คณะรัฐมนตรีชุดใหม่...ทีมเศรษฐกิจใหม่ ในฝั่งพรรคพลังประชารัฐ “โควตากลาง” ของนายกรัฐมนตรี ที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นแกนหลัก และมีนายปรีดี ดาวฉาย ทำหน้าที่ รมว.คลัง แทนที่ทีม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่ม “สี่กุมาร”
ทว่า “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ยังคงเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เช่นเดิม
อย่างที่รู้กัน...ถ้าไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่มีใครมาทำหน้าที่นี้ได้ ปัญหาติดขัดตรงที่...พรรคร่วมรัฐบาล อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย คงกระอักกระอ่วนใจ จะมอบให้รองนายกรัฐมนตรี คนหนึ่งคนใด...มาเป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ”
เพราะทั้ง...นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ต่างก็มีดีกรี เป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคฯ
ดังนั้น ถ้าไม่ใช่ “หัวหน้ารัฐบาล” คงยากจะหาบารมีไปคุมกระทรวงเศรษฐกิจที่อยู่ในความดูแลของ 2 พรรคร่วมรัฐบาลได้...
กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในความดูแลพรรคประชาธิปัตย์
กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่พรรคภูมิใจไทย กำกับดูแล
ทั้ง 4 กระทรวงนี้ มีส่วนสำคัญอย่างมาก ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุควิกฤตโควิด-19 ที่จะต้องเดินไปข้างหน้าพร้อมกันและไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ดี แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้ชื่อว่าเป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” แต่ดูเหมือนจะเป็นแต่ในนาม เพราะข้อเท็จคือ คนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในฝั่งรัฐบาล สายพรรคพลังประชารัฐ ยังคงเป็น นายสมคิด นั่นจึงเป็นเหตุการณ์ที่ “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาล ต่างคนต่างเล่น ต่างคนต่างทำ
กระทรวงเศรษฐกิจในฝั่งของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไปทางนึง กระทรวงเศรษฐกิจในฝั่งของพรรคภูมิใจไทย ก็ไปอีกทางนึง และทั้ง 2 พรรค ก็ไปคนละทางกับพรรคพลังประชารัฐ
เรียกว่า...ต่อให้ต้องเล่นดนตรีเพลงเดียวกัน ก็เล่นกันคนละคีย์ คนละโน็ต หาได้มีจังหวะสอดประสานกันนัก
กลายเป็นความกระอักกระอ่วนใจของ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ กระทั่ง นำไปสู่การจัดทัพกันใหม่ โดยมี ส.ส.ในซีกของพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้รับสัญญาณ “ไฟเขียว” จากบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลและในพรรคพลังประชารัฐ เปิดปฏิบัติการ “ไล่” ทีม “สี่กุมาร” และ นายสมคิด พ้นไปจากคณะรัฐมนตรีชุดก่อนหน้านี้
และแม้ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้ทำหน้าที่ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” จริงจังเสียที! ทว่าความเป็นจริงยิ่งกว่า คือ ยังทำหน้าที่ตรงนั้นไม่ได้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี มิอาจจะล้วงลูกการทำงานใดๆ จาก 4 กระทรวงในสังกัด 2 พรรคร่วมรัฐบาล
ก่อนหน้านี้ การรวบ “อำนาจรัฐ” เพื่อขับเคลื่อน “ทีมเศรษฐกิจ” และนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล มักจะดำเนินการผ่านพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการ ชุดที่มอบอำนาจให้ข้าราชการประจำ ระดับ “ปลัดกระทรวง” กำกับดูแล แทนฝ่ายการเมือง
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้รัฐบาลประกาศ ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด เมื่อช่วงสายของวันที่ 21 สิงหาคม ทาง ศบค. ก็เพิ่งประกาศต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีกหนึ่งเดือน จากเดิมที่ต้องสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เป็น 30 กันยายน 2563
ตอกย้ำ...ต่อจากการจัดตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ก่อนหน้านี้ และเพิ่งจัดประชุมนัดแรกไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา
พูดให้ชัด! การมีตัวตนของ ศบศ. ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็น “หัวหน้าทีม” ใน “คณะใหญ่” และมี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ทำหน้าที่ “หัวหน้าทีม” ใน “คณะรอง” คอยทำหน้าที่กลั่นกรองและขับเคลื่อนข้อเสนอใดๆ จากคณะอนุกรรมการทั้ง 3 คณะ เสมือนการ “ตอกย้ำ” ในบทบาท “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้หนักแน่นและเบ็ดเสร็จเข็ดขาดมากยิ่งขึ้น
เมื่อมี ศบศ. จะไม่มีการจัดประชุม “ครม.เศรษฐกิจ” เพราะ ศบศ.จะทำหน้าที่นี้แทน ทุกสิ่งอย่างที่ผ่านการเวทีการประชุมพิจารณาของ ศบศ. “เมื่อจบคือจบ!” ที่เหลือรอส่งเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ใหญ่ เพื่อพิจารณาเห็นชอบได้เลย
เรียกว่า...ยิ่งตรงผ่านทางลัด ไม่ต้องเผชิญสภาวะ “ค้างท่อที่คอขวด” เหมือนเช่นที่แล้วมา
ที่สำคัญ...ทั้ง ศบศ.คณะใหญ่และคณะรอง ต่างมีคนระดับ รัฐมนตรี และมีปลัดกระทรวงในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะกับคนระดับ... เลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แกนนำจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และอีกหลายๆ ภาคส่วน
ก่อเกิดสภาวะ “One Stop Service” คือ จบในทีเดียว!
ทำให้การทำงานของรัฐบาล ในความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ และบรรดา “กุนซือ” รายรอบตัวทั้งหลาย...เดินไปข้างหน้า แบบไม่มีสะดุด
แต่จากสถานการณ์การเมือง ที่มีเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ตั้งแต่วัยอุดมศึกษา ไล่ระดับต่ำลงมาถึงวัยมัธยมศึกษาตอนต้น ออกมาขับไล่รัฐบาล ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นท่าที “ตอบโต้” การยึดอำนาจบริหารงานของรัฐมตรีต่างพรรค จากพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น...พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย ในหลายครั้ง
การสนับสนุนข้อเรียกให้รัฐบาลเป็นแกนนำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนถึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศยุบสภาฯ จึงเริ่มมีให้เห็นกันบ้างแล้ว
สิ่งที่หลายฝ่ายรู้สึกเป็นห่วงและกังวลใจในสถานการณ์ “ขบเหลี่ยม” ของพรรคร่วมรัฐบาล ท่ามกลางกระแสในทางการเมืองที่เริ่มส่อเค้าความรุนแรงรับกับเดือนตุลาคมในอีกไม่กี่เพลาข้างหน้า ก็คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน ที่หลายคนหลายครอบครัวกำลังประสบปัญหาการตกงานในกลุ่มแรงงานเก่า และหางานทำไม่ได้ ในกลุ่มแรงงานใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบกันมา
แม้ ศบศ.จะจัดประชุมนัดแรก เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา และเป็น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ออกมาบอกกับผู้สื่อข่าวถึงข้อเสนอแนะและแนวทางการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจ ใน 2 ระยะ ประกอบด้วย 1) ระยะเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ 2) ระยะปานกลางและระยะยาวเพื่อยกระดับศักยภาพและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตภายหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สิ้นสุดลง
รวมถึงการดำเนินการมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนและบรรเทาความเสียหายที่อาจจะนำไปสู่ความเสี่ยง ที่จะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอ 4 มาตราหนุน “ท่องเที่ยว-SME-จ้างงาน-กระตุ้นใช้จ่าย” ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งภายใต้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม กับงบประมาณ 4 แสนล้านบาทจากการกู้ยืมเงิน 1 ล้านล้านบาท ของกระทรวงการคลัง ที่ยังไม่นับรวมอีก 9 แสนล้านบาทของ ธปท. แล้วยังจะมีเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 อีก 3.2 ล้านล้านบาท
หากเงินยังไม่พอจริงๆ หรือเพราะบ้านเมืองไทย ต้องประสบชะตากรรม “ไวรัสโควิดฯกลับมาระบาดใหม่” รัฐบาลยังเหลือเพดาเงินกู้ที่ได้กู้ไปแล้ราว 51% จากกรอบการกู้เงินตามเพดานของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่ 60% และแม้จะกู้เงินเต็มเพดาน รัฐบาลยังสามารถจะแก้ไขกฎหมาย เปิดช่องให้กู้ยืมเงินเกินกว่า 60% ได้อีก
ตรงนี้....ไม่ใช่ปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาจริงๆ คือ ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล ท่ามกลางการถูกรวบ “อำนาจรัฐ” และสถานการณ์ทางการเมือง ณ ปัจจุบันมากกว่า...
หากพรรคการเมืองเหล่านี้ กดดันผ่านการถอนตัวจากการร่วมงานกับรัฐบาลแล้วล่ะก็ ต่อให้ “10 พล.อ.ประยุทธ์” “10 ศบศ.” และ “แก้ไขเพิ่มเพดานเงินกู้จาก 60% ของ พ.ร.บ.วินัยการคลัง” ก็คงจะช่วยอะไรไม่ได้
สถานการณ์บ้านเมืองไทยยามนี้...ดูช่างไร้ความหวังยิ่งนัก!