ช่วงวันหยุดยาวได้นั่งอ่านบทความดี ๆ หลายชิ้น ที่เห็นว่าควรจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ผู้ที่เขียนบทความเป็นผู้ช่ำชองด้านวิชาการ และเขียนเรื่องยาก ๆ ให้กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ และที่สำคัญ เป็นเรื่องของความจริงที่หัวเราะไม่ออกกันเลยทีเดียว จะขอคัดมาเฉพาะตอนสำคัญ ๆ เท่านั้น
เริ่มที่เรื่องที่คอลัมน์นี้ได้เคยเขียนไว้ก่อนหน้าว่า ว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมา อีก 6 เดือนที่เหลือคร่าวๆ ก็จะไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้อย่างที่โม้เอาไว้ ตัวเลข หลัก 4 ไม่น่าจะเห็น
บทความของ ”ลมเปลี่ยนทิศ” ที่ลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ตั้งชื่อว่า “แจกอีก 2 หมื่นล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ”..
“ถ้ามีการจัดอันดับ “รัฐบาลจอมแจก” ผมยกให้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองอันดับ 1 ของโลกไปเลย หนึ่งปีเศษที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐบาลจัดตั้ง โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกกันว่า “บัตรคนจน”
โดยมี คนยากจนลงทะเบียนรับบัตรไปทั้งสิ้น 14.5 ล้านคน และ รัฐบาลแจกเงินคนจน 14.5 ล้านคนไปแล้วกว่า 120,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่หายจน ยังไม่นับ การแจกเงินข้าราชการบำนาญ 24,700 ล้านบาท แจกเงินชาวสวนยางสวนปาล์มอีก 18,000 ล้านบาท
ล่าสุด รัฐบาลกำลังจะแจกเงินอีก 22,000 ล้านบาทให้ประชาชน 14 ล้านคน เพื่อนำไปใช้จ่ายและท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ”
ถือเป็นโชคที่กระทรวงการคลังกลับหลังหันทันไม่คิดแผลงๆ มาแจกอีก 22,000 ล้านบาทแบบอีรุ่ยฉุยแฉก
แต่ก็ยังแจกอยู่เพราะมาตรการ ครม เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามหามาตรการจูงใจลดหย่อนภาษีเพื่อบรรเทาภาระให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เร่งซื้อบ้าน จากเดิมลดหย่อนได้ 100,000 บาท เพิ่มเป็น 200,000 บาท ลดหย่อนซื้อสินค้าโอทอป ลดหย่อนเรื่องการศึกษา ลดหย่อนด้านท่องเทียวเมืองรอง ลดหย่อนเพื่อซื้อหนังสือ
เรียกได้ว่า ตั้งหน้าตั้งตาแจก ในขณะที่ยังไม่รู้ว่าจะหาเงินได้จากที่ไหน หรือว่าจะรอรัฐบาลใหม่ ซึ่งก็แบเบอร์ได้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องกลับมาเป็นรัฐบาลแน่นอน ก็ค่อยไปแก้กันตอนนั้น
เรียกได้ว่า ”ลำบาก” เพราะรัฐบาลหน้า ลูกผสม ที่หลายพรรค เตรียมขอเก้าอี้สำคัญๆ กันไปหมด ยังไม่เห็นตัว คนที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีไหวพริบ ที่จะแก้ไขได้กันสักคน
เมื่อมารวมกับปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน เป็นบทความของคุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ cfp จั่วหัวน่าอ่าน “หนี้อย่างเป็นสุข”
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการวิเคราะห์พบว่า สัดส่วนการผ่อนชำระต่อรายได้ในปี 2560 ของครัวเรือนไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 29.1% ซึ่งก็ยังไม่สูงมาก แต่พอแยกกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 8,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนภาระจ่ายคืนหนี้ต่อรายได้สูงถึง 54.5% ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ อยู่ที่ 33.3% จนถึง 21.1% สัดส่วนของหนี้เมื่อเทียบกับรายได้ครัวเรือน คือตัวเลขยอดคงค้างของหนี้ เมื่อเทียบกับรายได้ครัวเรือน
หมายความว่า หากครัวเรือนไม่ใช้เงินทำอย่างอื่นเลย ได้รายได้มากี่ปีจึงจะใช้หนี้หมด อัตราส่วนนี้ เป็นตัวเลขที่มีการเปรียบเทียบข้ามประเทศ โดยประเทศที่มีสัดส่วนของหนี้ต่อรายได้ครัวเรือนสูงที่สุดเท่าที่ Trading Economics รวบรวมมาคือ เดนมาร์ก ซึ่งสูงถึง 240.58% (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2560) ในขณะที่จีนอยู่ที่ 106% สหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 105% เยอรมนีอยู่ที่ 82.5% และประเทศไทย อยู่ที่ 55% (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) มองในด้านนี้ หนี้ครัวเรือนของเราก็ยังไม่สูง
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ “แนวโน้ม” ค่ะ มีแนวโน้มว่าหนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้นทั่วโลก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และรัฐบาลส่วนใหญ่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงออกมาตรการจูงใจให้คนใช้เงิน หรือลงทุนเพิ่ม คราวนี้หากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ระยะเวลาคืนเงินต้นก็จะนานขึ้น เพราะเงินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มจำนวนขึ้นค่ะ
แม้คุณวิวรรณ จะพยายามปลอบใจ ว่า หนี้ครัวเรือนยังไม่สูง แต่คำว่า ”แนวโน้ม” หมายความว่า ยังไม่มีการแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง
สองเรื่องผนวกกันไป อ่านแล้วได้ความหมายที่ใกล้เคียงกันรัฐบาลหน้าและทุกรัฐบาล ยังมีปัญหาที่แก้ไม่ตก คือหนี้สินครัวเรือนของประชาชน ที่ยังติดตัวไปตลอด
ตราบใดที่ยังไม่หามาตรการเชิงบังคับออกมาใช้ และเร่งลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นต้องเร่งโฆษณาเพื่อหาเสียง หรือเทเงินเพื่อซื้อใจประชาชน
ก็พอจะกล้อมแกล้มไปได้ แต่เรื่องที่เป็นปัญหาฐานรากจริงๆ ก็ไม่ได้หยิบมาแก้ไข
ประเทศไทย ก็ต้องจมปลักกันต่อไป
โดย คนข้างนอก