ถามไถ่กันเข้ามามากเหตุใดและทำไม บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ถึงพยายามกระเตงสัมปทานร้านปลอดอากร "ดิวตี้ฟรี "หลบลี้หนี พ.ร.บ.ร่วมลงทุน หรือ พ.ร.บ.พีพีพี สุดลิ่ม!
และการที่ "สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์" และเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชั่น ออกมาร้องแรกแหกกระเชอให้ภาครัฐล้วงลูกลงไปตรวจสอบกระบวนการประ(เคน)มูลสิทธิสัมปทานในครั้งนี้อย่างถึงพริกถึงขิงอยู่นั้น ไป ”รับจ๊อบรับแผน” ใครมากันหรือไร? ถึงขนาดที่ "ทาสแมวในวงการสื่อ" ออกโรงไปโพนทะนาว่า สงสัยจะรับจ๊อบบริษัทต่างชาติ อยากประเคนดิวตี้ฟรีให้ต่างชาติอย่างกลุ่มล็อตเต้เข้ามา "ชุบมือเปิบ" สัมปทานดิวตี้ฟรีไทยไปกระมัง
เอาเป็นว่าหากเขาสามารถจ่ายค่าสัมปทานให้ ทอท. ได้ถึง 50,000 ล้าน หรือ 100,000 ล้านได้จริง "แก่ง หินเพิง" ก็คงชูจั๊กแร้เขียร์สุดลิ่มทิ่มประตูทั้งนั้นแหละ!
ส่วนเรื่องที่ว่า ทำไม ทอท. ถึงพยายามกระเตงโครงการสัมปทานดิวตี้ฟรีนับแสนล้านบาทนี้ หนี พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 ในอดีต และ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในปัจจุบัน รวมทั้งไม่ยอมนำเอาโครงการนี้เข้าไปดำเนินการอยู่ภายใต้ ”ข้อตกลงคุณธรรม” อะไรด้วยนั้น
มันก็เหตุผล “ซิมเพิ่ลๆ” ง่ายๆ เพราะผลประโยชน์นับแสนล้านโครงการนี้นั่นแหล่ะ มากมายมหาศาลแค่ไหน ก็ดูอาณาจักร “เจ้าสัวคิงเพาเวอร์” ที่ผงาดขึ้นติดท็อป 10 มหาเศรษฐีของประเทศในระยะเวลาไม่กี่ปี ก่อนจะส่งต่อมายัง ”เสี่ยอัยยวัฒน์” บุตรชายล่าสุด!
หาก ทอท. ต้องดำเนินการประมูลสิทธิ์ร้านปลอดภาษี ”ดิวตี้ฟรี” ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ “พีพีพี” เดิมนั้น ฝ่ายบริหาร และคณะกรรมการ ทอท. จะไม่สามารถกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลที่มันพิลึกพิลั่นสุดพิสดาร ประเภทตั้งเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค ประสบการณ์ ชื่อชั้นบริษัทที่เข้าประมูลรายไหนมีความแกรนด์หรืออินเตอร์กว่ากัน รายใดมีแผนการตลาด แผนการเงินที่สวยหรูดูดีกว่าก็ได้ไป
เพราะเกณฑ์แบบนี้มันก็แค่มหกรรม "ปาหี่" ที่ตั้งเอาไว้ "ล็อคสเปค" ให้แก่ใครบางคนเท่านั้นหรือไม่?
เพราะตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน จะปี 2535 หรือ 2556 หรือ พีพีพี แต่เดิมนั้น เขาวัดกันที่ผลประโยชน์สูงสุด หรือค่าต๋งสูงสุดเข้ารัฐเป็นเกณฑ์ชี้ขาดสัมปทานกันครับ ผิดไปจากนี้คณะกรรมการประมูลที่กอปรด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนับสิบหน่วยงานไม่ทีทางยินยอมให้ประเทศชาติเสียประโยชน์แน่
แต่พอกระทรวงการคลังไปยกเครื่องแก้ไข กม.ร่วมลงทุนฯ เดิม เป็น พ.ร.บ.พีพีพี ปี 2562 ให้แยกโครงการสัมปทานในเชิงพาณิชย์ หรือสัญญาเช่าที่ดินทั้งหลายออกจากกฎหมายนี้ มันก็เข้าทาง ทอท. ไปอย่างข่วยไม่ได้ เราถึงได้เห็นการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลดิวตี้ฟรีสุดพิสดาร ชี้ขาดกันที่ข้อเสนอทางเทคนิค ประสบการณ์และแผนการตลาด
ประเภทที่ว่าต่อให้คู่แข่งเสนอผลตอบแทนแก่รัฐกันเป็นแสนล้าน ย้ำว่าเป็น ”แสนล้าน” ก็จะถูกตีค่าว่า เป็นข้อเสนอทางการเงินที่ไม่สอดคล้องกับแผนธุรกิจและแผนการเงิน มุ่งหวังจะได้สิทธิ์สัมปทานโดยไม่อิงหรือตั้งอยู่บนพื้นฐานทางการเงิน และคงจะถูกตีตกไป เพราะในทีโออาร์การประมูลในครั้งนี้ ทอท. ตั้งเกณฑ์ทางการเงินแค่ 20% เท่านั้น
ทั้งๆ ที่ภายใต้ข้อเสนอทางการเงินดังกล่าวมี “แบงก์การันตี” เป็นหลักประกันอยู่ด้วย หากบริษัทเอกชนที่เสนอผลตอบแทนแก่รัฐสุดเว่อวังอลังการทำไม่ได้จริง ทอท. ย่อมสามารถจะไปไล่เบี้ยยึดแบงก์การันตีได้อยู่แล้ว!!!
ทั้งหลายทั้งปวง เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า การยกเครื่องแก้ไข พ.ร.บ. ร่วมลงทุนรัฐและเอกชน ปี 2562 ที่กระทรวงการคลังดำเนินการไปล่าสุดนั้น มันหาใช่การแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ของรัฐโดยตรง ตรงกันข้ามกลับทำให้หน่วยงานรัฐสูญเสียประโยชน์จากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้หนักขึ้นไปอีก!
ส่วนใครอยู่เบื้องหลังการยกเครื่องแก้ไขกฎหมายสัมปทานพีพีพีดังกล่าว ก็คงต้องถาม สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ “บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” แล้วหล่ะ
และหากจะให้ฟันธงต่อไป ถึงการฟอร์มรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังขับเคี่ยวกันสุดลิ่มทิ่มประตูอยู่นั้น พรรคภูมิใจไทยของ ”เสี่ยหนู - อนุทิน ชาญวีรกุล” หรือเสียงเต้นของหัวใจอะไรอยู่นั้น
”แก่ง หินเพิง” ฟันธงลงไปตรงนี้เลยว่า ยังไงพรรคนี้ก็ต้องกุมบังเหียนกระทรวงคมนาคมและต้องส่งคนมากำกับดูแลบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 1,000,000% ปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาลอื่นคุมไม่ได้แน่ เพราะหลัง ”เสี่ยหนู” นั้นยังมี “ยี่ห้อย 120” ที่ใครต่อใครก็รู้ดีว่า
นี่คือคน “กากี่นั๊ง” ของอาณาจักรเจ้าของธุรกิจดิวตี้ฟรีของแท้และดั้งเดิม!!!
โดย..แก่ง หินเพิง