ภายหลังทราบผลการเลือกตั้งของเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 อย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้ สส. แบบแบ่งเขตมากที่สุด ซึ่งตามธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติในสภา จะได้รับสิทธิ์ให้จัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่พรรค พปชร. ซึ่งได้ สส. แบบแบ่งเขตน้อยกว่า แต่มีคะแนนรวมมากกว่าของพรรคเพื่อไทย กลับอ้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล โดยอ้างว่า จำนวนคะแนนที่มากกว่า หมายถึงได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากกว่า ซึ่งการเลือกตั้งของไทยนั้น ต่างกับของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีทั้งการเลือกแบบ Electoral College และแบบ Popular Votes ซึ่งในการเลือกประธานาธิบดี เขาก็ยังใช้คะแนนของ Electoral College หรือการโหวตของสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก ซึ่งเป็นการให้ความเป็นธรรมกับรัฐที่มีประชากรน้อย ในขณะที่ของไทย ไม่มีที่ใดที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า จะให้ความสำคัญกับคะแนนรวม (Popular Votes) ในการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพราะคะแนน Popular Votes นั้นเอาไว้ใช้ในการคำนวณหาจำนวน สส. แบบบัญชีรายชื่อเท่านั้น แต่พรรค พปชร. ก็ไม่ฟังเสียงคัดค้าน อ้างว่า พรรคใดที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ก่อน ก็มีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล โดยมีข่าวเล็ดรอดออกมาว่า มีความพยายามซื้อเสียงของ สส. งูเห่าจากพรรคฝ่ายตรงข้าม เพื่อมาโหวตให้กับพรรคตน เพราะ รธน. ปี 60 กำหนดว่าการโหวตเลือกนายกฯ ให้เป็นเอกสิทธิ์ของ สส. ไม่จำเป็นต้องตรงกับมติของพรรคก็ได้ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2662 ยังสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับกลุ่มอำนาจการเมืองเก่า ซึ่งเดิมคิดว่าจะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรค พปชร. เพียงสองพรรคเท่านั้น..แต่กลับปรากฏว่า มี ”พรรคม้ามืด” ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้จำนวน สส. มากถึงเกือบ 100 คน มีคะแนนเป็นลำดับที่ 3 เป็นรองแค่พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น ชนะแม้แต่พรรคเก่าแก่ที่สุด อย่าง ปชป. และพรรคภูมิใจไทย นั่นก็คือ “พรรคอนาคตใหม่” ซึ่งเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่จริง ๆ ไม่มีผู้สมัครที่เคยเป็น สส. มาก่อน ทั้งหัวหน้าพรรค เลขาพรรค โฆษกพรรค ก็ไม่เคยทำงานการเมืองมาก่อน พรรค อนค. เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ ยังไม่ครบปีด้วยซ้ำ ทำเอากลุ่มอำนาจเดิมรับไม่ได้ พรรค อนค. พลันกลายเป็นตำบลกระสุนตก จัดการประเคนสารพัดข้อหาทางกฎหมาย เช่น ปมการถือครองหุ้นสื่อ คดีก่อความไม่สงบในอดีตย้อนหลังไปกว่า 3 ปี คดีหมิ่นศาล ฯลฯ โดย กกต. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงนักร้อง (เรียน) ขาประจำอย่าง ท่านศรีฯ และนักร้องหน้าใหม่อย่างคุณอุ๊ แวนโก๊ะ ที่หาญกล้าขอท้าดีเบตกับ ดร. ปิยบุตร รวมถึงนักร้องตัวจริงอย่าง โจ นูโว และสื่อเลือกข้างบางสื่อ ออกมาถล่มทั้งในจอทีวีและในหน้าสื่อออนไลน์ อ้างว่า อนค. พยายามล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพียงเพราะว่า อนค. ได้ประกาศในระหว่างการหาเสียงว่าจะเข้าไปแก้ไข รธน. 60 ทั้งฉบับ ฯลฯ ซึ่งหากความพยายามจะสกัด อนค. สำเร็จ นายธนาธร และนายปิยบุตร ก็อาจโดนโทษจำคุกหรือโดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองนานนับสิบปี..นัยว่าเป็นการเด็ดหัว (หน้าพรรค) พรรค อนค. ตัดไฟเสียแต่ต้นลม จะได้ไม่เป็นหอกข้างแคร่..จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เรียบเรียงมาข้างต้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีความร่วมมือของกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย/กลุ่ม เช่น นักการเมือง (ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น) องค์กรอิสระ กองทัพ (ที่มีอาวุธเป็นอำนาจ) ตำรวจ นักเคลื่อนไหวนอกสภาอย่างเช่น พันธมิตรฯ กปปส. นักร้องเรียนโดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย อย่างเช่น ท่านศรีฯ ศาล ข้าราชการประจำ และกลุ่มทุนเอกชนขนาดใหญ่ที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน เพื่อที่จะรักษาฐานอำนาจเดิมของตนไว้ ทำให้การเมืองของไทยในปัจจุบันได้พัฒนาไปจนถึงขั้นที่กลุ่มการเมืองต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น สามารถประสานผลประโยชน์ได้อย่างลงตัว การดำเนินงานเพื่อทำลายศัตรูทางการเมืองทำกันอย่างเป็นระบบสอดรับประสานกัน ดังนั้น “การจะทำลายความร่วมมือของกลุ่มอำนาจเดิม จึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา” ที่ผ่านมาในอดีต เราจัดให้มีการเลือกตั้ง ประชาชนเลือกผู้แทนเข้าสภา ผู้แทนฯเลือกนายกฯ นายกฯเลือก ครม. พอผลประโยชน์ไปขัดกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดข้างต้น ก็จะมีกระบวนการที่พยายามจะล้มรัฐบาล ทั้งในสภา ถ้าสู้ในสภาไม่ได้ ก็ออกมาเคลื่อนไหวข้างถนนอย่างที่พันธมิตรฯ และ กปปส. เคยทำ แล้วก็สร้างสถานการณ์ให้เกิดทางตัน หรือ deadlock เรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร คือเป็นการล้มกระดาน ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วก็ร่าง รธน. กันใหม่ ร่างเสร็จก็มาทำประชามติ แล้วก็จัดให้มีเลือกตั้ง เป็นวงจรอุบาทว์อย่างนี้ไม่จบไม่สิ้น หรืออาจเป็นเพราะว่า คนไทยเป็นคนไม่มีน้ำใจนักกีฬา ไม่รู้แพ้ รู้ชนะ ใช่หรือไม่ ผู้เขียนไม่แน่ใจ แต่บ่อยครั้งที่เรามักเห็นการทะเลาะวิวาทในวงการกีฬา เพียงเพราะว่าความเชื่อหรือค่านิยมเก่าๆ ที่ว่า บอลแพ้ คนไม่แพ้ ถ้าเรายังไม่รู้จักที่จะแก้ไขปัญหาโดย ”ใช้ปัญญา แทนที่จะใช้อารมณ์” หรือกำลังเข้าห้ำหั่นกัน เล่นไปตามกติกาการเมือง จริง ๆ แล้ว รธน. เราใช้มาแล้วหลายสิบฉบับ จะร่างให้รองรับทุกสถานการณ์ก็ย่อมทำได้ มันไม่มีจริงหรอก เรื่องทางตันทางการเมือง เรียนผูก ก็ต้องเรียนรู้วิธีแก้ (โดยเคารพกฎหมาย) ไม่ใช่เอะอะก็จ้องจะล้มกระดานโดยให้ทหารออกมารัฐประหารท่าเดียว ถ้าเรายังไม่สามารถทำให้ประชาชนรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของผู้มีอำนาจ ก็อย่าหวังว่าประเทศไทยจะก้าวทันประเทศอื่นที่เขาเจ็บแล้วจำ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย พม่า และ ฟิลิปปินส์ ที่ล้วนมีรัฐบาลเผด็จการมาอย่างยาวนานเหมือนของเรา เดี๋ยวนี้เขาพัฒนาการเมืองไปไกลแล้ว บ้านเรายังพายเรืออยู่ในอ่าง เป็นแผ่นเสียงตกร่อง วนอยู่ใน loop เดิม ๆ ถ้านับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ถึงปัจจุบัน เราก็เสียเวลาพายเรือในอ่างมาเกือบ 13 ปีเต็มแล้ว อดีตเป็นสิ่งที่เรากลับไปแก้ไขไม่ได้ แต่ปัจจุบันเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ เพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานไทยทุกคนโดย นักวิชาการไร้สังกัด