราะแต่ละโครงการที่เสนอมา มีไม่กี่ส่วนราชการและหน่วยงานรัฐ ที่สามารถจัดทำโครงการได้สอดรับกับนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะ “จ้างงานสร้างรายได้” ในพื้นที่ชุมชนในระดับหมู่บ้านฯ
หากเทียบสัดส่วน ก็ต้องบอกว่า...มีไม่ถึง 10% ของโครงการ/แผนงานที่เสนอกัน และถ้าคิดเป็นวงเงิน คร่าวๆ ก็แค่ 1.3-1.4 แสนล้านบาท ขืนอนุมัติไปให้ มีหวังทั้ง...สภาพัฒน์ และนายทศพร ก็คงโดนรุมประชาทัณฑ์ในทางการเมืองแน่!
อีกหนึ่ง...ไหนๆ การเมืองจำต้องถึงคิวเปลี่ยนแปลง จากการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) กันแล้ว สู้ดึงเรื่องให้ช้าลงอีกนิด เพื่อรอดูทิศทางในทางการเมืองว่า...ใครจะเข้ามาดูแลเศรษฐกิจ แทนที่ นายสมคิด ซึ่ง ณ ขณะนี้ มีแนวโน้มว่า...น่าจะเป็น นายปรีดี ดาวฉาย ที่เพิ่งประกาศลาออกจากการเป็น...กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และอีกหลายๆ ตำแหน่ง เพื่อเข้ามารับหน้าที่ “รองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง”
ซึ่งนั่น...จะทำให้ นายปรีดี เข้ามาดูแลงานในมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ ทันที!
ถึงตอนนั้น...ความชัดเจนในเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ จะมีให้เห็นมากพอจะขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินงานต่อไป
คนใกล้ชิดของ นายปรีดี คนหนึ่ง บอกกับ สำนักข่าว “เนตรทิพย์” ว่า...หลายเวทีก่อนหน้านี้ ที่ นายปรีดี ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับนายสมคิดและนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นั้น ทำเขาให้เข้าใจแนวคิดและแนวทางการทำงานของคนทั้งสอง จากนี้ไป...อะไรที่ หากนายปรีดี เห็นว่าดี เหมาะสม และพร้อมสานงานต่อ ก็สามารถขับเคลื่อนได้ในทันที!
และมีแนวโน้มว่า นายปรีดี จะเดินตามแนวทางนี้ เพราะถือว่า...มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ เดินมาไกลเกินกว่าจะล้มมาตรการนี้ไปได้ง่ายๆ..
โจทย์ใหญ่กว่านั้น ก็คือ การที่ นายปรีดี เคยทำงานอยู่ในแวดวงธนาคารพาณิชย์มายาวนานถึง 37 ปี และความที่เป็นนักกฎหมาย เรียบจบจากค่าย “นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์” มีเพื่อนฝูงมากมายในแวดวงการเงินการธนาคาร รวมถึงแวดวงผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ ที่สำคัญ ตัวเขาเคยผ่านประสบการณ์ ทำโครงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ของแบงก์มากมายหลายเคสท์
แถมสวมทบบาทเป็น...ประธานสมาคมธนาคารไทย พ่วงภารกิจที่ใกล้ชิดกับการเมือง อย่าง...การทำหน้าที่เป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึง กรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอย่างมากกับ “ขั้วอำนาจ” ในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ทำให้ตัวเขา...ถูกวางตัวบนภารกิจในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาล ที่วันนี้...พุ่งทะยานไปไกล ใกล้ติดเพดานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพีเข้าไปแล้ว
นอกจากปัญหา...หนี้สาธารณะที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว ยังมีปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงิน ที่ว่ากันว่า...ใต้พรม มีซ่อนเอาไว้เยอะมาก
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจหดตัวไปทั่วโลก โอกาสที่ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย รวมถึงธนาคารของรัฐ จะจมปรักอยู่กับปัญหาหนี้เสีย ย่อมมีสูง!
ทำอย่างไร? จึงจะคลี่คลายปัญหาหนี้สาธารณะให้ลดลงได้ หรือหากจำเป็นอาจต้องใช้ความรู้ด้านกฎหมาย ขยายเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาล จากร้อยละ 60 ของจีดีพี เป็นมากกว่านั้น...ขณะเดียวกัน ปัญหาหนี้เอ็นพีแอล ควรจะใช้มาตรการอะไรมาช่วยระบบสถาบันการเงิน ทั้งของรัฐและเอกชน จำเป็นหรือไม่? ที่จะต้องเปิดปฏิบัติการปรับโครงสร้างหนี้ในระดับประเทศ เพื่อลดทอนปัญหาที่กัดกินระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
เหล่านี้ ล้วนเป็นโจทย์ใหญ่ ที่นายปรีดี ได้รับ และมันสำคัญมากพอจะปล่อยผ่านมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ ด้วยการ...สั่งให้สภาพัฒน์ ยึดตามแนวทางเดิมที่ นายสมคิด ได้วางเอาไว้!