เจอวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบนี้ ว่าหนักแล้ว? แต่ยังมีคนไทย “3 กลุ่มหลัก” ที่นอกจากจะไม่ได้สิทธิ “เราชนะ” รับเงิน 3,500 บาท 2 เดือนแล้ว ยังต้องโดนภาครัฐ “ล้วงลับ-ตับแตก” ตรวจสอบฐานรายได้และบัญชีเงินฝาก ชนิด “ล่อนจ้อน” โดยไม่รู้ตัว! หากจะบอกว่า...สถานการณ์นี้ มิต่างจาก วิกฤตซ้อนวิกฤต! ก็คงไม่แปลกอะไร?
คนไทยกำลังเผชิญชะตากรรมอะไรกัน!
เราได้นายกรัฐมนตรี ประเภท...“ผีเข้า-ผีออก”
มีคำถามว่า เรามีรัฐบาล...ทำงานภายใต้คำบัญชาของบรรดาเจ้าสัวฯ ยักษ์ใหญ่ ในแวดวงธุรกิจระดับชาติและระดับภูมิภาคอาเซียนหรือไม่?
ไม่ทันจบสงครามการค้าของ 2 ชาติมหาอำนาจ ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจระดับโลก ระหว่าง “สหรัฐฯ-จีน” ก็มีเจ้าตัวไวรัสเชื้อร้ายที่ชื่อ “โคโรนา 2019” (โควิด-19) แทรกกลางกระหน่ำซ้ำ ช้ำกันไปทั้งโลก!
วิกฤตรอบที่แล้ว...ทำท่าเหมือนจะกำลังจะผ่านพ้นไป เศรษฐกิจไทยที่เคยดำดิ่งสุดๆ “ติดลบ” ระดับ 2 หลัก เมื่อช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ก็เริ่มผงกหัวในในไตรมาสที่ 3 และดีขึ้น จนเริ่มมองเห็นอนาคตในไตรมาสที่ 4 ของปีเดียวกัน
ทว่า ช่วงท้ายๆ ของปีปฏิทิน 2563 กลับมีเรื่องช็อกโลก! เมื่อประเทศไทย หวนกลับมาสู่วังวนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ และมันยังคงแพร่ระบาดต่อไปจนถึง ณ นาทีนี้
ต้นตออันเป็นสาเหตุของวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบนี้ มาจาก “ความฉ้อฉล” เป็นสำคัญ...
เริ่มจากเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้ “อำนาจพิเศษ” พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รับ “สินบนส่วย” ทั้งจาก...การลักลอบขนแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเข้าประเทศ และปล่อยให้มีการเปิดบ่อนพนันเถื่อน จน 2 เคสท์นี้...ได้กระจายไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ไปสู่คนไทยทั่วประเทศ
สิ่งที่รัฐบาล และหน่วยงานราชการ ทำกันมาตลอด 10 เดือนเศษ หลังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบแรก เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
กลายเป็นความสูญเปล่า! ที่ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่อีกครั้ง...
เหนื่อยงบประมาณแผ่นดิน อันมาจากเงินภาษีประชาชน ก็นับว่าหนักหนาสาหัสมากอยู่แล้ว...
เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นๆ ที่ส่วนร่วมอย่างมากในการศึกสงครามต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ยังต้อง...เหนื่อยกาย เหนื่อยใจ แล้วยังต้องเสี่ยงตาย...กับภารกิจรอบใหม่ ที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงตรงจุดไหนอีก
วิกฤตรอบนี้...หลายคน โดยเฉพาะรัฐบาลและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของรัฐ ต่างประเมินกันในเวทีของ ศคบ. และ ศบศ. ว่า...
ไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคม 2564 นี้...น่าที่รัฐบาลจะ “เอาอยู่!” กับเจ้าไวรัสโควิด-19
บนสมมุติฐานนี้เอง ทำให้รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง วางแผนจัดทำมาตรการ “รับมือ” ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนและภาคธุรกิจ ทั้งหมดเป็นมาตรการในเชิงเศรษฐกิจ
กับประชาชน รัฐบาลได้ออกมาตรการ “เราชนะ” จ่ายเงินเยียวยาคนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน (กุมภาพันธ์ - มีนาคม) ให้กับคนกลุ่มหลักของประเทศ...
นั่นคือ...กลุ่มเกษตรกร, ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 39 และ 40
โดยคน 2 กลุ่มหลัง ยังต้องถูกตรวจเช็คจาก...รายได้จริงและบัญชีเงินฝาก ว่ายังอยู่ในเกณฑ์ “คนมีรายได้น้อย” ที่สมควรได้รับเงินเยียวยาจากมาตรการ “เราชนะ” หรือไม่?
กับภาคธุรกิจ...รัฐบาลและกระทรวงการคลัง มอบหมายให้ 7 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบด้วย...ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), SME D BANK, EXIM BANK, บสย., และธนาคารอิสลาม ร่วมด้วยช่วยกัน...แก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบกลุ่มนี้
ตั้งแต่...ให้สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ จนถึง...การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย โดยขึ้นอยู่กับว่า...ธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจแห่งใด? หรือมีความต้องการพิเศษอย่างไร?
มากกว่านั้น...เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบนี้ แม้จะรุนแรงกว่ารอบที่แล้ว และจำกัดวงได้ยากกว่า กระนั้น รัฐบาลเลือกจะไม่ประกาศ “ล็อกดาวน์” แต่ใช้วิธีการแบ่งสีแบ่งโซน และออกมาตรการคุมเข้มในพื้นที่ที่มีการระบาดฯอย่างรุนแรง
เมื่อไม่มีการประกาศ “ล็อกดาวน์” ทั่วประเทศ ภาคธุรกิจในหลายๆ พื้นที่ จึงยังคงเดินหน้ากันต่อไป ภายใต้มาตรการการคุมเข้มที่สุดข้น!
หันมาดูมาตรการ “เราชนะ” ที่เสมือนเป็น “ภาค 2” ของมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” ซึ่งรัฐบาลเคยจ่ายเงินเยียวยา คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (เมษายน - มิถุนายน 2563) ให้กลุ่มคนเดียวกันกับในรอบนี้
แต่ครั้งก่อน...เป็นการแบ่งกันเดินแยกกันทำ ทว่ารอบนี้...ทำไปเป็นก้อนเดียวกันไปเลย
การแยกกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิ “เราชนะ” ออกมาในครั้งนี้...ดูเหมือนภาครัฐ โดยกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยี (ซอฟท์แวร์) จะมีความมั่นใจอย่างมาก ถึงประสิทธิภาพในการคัดกรอง หลังจากพวกเขามีประสบการณ์จากการทำงานในลักษณะเช่นนี้มายาวนาน
ตั้งแต่...บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน, เราไม่ทิ้งกัน, คนละครึ่ง, ช้อปดีมีคืน ฯลฯ จนถึงล่าสุด เราชนะ
ทั้งหมดล้วนเป็นการจัดเก็บฐานข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ...อาชีพ รายได้ บัญชีเงินฝาก ฯลฯ ของประชาชน
หาก “โฟกัส” ไปยังกลุ่มคนที่ไม่ได้รับสิทธิในมาตรการ “เราชนะ” แล้ว...พูดได้ว่า นี่คือ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” อย่างแท้จริง!
อย่างไร? นั่นเพราะ...คนกลุ่มนี้ หลายคนเป็น...เกษตรกรที่มีเกณฑ์รายได้สูงเกินคนมีรายได้ปกติ
หลายคน...ประกอบอาชีพอิสระ หลายคน...นำเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคม ตามมาตรการ 39 และ 40 ที่นายจ้างไม่ได้เกี่ยวข้องการส่งเงินฯ เพราะตัวเองเป็นนายจ้างของตัวเอง
ทว่าคนทั้ง 3 กลุ่มนี้...ถูกตรวจสอบชนิด “ล้วงลึก” ไปยัง...ฐานรายได้และเงินฝากในบัญชี ทั้งที่สิ่งนี้...เจ้าตัวเองก็คงไม่อยากให้ใครได้รับรู้อย่างแน่นอน!
แต่เพราะวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบใหม่นี่เอง ที่ทำให้คนกลุมนี้...เกษตรกรที่มีฐานะดี คนประกอบอาชีพอิสระและกลุ่มคนทำงานรับจ้างที่ไม่มีสังกัด แต่มีฐานรายได้ดี มีบัญชีเงินฝากอยู่ในระดับสูง ต่างต้องสูญเสีย “อธิปไตย” ทางด้านข้อมูลความลับส่วนตัวออกไป
แม้ว่า...ภาครัฐ โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันออกมาแล้วว่า...จะไม่นำข้อมูลส่วนตัวของคนกลุ่มนี้ ไปเผยแพร่ต่อ กระนั้น...คงไม่มีใครรู้สึก “อุ่นใจ” สักเท่าใด? กับการถูก “ล้วงลับ-ตับแตก” ในครั้งนี้...
วิกฤตไวรัสโควิด-19 รอบนี้ จึงไม่ต่างกับสถานการณ์ที่พวกเขาเชื่อกันว่าเป็น..
วิกฤตซ้อนวิกฤต! อย่างแน่นอน