เมื่อปี 2560 ไทยสั่งซื้อเรือดำน้ำจากจีน 1 ลำ ราคา 13,500 ล้านบาท เป็นเรือดำน้ำขนาดกลาง ระวางขับน้ำ 2,600 ตัน ขับเคลื่อนด้วยพลังดีเซลไฟฟ้า ซึ่งเป็นแบบหนึ่งของเรือดำน้ำรุ่นหยวน ทำความเร็วสูงสุด 18 น๊อต ดำน้ำได้นานต่อเนื่อง 21 วัน บรรทุกจรวดตอร์ปีโดได้ 16 ลูก บรรทุกทุ่นระเบิดได้ 30 ลูก คาดว่าจะมีการส่งมอบเรือดำน้ำลำนี้ได้ในปี 2566
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 63 คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบให้กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำจากจีน มูลค่า 22,500 ล้านบาท โดยกองทัพเรือระบุว่า เป็นงบประมาณกองทัพเรือ ไม่ใช่เงินงบกลาง และเป็นการผ่อนชำระเป็นงวดๆละกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อมีไว้ปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และภัยคุกคามทางทะเลจากต่างชาติ
อันที่จริงกองทัพเรือมีเรือดำน้ำขนาดเล็ก (370 ตันเศษ) ประจำการ 4 ลำ มาตั้งแต่ปี 2480 โดยสั่งต่อจากประเทศญี่ปุ่น แต่หลังจากปี 2494 เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม การส่งอะไหล่มีปัญหา จึงปลดประจำการไปในที่สุด
แต่กองทัพเรือมีความพยายามที่จะจัดหาเรือดำน้ำเรื่อยมาหลายรัฐบาลแล้ว ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ว่าประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนมีเรือดำน้ำประจำการกันทั้งนั้น เช่น สิงคโปร์ มีเรือดำน้ำ 1-2 ลำจากสวีเดนและเยอรมนี อินโดนีเซียมีเรือดำน้ำจากเยอรมัน และเกาหลีใต้ ประจำการ 8 ลำ
มาเลเซียมีเรือดำน้ำ 2 ลำจากฝรั่งเศส ส่วนเวียดนามมีเรือดำน้ำจากรัสเซีย 6 ลำ ขณะที่เมียนมาจัดหาเรือดำน้ำมือสองจากอินเดีย 1 ลำ มาใช้เป็นเรือฝึก ทางด้านฟิลิปปินส์ต้องการจัดหาเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้า เพื่อเข้าประจำการ 2 ลำเช่นกัน โดยทุกประเทศไม่มีใครซื้อเรือดำน้ำจากจีนเลย
โดยเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย มีความจำเป็นต้องจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการเพราะมีเรื่องพิพาทกับจีน เกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนและผลประโยชน์ทางทะเล
สำหรับประเทศไทย เคยมีการพิจารณาซื้อเรือดำน้ำมือสองจากเยอรมัน ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 6 ลำ มูลค่า 7.7 พันล้านบาท แต่ติดปัญหาทางเทคนิค และเงื่อนไขของเวลาในการตัดสินใจ จึงต้องยกเลิกโครงการดังกล่าวออกไป
จนกระทั่งมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหาร ได้เน้นการจัดหาอาวุธยุทโธปรณ์จากจีนเป็นหลัก ทั้งในส่วนของกองทัพบก (รถหุ้มเกราะ-รถถัง) และกองทัพเรือ (เรือตรวจการณ์ผิวน้ำ-เรือดำน้ำ)
โดยปี 60 มีการลงนามเซ็นสัญญาสั่งต่อเรือดำน้ำจากจีน 1 ลำ ราคา 13,500 ล้านบาท ท่ามกลางเสียงท้วงติงมากมาย เช่น
1. เป็นการสั่งซื้อในช่วงรัฐบาลทหาร ไม่มีตัวแทนของประชาชนคอยตรวจสอบถ่วงดุลในสภาฯ มีแต่สภานิติบัญญัติ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งขึ้นมาตรวจสอบกันเอง
2. เป็นการสั่งซื้อเรือดำน้ำจีน แต่สเปคอยู่ที่ไหน มีแต่สเปคในกระดาษ เพราะจีนยังไม่เคยต่อเรือดำน้ำขายให้ใครเลย ไทยจึงเป็นชาติแรกที่ซื้อเรือดำน้ำจากจีน ทั้งที่จีนเองก็ซื้อเรือดำน้ำจากรัสเซียมาประจำการในกองทัพ
3. เมื่อขึ้นชื่อว่า เป็นระบบอาวุธของจีน ความน่าเชื่อถือจึงต่ำ อีกทั้งในวงการทหารรู้กันดีว่าเทคโนโลยีระบบอาวุธของจีน ยังล้าหลังกว่าสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลายสิบปี
4. ในเมื่อไทยก็ต่อเรือดำน้ำไม่เป็น ส่วนจีนเพิ่งจะหัดต่อเรือดำน้ำขาย ดังนั้น รัฐบาลและกองทัพเรือไทย ย่อมหนีข้อครหาไม่พ้นว่าทำไมจึงต้องจีน? ทำไมจึงไม่ดูประเทศอื่น หรือเปรียบเทียบราคากับประเทศอื่นที่มีประสบการณ์สร้างเรือดำน้ำมาก่อนจีน เช่น อเมริกา รัสเซีย เยอรมัน ฝรั่งเศส และสวีเดน ดังนั้นย่อมหนีข้อครหาเรื่อง “เงินทอน” ไปไม่พ้นหรือไม่
5. ปัจจุบันจีนมีเรือบรรทุกเครื่องบิน (เรือผิวน้ำ) 1 ลำ ซื้อมาจากรัสเซีย และช่วงต้นปี 63 จีนได้อวดโฉมเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ซึ่งจีนต่อเอง มีชื่อว่า "ซานตง" ขนาดความยาวตัวเรือ 315 เมตร บรรทุกเครื่องบินได้ 38 - 40 ลำ
โดยเรือบรรทุกเครื่องบินซานตง มีลักษณะการออกแบบดาดฟ้าเรือสำหรับการปล่อยเครื่องบินในแบบ ski-jump style หรือหัวดาดฟ้าเรือเชิดขึ้น ซึ่งเป็นดีไซน์แบบเก่าที่ประหยัดงบประมาณ แตกต่างเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ที่ใช้เทคโนโลยี Catapult ในการดีดตัว เพื่อส่งเครื่องบินทะยานขึ้นจากดาดฟ้าเรือ
ทั้งนี้ นักการทหารประเมินว่า ขนาดเรือบรรทุกเครื่องบินที่จีนต่อเองยังใช้เวลาปลุกปล้ำกันอยู่หลายปี ตอนนี้อยู่ระหว่างการทดสอบวิ่งอยู่ในทะเล และเห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยียังห่างไกลจากอเมริกามากๆ โดยเฉพาะการส่งเครื่องบินทะยานขึ้นจากดาดฟ้าเรือ
ขนาดเรือบรรทุกเครื่องบินที่จีนสร้างเอง ยังใช้เวลาหลายปี และยังเป็นเทคโนโลยีแบบเก่า ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงเรือดำน้ำจากจีน ว่าจะออกมารูปร่างหน้าตาแบบไหน
เรือดำน้ำอเมริกา-ยุโรป ดำน้ำได้ 7-10 วัน ต้องโผล่ขึ้นผิวน้ำ แต่จีนเกทับว่าเรือดำน้ำของเขาอึดกว่า สามารถดำน้ำได้นานถึง 21 วัน เอาเป็นว่าลูกทัพเรือไทย พอก้าวเท้าลงเรือดำน้ำจากจีน ถ้าขาไม่สั่นให้มันรู้ไป!!
โดย..เสือออนไลน์