เหลือบไปเห็นข่าว อดีตเลขาธิการ กสทช. คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ ออกมาเสนอแนะ "โมเดล" การจัดระเบียบสายสื่อสารระโยงระยางทั้งหลายในเขต กทม.และหัวเมืองใหญ่ๆ ลงดิน โดยระบุว่า "โมเดล" ที่มีความเหมาะสมเป็นไปได้มากที่สุดนั้นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) จะต้องร่วมลงขันช่วยบริษัทเอกชนด้วย หาไม่แล้วก็ยากจะสำเร็จ เพราะหากปล่อยให้ Operator แบกรับภาระลงทุนเองก็มีหวังผู้ใช้บริการคงได้อ่วมอรทัย อ่านแล้วก็ให้นึกถึงหนังสือ "สื่อสารผ่านสายลม" ที่เจ้าตัวได้บันทึกเอาไว้และจัดเปิดตัวหนังสือไปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งผมได้นำเสนอชิมรางไปแล้วหลายเรื่อง และ 1 ใน "วิชั่น"หรือวิสัยทัศน์ที่อดีดเลขาธิการ กสทช. บันทึกเอาไว้นั้น ก็มีเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารลงใต้ดิน อยู่ด้วยในบทที่ 13โดยเจ้าตัวได้ย้อนรอยถึงที่มาที่ไปของสายสื่อสารที่พาดระโยงระยางบนเสาไฟฟ้าทั้งหลายว่า เป็นสายสื่อสารทั้งที่ใช้งานได้ และไม่ได้ ซึ่งในหมู่ช่างเรียกว่า "สายตาย" ซึ่งในอดีตนั้น ผู้ประกอบการสื่อสารเวลาจะขยายโครงข่าย ก็มักนำสายสื่อสารไปพาดบนเสาไฟฟ้า ทั้งเสาของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แม้แต่เสาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็มี ยิ่งเมื่อระบบสื่อสารของประเทศพัฒนาเจริญก้าวหน้าตั้งแต่ปี 2530 การขยายโครงข่ายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการพาดสื่อสารต่างๆ เพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณ "หลายคงคนคงจำได้ ระบบสายสื่อสารที่เราเคยใช้ในอดีต ไม่ว่าจะเป็น เพจเจอร์ แพคลิงค์ เคเบิ้ลทีวี โทรศัพท์พกพาระบบ PCT ซึ่งแม้หลายรายจะหยุดประกอบกิจการไปนานแล้ว แต่สายสื่อสารที่พาดอยู่บนเสาไฟฟ้าเหล่านี้ ก็ยังไม่ได้รื้อออกไป เมื่อมีกิจการใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา ทั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การขยายโครงข่ายของโทรศัพท์มือถือ หรือผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวีรายใหม่ ก็มีการนำสายสื่อสารของตนเองไปพาดบนเสาไฟฟ้าเพิ่มเติม จึงทำให้มีสายสื่อสารรกรุงรังเต็มพื้นที่กรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ๆ กลายเป็นมลพิษทางสายตา ส่งผลต่อทัศนียภาพของเมือง"เมื่อ "บิล เกตส์" อัครมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของโลก ผู้ก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟต์ มาเที่ยวเมืองไทย และได้โพสต์ภาพสายสื่อสาร พร้อมข้อความ Amazing Thailand ก็กลายเป็นที่โจษขานดังไปทั่วโลก สายสื่อสารเหล่านี้ ยังก่อให้เกิดอันตรายกับประชาชนที่สัญจรไปมา บางครั้งก็เกิดโศกนาฏกรรม เนื่องจากสายสื่อสารหย่อนลงมารัดคอคนขี่จักรยานยนต์ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถจะมีการแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากมีหลายเจ้าของไม่อาจจะระบุได้ว่า สายใดเป็นของใครหรือของบริษัทใด..ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐบาลเล็งกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน ให้สำนักงาน กสทช. จัดระเบียบสายสื่อสารเหล่านี้และนำสายสื่อสารลงดิน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เสริมสร้างประสิทธิภาพ สร้างทัศนียภาพที่ดีให้แก่ประเทศ"คำว่าจัดระเบียบสายสื่อสาร หมายถึง ให้รื้อถอนสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว หรือสายสื่อสารทั้งหลายออกจากเสาไฟฟ้า ให้เหลือแต่สายสื่อสารที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ แล้วมัดสายสื่อสารรวมกันให้เป็นระเบียบ" ส่วนความคืบหน้าของการจัดระเบียบนำสายสื่อสารลงดิน คืบหน้าไปถึงไหน อย่างไร ทำไมยัง "ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก" อยู่นั้น ก็เป็นดังที่เจ้าตัวออกมาให้สัมภาษณ์สื่อล่าสุดนั่นแหล่ะ จะต้องหา "โมเดล" ที่มีความเหมาะสม ถึงจะสำเร็จ...อีกเรื่อง ที่น่าสนใจที่เจ้าตัวบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ ก็คือ บทที่ 15 เปิดกลยุทธ์ประมูล 5จี ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของ กสทช. ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา เพราะสามารถดึงเม็ดเงินจากการประมูลเข้ารัฐไปได้กว่า แสนล้านบาท และทำให้ประเทศไทย เปิดให้บริการเทคโนโลยี 5จี ในเชิงพาณิชย์ ได้เป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ จนสามารถนำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวดังกล่าว สกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างได้ผล จนทั่วโลกชื่นชมเจ้าตัวได้ย้อนรอยเส้นทางการประมูล 5จี ว่า หลังจากจัดสรรคลื่นความถี่ 4G ไปเมื่อปี 2558 และสิ้นสุดลงครั้งสุดท้ายในปี 2562 บนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ผู้ประกอบการโทรคมนาคม มีการลงทุนไปจำนวนหลายแสนล้านเพื่อประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว ทำให้เมื่อสำนักงาน กสทช. พยายามผลักดันเทคโนโลยี 5จี มาให้บริการในประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ล้าหลังเหมือนกรณี 3G และ 4G ผู้ประกอบการโทรคมนาคมจึงไม่สนใจที่จะลงทุนเพิ่มเติม เพราะมีค่าภาระค่าใช้จ่ายไปกับ 4 จีมากอยู่แล้ว เหตุนี้จึงวางกลยุทธ์และแนวทางต่างๆร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ กสทช. เพื่อผลักดันผู้ประกอบการโทรคมนาคมให้เข้าประมูลความถี่ 5จี ที่จะมีการจัดสรรในปี 2562- 2563 โดยเหตุที่ต้องวางกลยุทธ์เช่นนี้ เพราะเมื่อผมสอบถามเป็นการภายในกับผู้บริหารสูงสุดของผู้ประกอบการโทรคมนาคมก่อหน้า ทุกคนต่างสายหน้าบอกว่าไม่มีเงินจะมาประมูล อีกทั้งหากประเทศไทยใช้เทคโนโลยี 5จี เป็นประเทศแรกแรกของโลก การจัดหาอุปกรณ์โทรคมนาคมต่างๆ จะมีราคาสูงเป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการอีก "แต่ในมุมมองของผมกลับมองว่า หากเราต้องล่าช้าในการนำเทคโนโลยี 5จี มาใช้อีก นอกจากจะทำให้ประเทศไทยล้าหลังแล้ว ยังจะสูญเสียโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ผมได้ให้ทีมวิชาการของสำนักงาน กสทช. ศึกษาผลกระทบจากการนำเอา 5จี มาใช้ ผลออกมาว่า จะสร้างเม็ดเงินได้หลายแสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 1% ของ GDP ในทางตรงกันข้ามหากเทคโนโลยี 5จี ไม่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ยังจะเกิดการย้ายฐานการผลิต จนกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน"สำนักงาน กสทช. จึงมีความห็นร่วมกันที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5จี ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเร็ว เพื่อที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน ส่วนผลประมูลเป็นอย่างไร สำนักงาน กสทช. มีลูกเล่นในการกระตุ้นให้เอกชนเข้ามาร่วมประมูล 5จี ได้อย่างไรนั้น ก็คงต้องไปหาอ่าน "สื่อสารตามสายลม" ของอดีตเลขาธิการ กสทช. ได้ครับ โดยติดต่อขอรับได้ที่ ทวิตเตอร์ @TakornNBTC เท่านั้น เพราะไม่ได้วางจำหน่ายที่ไหนครับ