จะเพราะ...ฟ้าสั่งหรือสวรรค์บันดาลไม่รู้? แต่ที่แน่ๆ หลังเสร็จภารกิจครั้งสำคัญของ คุณหญิงอ้อ พจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยาของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศไทย ได้ไม่นานนัก...
ความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคที่ได้ ส.ส.มากสุด ในการเลือกตั้งฯครั้งล่าสุด...เกิดขึ้นฉันพลันทันที!?!
เริ่มที่...การลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา โดยที่ถึงตอนนี้...ยังไม่มีใครทราบเหตุผลหรือสาเหตุสำคัญแท้จริง
ตามมาด้วยการขอลาออกของทีมยุทธศาสตร์พรรคฯ ของอีกหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็น...นายโภคิน พลกุล และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายวัฒนา เมืองสุข ฯลฯ
ไม่เว้น! แม้กระทั่ง นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. ได้ลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคฯ
ต่อมาเป็น...นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ ยังให้เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในพรรคฯ ทำนอง...
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของพรรคเพื่อไทย เพราะมีแนวคิดที่จะปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารพรรค และคณะทำงานด้านต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว เพื่อให้การทำงานคล่องตัวมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตัวเขาเองก็พร้อมลาออกเปิดทางให้มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารตามแนวทางที่วางไว้ แต่เนื่องจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปีล่าสุดของพรรคเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังอยู่ในสมัยประชุมรัฐสภา หากเขาลาออกจะกระทบตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไปด้วย จึงต้องรอให้ปิดสมัยประชุมสภาฯก่อน ก่อนจะปิดสมัยประชุมสภาฯเมื่อวันที่ 25 กันยายน
ถือว่าภายในพรรคฯ ได้มีการพูดคุยแนวทางกันมาตลอด
ทั้งนี้ เขาได้เซ็นหนังสือลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนัดประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ และ ส.ส. ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ เพื่อหารือกำหนดวันประชุมใหญ่วิสามัญ เลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่โดยเร็ว คาดว่าน่าจะเป็นช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน ต.ค.นี้
ล่าสุด เมื่อช่วงเย็นของ 26 กันยายน นายสมพงษ์ ได้ออกแถลงการณ์ขอลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ตามที่ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเพื่อไทย ครั้งที่ 1/2562 เลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.2562 โดยมีคณะกรรมการบริหารรวม 29 คนนั้น
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และข้อบังคับพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคเป็นองค์กรสูงสุดของพรรค มีอำนาจดำเนินกิจการพรรคให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และข้อบังคับพรรค กำหนดนโยบายการบริหารและพัฒนาพรรค กำกับดูแลและตรวจสอบให้องค์กรของพรรคส่วนต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ และมีอำนาจหน้าที่อย่างอื่นอีกหลายประการ
ที่ผ่านมาเห็นว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหาร และการกำหนดภารกิจส่วนต่างๆของพรรค ทำให้คณะกรรมการบริหารยังไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุผลตามนโยบายข้อบังคับของพรรค
จึงเห็นว่าสมควรปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารใหม่ ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วขณะนี้ และเพื่อให้การบริหารงานพรรคเพื่อไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุนโยบายพรรคที่ได้ประกาศไว้
โดยขอลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2563 เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป...
เกิดอะไรขึ้นกับพรรคการเมืองที่ใหญ่สุดของประเทศไทย!!!
พวกเขาแตกกันจริง หรือแค่ยุทธศาสตร์การแตกตัว รองรับเป้าหมายสำคัญใหม่ในภารกิจลับบางอย่าง?
อย่างไรก็ตาม การลาออกของนายสมพงษ์ครั้งนี้ ย่อมมีผลให้กรรมการบริหารพรรค ต้องหลุดออกจากตำแหน่งทั้งหมด โดยจะทำหน้าที่รักษาการเพื่อให้มีการสรรหากรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
และนายสมพงษ์เอง มีโอกาสกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง เพราะตำแหน่งหัวหน้าพรรค ผูกกับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 ที่กำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด และไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา หรือรองประธานรัฐสภา เป็นผู้นำฝ่ายค้าน
ดังนั้น หัวหน้าพรรคเพื่อไทยจึงจำเป็นต้องเป็น ส.ส. และนายสมพงษ์ถือเป็น ส.ส.ที่อาวุโสที่สุดในพรรคตอนนี้
ทว่าตำแหน่งที่น่าจับตามองมากกว่า คือ เลขาธิการพรรค ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็น “พ่อบ้านพรรคฯ” และตำแหน่งนี้ ถูกคาดหมายกันว่า...น่าจะมาจากสายตรงของ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร
แต่ทั้งพรรคฯ อาจต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ “คุณหญิงอ้อ”
ปมลึกของเรื่อง เป็นเพราะ...ทิศทางการทำงานของพรรคเพื่อไทย ขาด “หางเสือ” จึงไร้ทิศทางในการทำงานทางการเมือง
การสูญเสียมวลชน ที่ช่วงหลังหันไปให้ความสนใจกับอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่วันนี้...ปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็นพรรคก้าวไกล กลายเป็นการทำลายศรัทธาของประชาชน โดยเฉพาะฐานเสียงเดิมๆ ที่หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป
ย่อมกระทบกับอนาคตของพรรคเพื่อไทยอย่างไม่ต้องสงสัย?
ว่ากันว่า...เหตุผลสำคัญที่พรรคเพื่อไทย จำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างกันใหม่ เพราะมี “ใบสั่ง” จากใครบางคน? ต้องการจะสร้างพรรคให้ยิ่งใหญ่เหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย
แต่ต้องเริ่มต้นที่การกอบกู้วิกฤติศรัทธา ทำพรรคให้มีทิศทางชิงกระแสประชาชน กระแสประชาธิปไตยจากพรรคก้าวไกล กลับมาเป็นเสาหลักที่แข็งแกร่ง
ดังนั้น จึงต้องปรับโครงสร้าง ปิดทางให้ทุกคนทุกกลุ่มกลับมาทำงานร่วมกัน ในลักษณะคานอำนาจ แยกกลุ่ม ก๊วน และรวมกันเพื่อต่อสู้ในศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ บนสมมติฐานการคาดหวังว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับไปใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
หากแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จอาจต้องเปลี่ยนแผนแยกพรรคแบบเดิม จึงจำเป็นต้องได้ผู้มีบารมีตัวจริงมาอยู่เบื้องหลังการนำพรรค
ดังนั้น คุณหญิงอ้อ จะเข้ามานำทัพ และเป็นผู้ประสานงานด้วยตัวเอง โดยจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น
แต่จะรวบรวมนักการเมืองที่แตกออกไปทั้งหมด ให้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อให้การบริหารงานเป็นเอกภาพ
ดังนั้น จึงต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเดิม ให้มาทำงานภายใต้ผู้นำคนใหม่โดยตรง โดยมี กก.บห.พรรคน้อยลงกว่าเดิม แต่กระจายตัวแทนจากทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
กระนั้น ก็มีอีกเหตุผลที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ... ยุทธศาสตร์ใหม่ของการขับเคลื่อนงานการเมืองนับจากนี้ไป...
“แตกตัวเพื่อเติมเต็ม” ในทางการเมือง หลังโดนพิษรัฐธรรมนูญปี 2560 เล่นงาน...จนพรรคที่ชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.เขตมากที่สุด กลับไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อสักคนเดียว
แม้อารมณ์...ไม่กินเส้น! ระหว่าง ส.ส.ส่วนใหญ่ กับ ส.ส.ส่วนกลาง ภายใต้การดูแลของ “คุณหญิงหน่อย” จะมีอยู่จริง ทว่าสิ่งนี้...ก็ไม่ได้สร้างปัญหามากมายถึงขั้นจะทำให้พรรคต้องแตกยับ!
แตกตัว...แยกกันเดิน ร่วมกันตี! เพื่ออุดช่องโหว่ อันเป็น “จุดตาย” จากผลกระทบของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่หากต้องเลือกตั้งกันใหม่...ยังคงต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้กันต่อไป
จึงเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่งของเรื่องนี้