รัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 นับถึงวันนี้ ก็เกือบ 5 ปีเต็ม กว่าจะได้รัฐบาลใหม่มา ซึ่งก็ไม่รู้เมื่อไหร่ ยังไงๆ ลุงตู่ก็อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 5 ปีแน่นอน
รัฐประหารครั้งนี้ นัยว่ามีการเตรียมการมานานพอสมควร โดยศึกษาจากข้อผิดพลาดของการทำรัฐประหารโดย คมช. เมื่อปี พ.ศ. 2549 ซึ่งถูกมองว่า เป็นการ ”เสียของ” เพราะไม่สามารถเอาชนะกระแสความนิยมของพรรคไทยรักไทย (ซึ่งต่อมาถูกยุบพรรค กลายร่างเป็นพรรคพลังประชาชนและในที่สุดเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน)
ที่กลับมาชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2551 ภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ซึ่งได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 25 ทั้ง ๆ ที่ได้มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่รัฐบาลเผด็จการจัดการร่างขึ้นมา เพื่อให้พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม มีโอกาสชนะเลือกตั้งมากกว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 มาบังคับใช้
ก่อนหน้ารัฐประหาร มีการสร้างสถานการณ์ว่า “การเมืองไทยถึงทางตัน” โดยเริ่มจากการบอยคอตไม่ยอมส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งของพรรค ปชป. และการออกมาชัตดาวน์ กทม. ของ กปปส. ซึ่งนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ชูแนวความคิดปลุกระดมว่า ให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
มีการขัดขวางการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. 2557 ทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นกลายเป็นโมฆะ เพราะฝ่าย ปชป. รู้ว่าเลือกไปก็แพ้ตั้งแต่ในมุ้ง เลยหาเหตุล้มการเลือกตั้ง ซึ่ง ปชป. ออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับ กปปส. แต่ก็มีภาพนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายชวน หลีกภัยไปร่วมเป่านกหวีดกับลุงกำนัน แชร์กันให้ว่อนในสื่อออนไลน์ แล้วอย่างนี้ จะให้เข้าใจเป็นอื่นได้อย่างไร นายมาร์คก็จะขอนายกฯ พระราชทานอยู่นั่นแหละ
ท้ายที่สุด ลุงตู่ซึ่งตอนนั้นเป็น ผบ.ทบ. อ้างเหตุความไม่สงบ ประกาศกฎอัยการศึก เอากำลังทหารมาตรึงรอบกรุงเทพมหานครและถือโอกาสประกาศยึดอำนาจในการประชุมข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำที่สโมสรกองทัพบก เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 สถาปนา คสช. เป็นรัฐถาธิปัตย์ เรียบร้อยโรงเรียนป้อมและตู่
ผ่านมาจนวันนี้จะครบ 5 ปีแล้ว เรื่องปฏิรูปที่เรียกร้องกันจะเป็นจะตาย ทำกันไปถึงไหน มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกองทัพ ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม การศึกษา พลังงาน ฯลฯ ที่เรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งมัน ก็เป็นแค่วาทกรรม เอาไว้หลอกสาวกและคนที่ไม่รู้เท่าทันเกมการเมืองให้เป็นเครื่องมือเท่านั้น
ประเทศไทยเสียหายทางเศรษฐกิจมากมายมหาศาลแค่ไหน เสียโอกาสที่จะพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จนประเทศเพื่อนบ้านที่ล้าหลังเรากำลังจะก้าวทันและก้าวแซงเราไปแล้วหลายก้าว เพียงเพื่อแลกกับความสงบเรียบร้อยจอมปลอมภายใต้การกดขี่เท่านั้นหรือ..
ภายหลังการยึดอำนาจ ในปีแรก ๆ เราก็จะเห็นการออกมา Propaganda โดยเพลงสารพัด เช่น เราจะอยู่ไม่นาน... รายการคืนความสุข (ถามจริง ๆ เถอะ มีใครอยากดูรายการที่ว่านี้บ้าง) ให้ประชาชน ซึ่งมีแต่คนปิดทีวีหนีไปดูสื่อออนไลน์กันหมด จากนั้น คสช. ก็ตั้งคณะทำงานต่าง ๆ กลายเป็นแม่น้ำ 5 สาย อันได้แก่
1. สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)
2. สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ)
3. ครม. (คณะรัฐมนตรี)
4. กรธ. (คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ)
5. คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)
ปรากฎชัดว่า แม่น้ำสายที่ 1-4 ก็ล้วนมีกำเนิดมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งสิ้น ซึ่งจนถึงวันนี้ สมาชิกจำนวนไม่น้อยจาก สนช. สปช. และ ครม. กำลังจะกลายไปเป็น วุฒิสมาชิก (สว.) จำนวน 250 คน จากการคัดเลือกและแต่งตั้งเองกับมือของลุงป้อม ซึ่ง สว. ทั้ง 250 คนก็มีสิทธิ์ร่วมโหวตคัดเลือกนายกรัฐมนตรีกับ สส. ในสภาล่างอีกด้วย
จากการถอดบทเรียนของการทำรัฐประหารปี 2549 ลุงตู่ก็รู้ว่า ต้องรักษาอำนาจไว้ในมือให้นานที่สุด ดังนั้น เลยตัดสินใจควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เสียเอง (ไม่ยอมยกตำแหน่งนายกฯ ไปให้คนอื่นที่ไม่ได้ร่วมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เป็นฤาษีขี่เต่าเหมือนเมื่อคราวสมัย คมช.) แถมยังมีดาบอาญาสิทธิ์ ม.44 ไว้ใช้อีกดังแก้วสารพัดนึก
การยกร่างรัฐธรรมนูญโดย กรธ. ชุดแรกภายใต้การนำของ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็คว่ำไม่เป็นท่า ไม่แน่ใจว่าตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นหรือเปล่า จะได้ดึงเวลาให้เนิ่นนานออกไปอีกอย่างน้อย 18-24 เดือน
จนมาถึง กรธ. ชุดที่สอง นำโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งได้ศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งของ รธน. ปี 40 และ รธน. ปี 50 กลายพันธุ์เป็น รธน. ปี 60 ที่มีความพิสดารลึกล้ำ มีค่ายกลต่าง ๆ มากมาย แม้แต่ กกต. เองก็ยังไม่รู้ว่าจะใช้สูตรใดในการคำนวณเลือก สส.แบบบัญชีรายชื่อ
รธน. ปี 60 ได้วางค่ายกลไว้พิสดารพอสมควร เริ่มจากการแบ่งจำนวน สส. 500 คน ออกเป็น 2 ประเภท คือ สส. แบบแบ่งเขต 350 คน และ สส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน กาเบอร์เดียว มีผลทั้งกับ สส. ทั้งสองประเภท (ไม่แยกให้กาเบอร์แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อแยกกัน) และยังบอกอีกว่าทุกคะแนนที่พี่น้องประชาชนเลือกผู้แทนฯ จะต้องไม่ตกน้ำสูญเปล่า ไม่ว่าผู้แทนคนนั้นจะชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหรือไม่ก็ตาม ให้นำมานับรวมเป็นคะแนนของพรรค เพื่อใช้ในการคำนวณ สส. แบบบัญชีรายชื่อต่อไป
ผลก็คือ ทำให้คะแนนถูกกระจายออกไป โอกาสที่พรรคการเมืองใดพรรคหนึ่งจะกวาดที่นั่งในสภาเหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อนย่อมเป็นไปได้ยาก แถมยังมีการแก้เขตเลือกตั้งใหม่ให้วุ่นวายไปหมด และกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศ จับสลากเลือกเบอร์อย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั่วประเทศ เพื่อจะได้รณรงค์หาเสียงแบบยกพรรคได้ลำบากมากขึ้น
ภายหลังประกาศวันเลือกตั้งแล้ว คสช. ยังไม่ยินยอมให้พรรคการเมืองเริ่มทำกิจกรรมการเมืองได้ แถมยังกำหนดให้เซ็ตซีโร่รายชื่อสมาชิกพรรคเดิมอีก เรียกว่าตัดกำลังกันทุกรูปแบบ ในขณะที่พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการสามารถทำกิจกรรมการเมืองได้อิสระ เช่น การระดมทุนโดยการจัดเลี้ยงโต๊ะจีน การลดแลกแจกแถมของ ครม.ในการประชุม ครม. สัญจรตามจังหวัดต่าง ๆ ในโครงการ “ประชารัฐ” นัยว่าเพื่อซื้อใจประชาชน (โดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน)
แถมพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ก็ยังสามารถใช้คำว่า “ประชารัฐ” เป็นชื่อพรรคได้อีกด้วย มีการพยายามดูดเอา สส. ของพรรคใหญ่มาอยู่ในสังกัดพรรคของตน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดเดิมก็ถูก ม. 44 โละออกทั้งทีม ตั้งเอาคนที่คิดว่าสนองความต้องการของตนได้เข้าไปเป็น กกต. ทั้ง 7 คน แต่ดันไม่มีประสบการณ์จัดการเลือกตั้งมาก่อน ทั้ง ๆ ที่ก่อนเลือกตั้งไม่กี่วัน ยกคณะไปดูงานถึงยุโรป หมดเงินไปหลายสิบล้านบาท กลับมาจัดการเลือกตั้ง ก็มีปัญหาวุ่นวายไปหมด
ทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งจริง มีบัตรเลือกตั้งที่ส่งมาจากต่างประเทศล่าช้า กลายเป็นบัตรไม่เสีย แต่ไม่นับคะแนน บัตรเขย่ง จำนวนบัตรเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ ฯลฯ ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน ก็มีการรีบสอยเอาพรรคฝ่ายต่อต้าน คสช. โดยการยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ในข้อหากระทำการอันเป็นปฏิปักษ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การดำเนินการเร่งรีบมาก ในขณะที่ข้อร้องเรียนเรื่องการจัดโต๊ะจีน กกต. ก็เบี่ยงเบนประเด็นไปว่า ไม่มีบริษัทต่างชาติเข้าร่วม ซึ่งไม่ตรงกับข้อร้องเรียนว่ามีหน่วยงานรัฐบริจาคเงินให้พรรค พปชร. หรือไม่ (โปรดติดตาม ตอนที่2)
โดย นักวิชาการไร้สังกัด