สัปดาห์นี้ความเคลื่อนไหวการเมือง คงเป็นเรื่องร้อนแรงต้องติดตามเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะประกาศผลรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ทั้งแบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ให้ทันเส้นตายภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ถัดจากนั้นต้องประกาศรายชื่อสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. คราวนี้ตัวเลขที่แต่ละพรรคการเมืองมี ก็จะชัดระดับหนึ่ง การต่อรองทางการเมืองก็คงเข้มข้น ว่าจะออกมาเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ หรือตกลงกันไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือบิ๊กตู่ เป็นนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มและมาตรา 44 ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไปเรื่อยๆ ส่วนแนวโน้มไปสู่ทางตันต้องตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือออกไปทางเลือกตั้งโมฆะ โอกาสเริ่มน้อยลงท่ามกลางรัฐบาลที่คงออกไปทางรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 แบบ ”เสียงปริ่มน้ำ” โหวตชนะได้เป็นประธานรัฐสภา และลุ้นผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณ 2563 ไปได้แบบเหนื่อย สภาพบริหารบ้านเมืองแบบไม่มีเสถียรภาพเช่นนี้ จะกระทบเศรษฐกิจ ส่งผลถึงปากท้องชาวงบ้านอย่างไร ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลบิ๊กตู่ได้ฉายภาพให้ฟังว่า“รัฐบาลใหม่คงมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกสมัย ส่วนทีมเศรษฐกิจ บางคนแจ้งกับท่านนายกฯ แล้วว่า คงไม่ไปต่อ โดยไม่สะดวกในหลายเหตุผล เช่นปัญหาสุขภาพ หรือบางคนกลัวอนาคตเสี่ยงอาจต้องติดคุก เพราะเมื่อรัฐบาลใหม่ ต้องแบ่งโควต้ารัฐมนตรีบางกระทรวงเศรษฐกิจ ไปแลกกับการดึงพรรคการเมือง หรือกลุ่มงูเห่า เข้ามาร่วมสนับสนุนให้ได้เป็นฝ่ายเสียงข้างมาก ชนะโหวตตั้งประธานสภา เพื่อเปิดประชุมรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป พรรคการเมือง หรือกลุ่มงูเห่าที่เข้ามา คงต้องเตรียมเสนอโครงการที่แต่ละกลุ่มมีวาระให้ผ่านให้เร็วที่สุด เนื่องจากไม่มั่นใจว่ารัฐบาลบิ๊กตู่สมัย 2 จะอยู่ได้ยาวขนาดไหน”“เมื่อแต่ละพรรคการเมือง หรือกลุ่มงูเห่า ต่างมีผลประโยชน์ มีวาระต้องเร่งสะสมกำลัง โครงการที่เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีหรือ ครม. เพื่อขอมติอนุมัติ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่โปร่งใส ซึ่งถ้ารัฐมนตรีคนไหน ร่วมมีมติให้โครงการนนั้นผ่าน ก็มีภาระต้องรับผิดชอบตามกฎหมายด้วย หากโครงการนั้นมีการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงเสี่ยงสูงที่จะต้องติดคุก เหมือนที่ผ่านมา บางโครงการทุจริต มีการฟ้องร้องคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ทำให้พวกรัฐมนตรีต้องไปขึ้นศาลกันอยู่ถึงขณะนี้ตามกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นบางคนในทีมเศรษฐกิจบิ๊กตู่ จึงแจ้งความจำนงไม่ไปต่อในรัฐบาลหน้า ซึ่งแม้ทุกคนอยากเป็นรัฐมนตรี บางคนต้องจ่ายเงินหลักหลายสิบหลายร้อยล้านให้ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ได้อำนาจ แต่เมื่อรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแบบนี้ อำนาจต่อรองกับพรรคหรือกลุ่มงูเห่าร่วมรัฐบาลจึงน้อย ต้องหลับตาข้างหนึ่งให้รัฐบาลไปได้ โอกาสเสี่ยงคุกจึงสูง”ก่อนจะปิดท้ายว่า เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สมัย 2 ต้องโดนนักการเมืองอาชีพ กดดันต่อรองเช่นนี้ จึงมองแนวโน้มเศรษฐกิจต่อไป การตัดสินใจโครงการ หรือมาตรการต่างๆ คงมีเหตุผลรักษาเสถียรภาพทางการเมือง มากกว่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบตรงๆ ขนาดที่ผ่านมา ออกมาตรการจากเหตุผลทางเศรษฐกิจมากกว่า ยังกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ขึ้น เพราะปัจจัยกระทบจากภายนอกรุนแรงมาก โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งเป็นสัดส่วนถึงกว่า 60% ของรายได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ไตรมาสแรกการส่งออกหดตัว รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงกว่า 80% ของจีดีพี ทำให้การบริโภคในประเทศกระตุ้นยากทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. รายงานภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสแรก ปี 2562 ว่า จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ส่วนมากชะลอตัว ธปท.จึงปรับลดคาดการณ์รายได้ส่งออกลง จากเมื่อต้นปีคาดการณ์ว่าส่งออกปีนี้จะขยายตัว 3.8% ลดลงเหลือส่งออกปีนี้จะขยายตัว 3%ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ประกาศลดคาดการณ์ส่งออกปีนี้ลงจาก 4.5% เหลือ 3.4% ส่วนมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่ครม.มีมติเมื่อสิ้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อัดฉีดรากหญ้า คือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มเบี้ยคนพิการ ช่วยค่าใช้จ่ายพ่อแม่เด็กช่วงเปิดเทอม ช่วยผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการอัดฉีดทางอ้อมมาตรการทางภาษี 6 มาตรการ คือภาษีบ้านหลังแรก ส่งเสริมการท่องเที่ยว หักลดหย่อนสินค้าการศึกษาและกีฬา หักลดหย่อนส่งเสริมการอ่าน การส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น หรือ โอทอป นำงบลงทุนส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์มาหักลดหย่อนได้ ซึ่งมาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปีที่ครม.ผ่านออกมา ทาง สศค. คาดว่าจะช่วยกระตุ้นจีดีพีได้เพียง 0.1% เท่านั้นเมื่อรายได้กว่าครึ่งของจีดีพีจากส่งออก คงต่ำกว่าเป้าแน่ การบริโภคก็กระตุ้นไม่ขึ้นจากหนี้ครัวเรือนที่สูง ส่วนการลงทุนรัฐอยู่ในสภาพเกียร์ว่าง ข้าราชการรอรัฐมนตรีใหม่มาเคาะ ด้านการลงทุนเอกชนต่างก็รอดูท่าที เหลือก็เพียงรายได้ท่องเที่ยวซึ่งก็น้อยช่วยได้แค่พยุงจีดีพี รวมทั้งภาพที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลบิ๊กตู่ ได้ฉายให้เห็นว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สมัย 2 ต้องโดนการเมืองเสียงปริ่มน้ำ กดดันมาตรการทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามพรรค หรือกลุ่มงูเห่ามากขึ้นแน่ ดังนั้นแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ คงต้องมีแต่ทยอยหั่นลดลงจากเป้าหมายต้นปีตั้งไว้เติบโต 4% โดยผ่านไปไม่กี่เดือนลดลงเหลือขยายตัว 3.8% และกลางปีเตรียมรับมือ คงทรุดลงกว่านี้แน่ฟันธง!โดย-คนฝั่งธนฯ