ตัดปัญหาพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลไม่ต้องประหลาดใจ ถ้านายกรัฐมนตรี คิดจะตั้ง ”วอร์รูม” แก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 ที่ขณะนี้กินเวลาและทำร้ายเศรษฐกิจไทยไปแล้วถึง 6 เดือน นับจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การตั้งวอร์รูมหรือชื่อเก๋เก๋ว่า ”ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19” หรือที่ใช้ตัวย่อว่า “ศบศ.” ที่จะเริ่มดำเนินการฟังเสียงเรียกร้องจากหน่วยงานเอกชนทั้งหลาย ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้
ศูนย์ดังกล่าว ที่จะทำหน้าที่คล้ายวอร์รูมของ ศบค.ด้านสาธารณะสุข จะมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกฯด้านเศรษฐกิจ รัฐมนตรีจากกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดีอีเอส กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ว่า ธปท. ผู้แทนสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย นายชาติศิริ โสภณพนิช และนักธุรกิจชั้นนำ มีเลขา สศช.เป็นเลขานุการ มีหน้าที่ในการ ”จัดทำข้อเสนอและกรอบแนวทางการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน กลาง และยาว ที่สำคัญต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ในเรื่องของแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ”
กับอีกชุดหนึ่งคือ “คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ” ที่มี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธานกรรมการ ผอ.สำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ
โดยมีคณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด ได้แก่..
1. คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้ง SMEs
2. คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อยกระดับศักยภาพและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต ภายหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สิ้นสุดลง
และ 3. คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา เพื่อสนับสนุนด้านข้อมูลและรายละเอียดข้อเสนอแนะมาตรการเศรษฐกิจในสาขาต่างๆ ด้วย มีเลขา ศสช.เป็นเลขานุการ
ชุดแรกจะรวบรวมตัดสินเชิงนโยบาย ส่งผ่านให้ชุดสองไปดำเนินการ เป็นการสั่งผ่านตรงลัดขั้นตอนของการทำงานระบบราชการ ที่มีกลไกยุ่งยากมาก เป็นเสมือนการตั้ง “วอร์รูม” ของรัฐบาล และเท่ากับเป็นการลดทอนอำนาจของเจ้ากระทรวงที่ไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการด้วย
สิ่งที่นายกฯ กำลังดำเนินการ หลังจากตุปัดตุเป๋ กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจกันมานาน และพยายามจะบอกกับประชาชนชาวไทยและชาวโลกว่า การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี ที่มีการยกทีมออกของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ 4 กุมาร ว่า..
เมื่อไม่มีกลุ่มคนเหล่านั้น ก็ยังมีคนที่จะสามารถเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง ได้อย่างแน่นอน
และที่สำคัญยังเป็นการวางรากฐานที่มั่นคง มากกว่าการเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปวัน ๆ ลบคำสบประมาทของสังคม และเท่ากับเป็นการตัดปัญหาความขัดแย้งในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลอีกด้วย
เท่านี้ก็ “จะทำให้มุ้งทางการเมืองที่วุ่นวายอยู่ภายในพลังประชารัฐ น่าจะปิดปากเงียบได้สักระยะหนึ่งเลยทีเดียว”
และเท่ากับเป็นรวบอำนาจในการบริหารกิจการบ้านเมือง อยู่ภายใต้เงื้อมมือ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงผู้เดียว
ซึ่งหมายถึงว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่พลิกฟื้น “พลเอกประยุทธ์“ จะเป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียว!
โดย..คนข้างนอก