ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับพายุบุแคมอะไรก็ไม่ทราบ ที่ทำเอาฟ้าอมรแห่งนี้ กลายเป็นเมืองต้องสาบ มีทะเลสาบผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด รถราติดขัดวินาศสันตะโรทุกท้องถนน ขนาดอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มูลค่านับหมื่นล้านที่เพิ่งเปิดใช้ กลิ่นเบาะหนัง พรมปูพื้นยังไม่ทันจางยังเจอน้ำท่วมสุดทุลักทุเล เอาว่าแค่จะเดินทางจากถนนพระราม 9 ไปพระราม 7 ระยะทางแค่ 7-8 กม.ต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 3 ชั่วโมง“แก่งหินเพิง” เลยถือโอกาสหยิบหนังสือ "สื่อสารผ่านสายลม" ที่ คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บันทึกไว้มาอ่านฆ่าเวลาไปพลางๆ และอ่านไปอ่านมาก็ปาเข้าไปจบเล่ม ซึ่งก่อนหน้าก็ได้เกริ่นอารัมภบท และเนื้อหาบางส่วนของหนังสือเล่มนี้ไปแล้ว มาคราวนี้มีโอกาสพลิกเข้าไปดูเนื้อหาข้างในก็ยิ่งตื่นตาตื่นใจหนักเข้าไปอีก เลยขอถือโอกาสนำมาถ่ายทอดให้ใครที่ยังไม่ได้อ่านได้สัมผัสไปด้วยอย่างบทที่ 4 ที่ว่าด้วยการประมูลคลื่นความถี่ 3G ที่ถือเป็นการประมูลครั้งประวัติศาสตร์วงการโทรคมนาคมไทยนั้น คุณฐากร ได้ย้อนรอยอย่างน่าฟังว่า ในช่วงที่เปลี่ยนผ่านจาก กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ไปสู่ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ในปี 2553 เวลานั้น เขาทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กทช. ประเทศไทยเรายังใช้เทคโนโลยี 2G สำหรับโทรศัพท์มือถือที่เน้นการให้บริการด้านเสียง (Voice) เป็นหลัก ความเร็วในการใช้อินเตอร์เน็ตสูงสุดก็ไม่เกิน 384 kbps เท่านั้นขณะที่ปีประเทศอื่นๆทั่วโลกเริ่มใช้เทคโนโลยี 3G สำหรับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ความเร็วสูงถึง 42 mbps หรือเร็วกว่าเป็น 100 เท่าของ 2G มาตั้งแต่ปี 2543แล้ว แม้กระทั่งเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา ก็มี 3G ใช้ตั้งแต่ปี 2548 แล้ว ทำให้ไทยตกอยู่ในภาวะล้าหลัง"ที่จริง กทช. มีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการใช้งานเทคโนโลยี 3G มาตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรในปลายปี 2547 แล้ว มีการศึกษา ออกกฎเกณฑ์และเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ 3G มาอย่างต่อเนื่อง แต่เพราะเป็นการประมูลคลื่นความถี่ครั้งแรกของประเทศ จึงทำให้มีอุปสรรคด้านข้อกฎหมาย และความรู้ความเข้าใจมากมาย การดำเนินการจึงเป็นไปอย่างล่าช้า”แม้ในที่สุด กทช. จะออกประกาศประมูลคลื่นความถี่ในวันที่ 20 กันยายน 2553 ณ โรงแรมเอวาซอน หัวหิน โดยกรรมการ กทช. และผู้บริหารสำนักงาน กทช. ได้มีการเตรียมความด้านต่างๆ เอาไว้หมดแล้ว แต่....ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ชะลอการประมูลออกไป เนื่องจาก กทช. กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ กสทช. ดังนั้นอำนาจในการดำเนินการช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงไม่ได้อยู่ในมือ กทช. เพียงลำพัง ต้องมีอำนาจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ด้วย ศาลปกครองจึงให้ชลอการประมูลเอาไว้ก่อน"เมื่อมีคำสั่งศาลปกครองออกมา ผมจึงต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และนี่คือเหตุการณ์สำคัญครั้งสุดท้าย ระหว่าง ที่ยังเป็น กทช."อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ก็คงมีลุ้นไปกับบทสรุปของการประมูลคลื่นความถี่ 3G ครั้งแรกของประเทศ (ที่แทบจะรั้งท้ายโลก) กันแล้ว บทสรุปจะเป็นยังไงนั้น ต้องไปติดตามอ่านกันเอาเองครับอีกบทที่น่าสนใจ “บทที่ 7 กว่าจะได้ประมูลคลื่นความถี่ 4G” ที่เจ้าตัวบันทึกเอาไว้อย่างน่าอ่าน โดยได้ย้อนรอยบทเรียนความล่าช้าและหล้าหลังจากการเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยี 2G และ 3G ก่อนหน้า พอมาถึงการเปลี่ยนผ่าน 4G ก็ย้อนรอยอีก เพราะขณะที่เราก้าวสู่ 3G ได้ไม่นาน ประเทศอื่นๆ ต่างเตรียมกระโดดเข้า 4G กันไปแล้ว“รายงานในมือผมยืนยันว่า 4G ของไทยเราล้าหลังกว่าทวีปอื่นๆ ถึง 4 ปีแล้วในเวลานั้น แน่นอนหากเรายังนิ่ง ไม่ทำอะไรเลยประเทศไทยจะตกขบวนพัฒนาไม่ทันชาติอื่นเขาเป็นแน่ เพราะ 4G นั้นเร็วกว่า 3G มากกว่า 10 เท่า หากเราตามกระแสโลกไม่ทันเราจะมีสภาพไม่ต่างจากถอยหลังลงคลองโดยไม่รู้ตัว”เหตุนี้จึงเป็นเป้าหมายของสำนักงาน กสทช. ที่จะต้องเปิดประมูล 4G ให้ได้ แต่ทว่าการประมูล 4G ในช่วงนั้นค่อนข้างจะลำบาก เนื่องจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม ยังไม่คืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) กลับมาให้เป็นทรัพย์สินของชาติหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในปี 2558 โดยอ้างว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจะสิ้นสุดในปี 2568 ดังนั้นแม้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงก่อน แต่ก็ยังสามารถใช้คลื่นความถี่ไปได้ถึง 2568 เช่นเดียวกัน“งานนี้เป็นอีกงานหนึ่งที่ยากที่สุดในชีวิตการทำงานของผมเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าไม่มีการคืนคลื่นความถี่แล้ว สำนักงาน กสทช.จะไม่สามารถเปิดประมูลคลื่น 4G เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้”บทสรุปของการประมูลคลื่น 4G ที่ว่านั้นเป็นอย่างไร อดีตเลขาธิการ กสทช. ผู้นี้มีวิธีการแก้ไขปัญหาการถือครองคลื่นของหน่วยงานรัฐด้วยกันอย่างไร และสามารถวางรากฐานการคืนคลื่นความถี่จากองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ มาเป็นสมบัติของชาติเพื่อนำมาจัดสรรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไรนั้น..คงต้องไปติดตามอ่านในหนังสือ ”สื่อสารผ่านสายลม” ของอดีตเลขาธิการ กสทช. ท่านนี้กันดูเอาครับ โดยติดต่อขอรับไปที่ ทวิตเตอร์ @TakornNBTC เท่านั้น เพราะเขาไม่มีวางจำหน่ายที่ไหนครับโดย..แก่งหินเพิง