ถ้ารัฐบาล...ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไม่ชิงลาออกหรือยุบสภาฯ ไปเสียก่อน เพราะแรงกดดันที่ถาโถมเข้าใส่ล่ะก็...
เราคงได้เห็นแนวคิดกับนโยบายเชิงรุก! ผ่านสิ่งที่ถูกบัญญัติศัทพ์ใหม่ ว่าเป็น...Reopening Economy หรือ “การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจรอบใหม่” กันแน่ๆ...
อะไรคือ Reopening Economy? ใครเป็นผู้รับผิดชอบ? เป้าหมายและกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ไหน?
อันที่จริง...แนวคิด Reopening Economy เกิดขึ้นมาก่อนหน้าที่ นายปรีดี ดาวฉาย อดีต รมว.คลัง จะขอลาออกไปก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ เพราะ “ต้นทาง” คือ แรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างรุนแรง กระทั่งแรงกดดันถูกส่งต่อไปยัง...ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ.
ทว่า...การไร้ “ขุนคลัง” ตลอดเวลาเกือบ 1 เดือนเต็ม! ทำให้แนวคิดนี้...ยังได้ถูกขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม กระทั่ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ตอบรับคำเชิญของ พล.อ. ประยุทธ์ เข้าร่วมคณะรัฐมนตรี ในฐานะ “รมว.คลัง” เมื่อต้นเดือนตุลาคมนั่นแหละ
ภาพความเป็น... Reopening Economy? จึงเริ่มมีความเด่นชัด
Reopening Economy หรือ “การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจรอบใหม่” ก็คือ...การเปิดกว้างให้นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติ ที่ผ่านการตรวจวัดและคัดกรองจากประเทศ “ต้นทาง” ว่า...ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้
ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขของไทยกำหนด..
ข้อเท็จจริง! “คนระดับกลางขึ้นบน” ในหลายๆ ประเทศ ได้เห็นและรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย ถึงมาตรการการรับมือกับไวรัสโควิด-19 กระทั่งสามารถลดและหยุดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตฯได้ดีติดอันดับต้นๆ ของโลก
พูดง่ายๆ ประเทศไทย มีระบบการป้องกัน ดูแลและรักษา รวมถึงต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีพอที่พวกเขา “พร้อมจ่ายแพง” เพื่อพาตัวเองและครอบครัว เดินทางมาท่องเที่ยวยังดินแดนที่สวยงามและปลอดภัยแห่งนี้
ติดอยู่ที่ว่า..เมื่อไหร่รัฐบาลไทยจะเปิดประเทศรับพวกเขา?
ฟัง...นายอาคม พูดเมื่อวันเข้าทำงานวันแรกที่กระทรวงการคลัง (14 ตุลาคม 2563) ถึงแนวทาง Reopening Economy คนไทยคงพอได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น โดยเขาระบุต่อหน้าการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ว่า..
รัฐบาลและกระทรวงการคลัง จำเป็นจะต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 2 มิติ หนึ่ง...คือ การขับเคลื่อนในระยะเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และจากมาตรการของรัฐบาลก่อนหน้านี้
จากมาตรการเยียวยา สู่มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ
มาตรการ “เพิ่มกำลังซื้อ 500” ให้กับ 14 ล้านคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
มาตรการ “คนละครึ่ง” ที่รัฐบาลเปิดให้คน 10 ล้านคน ลงทะเบียนฯ ออนไลน์ เพื่อรับสิทธิ์ค่าใช้จ่ายต่อคนไม่เกิน 3,000 บาท
และมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ที่ภาครัฐจะคืนเงินที่จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนจ่ายจริง รวมกันไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
นัยว่า...หวังจะเพิ่มอำนาจและกำลังซื้อของคนไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
อีกหนึ่ง...คู่ขนานกันไป นั่นคือ การดูแลเศรษฐกิจในภาพรวม โดยกระทรวงการคลัง จะนัดหมายประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ หรือ สศช.) สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) โดยเร็ว...
เป้าหมายในประเทศ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐ โดย นายอาคม เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อการลงทุน เพราะยามนี้...เศรษฐกิจไทย อยู่ได้โดยการลงทุนของภาครัฐ และกำลังซื้อจากมาตรการระยะสั้นข้างต้น
แต่นั่น...ยังไม่เพียงพอต่อการจะกระตุ้นเศรษฐกิจ
จำเป็นจะต้องเร่งรัดโครงการ Reopening Economy หรือ “การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจรอบใหม่” โดยเร็ว...
และจะตั้งรับเหมือนเช่นในอดีตไม่ได้อีกแล้ว นั่นจึงเป็นที่มา...ทำให้ นายอาคม บอกต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังว่า..
จากนี้...กระทรวงการคลังจะต้องเร่งเจรจากับกระทรวงการต่างประเทศ โฟกัสไปยัง...สถานทูตไทยในต่างประเทศ ผ่าน...ทูตพาณิชย์ เพื่อเชื่อมต่อไปยัง...นักธุรกิจและนักลงทุนในประเทศ “ต้นทาง” เหล่านั้น เพื่อเชิญให้พวกเขาเดินทางมาท่องเที่ยวและหาลู่ทางการลงทุนในบ้านเรา...
อีกคำศัพท์ใหม่...เกิดขึ้นตามมา ก็คือ Investment Tourism หรือ กลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อการลงทุน ซึ่ง นายอาคม ย้ำว่า...ทางการไทยจะไปเชิญชวนคนกลุ่มนี้ เข้ามาท่องเที่ยวพร้อมกับลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมขั้นสูง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การส่งเสริมให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)
แต่หาก Investment Tourism มองเห็นโอกาสในพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากพื้นที่อีอีซี รัฐบาลก็พร้อมจะเจรจาเพื่อกำหนดเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายรับได้และพอใจ...
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองขมึงเกลียว...ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่เคยมองเห็นประเทศไทยเป็น “สวรรค์ของการลงทุน” เปลี่ยนใจ...ไม่เข้ามา ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลุ่มเดิมๆ ที่เคยลงทุนในประเทศไทย ต่างทยอยพากันย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง...เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ
การดึงเอากลุ่ม Investment Tourism ทั้งจากชาติในยุโรป อเมริกา และบางส่วนจากเอเชีย จึงน่าจะเป็นทางออกของเรื่องนี้...
ในวิกฤตย่อมมีโอกาสแฝง!
การย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศไทย อาจส่งผลดีต่อภาพรวมฯได้ โดยเฉพาะ หากประเทศไทย ไร้ซึ่ง... “อุตสาหกรรมเก่า” ที่เสี่ยงต่อการสะสม “มลพิษ” รูปแบบต่างๆ ไปสู่ “อุตสาหกรรมใหม่” ที่เน้นความเป็น “ไฮเทคโนโลยี” และการสร้างคุณภาพชีวิต รวมถึงการยกระดับการผลิตเพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยแล้ว
สิ่งนี้...ก็ไม่ต่างอะไรกับ Reopening Economy คือ จับคนระดับกลางขึ้นบน
น้อยราย...แต่มากซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจและมาตรฐานคุณภาพในทุกมิติ จากนี้...การท่องเที่ยวและการลงทุนในเชิงปริมาณจากต่างชาติ อาจไม่เหมาะสมกับประเทศไทยในวันข้างหน้าอีกต่อไปแล้ว
จาก... Reopening Economy ถึง Investment Tourism ไม่แน่ว่า...ประเทศไทยในวันข้างหน้า อาจถึงคราวจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล.