เหลือบไปเห็นบทสัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ต่อกรณีที่ฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จายการต่อสู้คดีกับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด เจ้าของสัมปทานเหมืองทอง ที่ถูกอดีตหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 (ม.44) สั่งปิดเหมืองอัครา ไปเมื่อปั 2560
โดยนายวิษณุ ระบุว่า รัฐบาลไม่ได้ใช้ ม.44 สั่งออกคำสั่งปิดเหมืองอัคราแต่อย่างใด แค่สั่งให้หยุดดำเนินการเหมืองไปก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมี พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ แล้วให้บริษัทกลับมาขออนุญาตดำเนินการอีกครั้ง เนื่องจากมีหลายปัญหา เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังได้รับการร้องเรียนเรื่องการบุกรุกพื้นที่บางส่วน ทั้งยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
"แต่ระหว่างให้หยุดดำเนินการบริษัทดังกล่าวมีการเลิกจ้างและปิดเหมืองเอง เมื่อ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ออกมาเขาก็ไม่ได้เข้ามาขออนุญาตดำเนินการ แต่กลับนำประเด็นนี้ไปฟ้องร้องต่อศาลต่างประเทศ เหมือนคดีวอลเตอร์ บาว (ดคีดอนเมืองโทลล์เวย์) ที่มีการฟ้องร้องในศาลต่างประเทศ ก็ต้องไปจ้างทนายสู้คดีกันไป"
ถ้อยแถลง และจุดยืนของรองนายกรัฐมนตรีข้างต้น ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์อย่างกว้างขวาง แทบจะเรียกว่า "ทัวร์ลง" กันเลยทีเดียว เพราะเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นั่นกำลังดิ้นสุดเฮือกหาทาง "ปัดสวะ" เผือกร้อนดังกล่าว
นายวัฒนา เมืองสุข คีย์แมนสำคัญของพรรคเพื่อไทย คู่ปากคู่ปรับ ได้โพสต์แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของพลเอกประยุทธ์นั้น ถือได้ว่าเป็นความโง่อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะอำนาจดังกล่าวมีอยู่แล้วตามมาตรา 125 และ 126 ของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 อันเป็นอำนาจของอธิบดี จึงไม่จำเป็นต้องไปใช้อำนาจของหัวหน้าเผด็จการให้ถูกฟ้อง แต่ความซวยของคนไทยคือนายมีชัยได้เขียนรัฐธรรมนูญมาตรา 279 นิรโทษกรรมการกระทำของ คสช. ทั้งหมด ทำให้รัฐบาลไม่อาจไปเรียกร้องค่าโง่คืนจากพลเอกประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้
อย่างไรก็ตาม การที่มาตรา 44 กำหนดให้หัวหน้า คสช. ต้องรายงานการออกคำสั่งให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ทราบโดยเร็ว หากบุคคลทั้งสองเห็นว่าเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบจะต้องทักท้วงหรือขอให้แก้ไข
แต่การที่บุคคลทั้งสองปล่อยปละละเลยทำให้คำสั่งดังกล่าวถูกนำไปใช้จนก่อให้เกิดความเสียหาย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายคืนให้รัฐตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
"ดังนั้น หากรัฐบาลต้องไปชดใช้ค่าเสียหายให้คิงส์เกทถึงแม้ ไม่อาจเรียกร้องคืนจากพลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. แต่ยังสามารถเรียกร้องจากพลเอกประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เหมือนที่เคยกล่าวหานายกยิ่งลักษณ์ว่า ปล่อยปละละเลยในคดีรับจำนำข้าว"
สำหรับ ”แก่งหินเพิง” แล้ว หากถ้อยแถลงของทั่นรองนายกฯ วิษณุ ที่ว่าอดีตหัวหน้า คสช. ไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่ง "ปิดเหมืองแร่ทองคำ" แต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการสั่งให้ยุติการทำเหมืองชั่วคราวเพื่อรอ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ แล้ว
ท่านควรหอบเอาเหตุผลนี้ไปต่อสู้ในชั้นไต่สวนของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศโน้นครับ ไม่ต้องมา "ดราม่า" แก้ต่างให้ศาลไทย หรือใครที่ไหนให้เมื่อยปากหรอก ไปแจง อนุญาโตฯ โน้นเลยว่า นายกฯ ประยุทธ์และรัฐบาลไม่เกี่ยว ไม่ได้สั่งปิดเหมือง ไม่ได้ละเมิดข้อตกลงใด ๆ แค่สั่งการให้ยุติการทำเหมืองชั่วคราวเพิ่อรอ กม.พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่เท่านั้น แล้วค่อยให้บริษัทเข้ามาขออนุญาต แต่บริษัทอัคราและคิงส์เก็ตไม่มายื่นขอเอง แล้วจะมาฟ้องรัฐบาลหรือหัวหน้า คสช.ได้ยังไง
ไปแจงอนุญาโตฯโน้นว่ามันฟังขึ้นไหม ถ้าฟังไม่ขึ้นแพ้ในชั้นอนุญาโตฯ จนเขาตัดสินให้ไทยต้องจ่ายค่าโง่ 30,000-40,000 ล้าน ดังที่เป็นกระแสข่าวมาตลอด ก็ขออย่าได้มาขอให้รัฐบาล กระทรวงการคลังหรือใครหน้าไหนเอาเงินภาษีไปจ่ายเด็ดขาด เพราะเรื่องนี้ประชาชนคนไทยไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ขณะนั้นก็ไม่เกี่ยว เพราะเป็นคำสั่ง ม.44 ของหัวหน้า คสช. ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุเองว่า "ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ" เป็นผู้ออกคำสั่ง!
ดังนั้น เมื่อไม่ใช่ความผิดชอบของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ก็เชื่อว่า ประชาชนคนไทยทั้งประเทศคงไม่ยอมให้ใครหน้าไหน เอาค่าโง่อัปยศนับหมื่นล้านนี้มายัดเยียดให้คนไทยต้องรับกรรมแน่!
โดย แก่งหินเพิง