กำลังเป็นประเด็นสุดฮอต เป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์
กับวิวาทะเรื่องของการจัดเรียงช่องทีวีดิจิทัลตามประกาศ กสทช. ปี2558 หลังจากสมาคมทีวีดิจิทัลออกโรงเรียกร้องให้ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ออกประกาศเรียงช่องทีวีดิจิทัลบนโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ฉบับใหม่ แทนประกาศ กสทช.ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้เป็นไปตามประกาศเรียงช่องของ กสทช.ปี 2558
โดยระบุว่า เมื่อสื่อทีวีดิจิทัลเป็นสื่อหลักที่ประมูลใบอนุญาตจาก กสทช. ก็ควรได้รับการปกป้องและจัดเรียงช่องให้เป็นไปตามประกาศ กสทช. แต่ที่ผ่านมา กสทช.กลับไม่ดำเนินการตามประกาศ จนทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ให้บริการโทรทัศน์บนโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ทั้งทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ก็เคลื่อนไหวคัดง้างสุดลิ่ม และยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนประกาศจัดเรียงลำดับช่องรายการดังกล่าว โดยในชั้นศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศดังกล่าวไปแล้ว ในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ยังคงมีความพยายามจะเร่งรัดให้ กสทช. ออกประกาศใหม่อยู่ดี
ล่าสุด บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด (“ทรูวิชั่นส์”) ได้ออกแถลงการณ์ไปยัง กสทช. ระบุว่า การเร่งรัดออกประกาศฉบับใหม่ โดยไม่รอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด รังแต่จะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกเกิดความสับสน พร้อมระบุว่า การจัดเรียงลำดับช่องดิจิตอลทีวีรูปแบบใหม่บนโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ไม่ได้เป็นไปเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง
อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดภาระหน้าที่ต่อผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่ต้องลงทุน และปรับเปลี่ยนการจัดเรียงช่องรายการใหม่อีก อันจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการ ในท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งและเกิดข้อพิพาทเช่นที่ผ่านมา จึงขอให้ กสทช.ชะลอการออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ไปก่อน จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงค่อยพิจารณาแนวทางการจัดเรียงลำดับช่องดิจิทัลทีวีที่เหมาะสมต่อไป
เจอ “ขาใหญ่” กระซวกไส้ขนาดนี้ เลยทำให้ กสทช. แทบไปไม่เป็นกันเลยทีเดียว ซึ่งจะว่าไปที่มาที่ไปของการออกประกาศเรียงช่องทีวีดิจิทัลบนโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช้คลื่นความถี่จะทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีอะไรนั้น มันก็มาจากความ “ล้มเหลว” ในการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลในอดีตของ กสทช. เองนั่นแหล่ะ
เพราะที่เคยตีฆ้องร้องเปล่าถึงผลงานความสำเร็จการประมูลทีวีดิจิทัลในอดีต ที่ได้เงินเข้ารัฐกว่า 50,000 ล้านบาท ก่อนจะตีไล่แจกคูปองซื้อกล่องทีวีดิจิทัลแจกจ่ายคนไทยทั้งประเทศสุดกระหึ่มกันเป็นหมื่นล้าน แต่เอาเข้าจริง ประชาชนที่ได้รับแจกคูปองซื้อกล่องเซ็ทท็อปทีวีดิจิทัลกลับเอาไปทำเป็น ”ราวตากผ้า” แทนซะงั้น!
ทำเอาเส้นทางเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล ที่คาดว่าจะมีผู้โหมทะลักล้นกันเป็น 20-30 ล้านนั้น “ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง” ไม่สมกับเม็ดเงินกว่า 12,000-15,000 ล้านบาทที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำกันลงไป
ก็คงจะด้วยเหตุนี้ กสทช. จึง “ขายผ้าเอาหน้ารอด” ด้วยการไปผนวกเอาโครงข่ายของผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และทีวีดาวเทียมมาร่วมวงไพบูลย์ เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลด้วย โดยขยายคูปองเปลี่ยนผ่านที่ว่าให้ซื้อกล่องทีวีดาวเทียม หรือกล่องทีวีแบบบอกรับสมาชิกที่มีการอัพเกรดให้บริการช่องทีวีดิจิทัลแถมพ่วงไปให้ด้วย
ก่อนจะออกประกาศ กสทช. ว่าด้วยการเรียงช่องทีวีดิจิทัลที่หวังจะกินรวบฐานลูกค้าของทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีนี้ เพื่อให้เป็นไปตาม “ไทม์ไลน์” ที่วางเอาไว้ แต่ก็เจอไม้แข็งของผู้ประกอบการดาวเทียมและเคเบิลทีวี ที่ขอสงวนช่องรายการช่อง 1-10 เอาไว้เพราะถือเป็นช่อง “ไพร์มไทม์” ที่สามารถนำไปแสวงหารายได้โดยตรงของผู้ประกอบการ
เลยกลายเป็นชนวนเหตุทำให้ประกาศเรียงช่อง กสทช. พังครืน และคาราคาซังมาจนวันนี้!
จะว่าไป "ทีวีดาวเทียม” และ “เคเบิลทีวี” นั้น เขามีฐานลูกค้าของเขาอยู่แล้วกว่า 12-13 ล้าน และมีมาก่อน กสทช.จะประมูลให้ไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัลเสียอีก วันดีคืนดีมาถูก “เทคโอเวอร์” จากเจ้าของใหม่ แล้วจะมาขอจัดระเบียบห้างร้านภายในเสียใหม่ ด้วยเหตุไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัลที่ตนเองแจกไปนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่า ผู้ประกอบการต่างพ่ายพิษแพลตฟอร์มอื่น ๆ บนโลกดิจิทัล และสื่อออนไลน์ จึงไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมที่เขาทำอยู่แล้ว
คงต้องปูเสื่อรอดูบทสรุปของวิวาทะปัญหาจัดเรียงช่องทีวีดิจิทัลจะลงเอยอย่างไร กสทช. จะเลือก "ไถ่บาป" ความล้มเหลวในอดีตของตน หรือจะยังดั้นเมฆจับทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีมาเรียงช่องใหม่ เพื่อกลบความล้มเหลวผลงานแจกไลเซ่นส์ทีวีดิจิทัลเป็นกุรุดในอดีต
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรเชื่อแน่ว่างานนี้คงลากยาวเป็นมหากาพย์รอให้ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาสะสางแน่!
โดย..แก่งหินเพิง