รัฐบาลทุ่มสรรพกำลัง! บูรณาการทั้งคนและหน่วยงานมากมาย กับงบประมาณนับล้านล้านบาท ต่อสู้และแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 อาจมองเป็นความสำเร็จในเชิงนโยบาย แต่กับการปฏิบัติแล้ว เสียงส่วนใหญ่ยังเห็นเป็นความล้มเหลว
ประสบการณ์จากความผิดพลาดในการออกนโนบาย และกำหนดมาตรการ/โครงการ...ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบแรก....เมื่อช่วงต้นปี 2563 ถูกประมวลผลและนำมาใช้ในการต่อสู้กับโรคร้ายเดียวกันนี้...ระหว่างการระบาดรอบที่ 2 ช่วงปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน
รอบนี้...เปลี่ยนจากการเหมารวม “ปิดประเทศ – หยุดดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจ” ไปสู่การกำหนดโซนตามสี จากรุนแรงไปหาเบา “แดง - เหลือง - เขียว” รัฐบาลเลือกปิดเมืองและหยุดกิจกรรมทางธุรกิจ เฉพาะบางพื้นที่...บางจังหวัดที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดฯ ในระดับรุนแรง
ไม่ได้ปิดเมือง...หยุดกิจกรรมทางธุรกิจทั้งประเทศ เหมือนรอบที่แล้วมา
ถือว่า...นโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอบนี้...ผ่อนคลายได้ในระดับที่ดีถึงดีมาก
หากยังจำกันได้...ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ รอบที่ 2 รัฐบาลได้ออกมาตรการ/โครงการเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจมา 2 ตัวที่โดนใจคนไทยทั้งประเทศ
หนึ่ง...คือ โครงการคนละครึ่ง อีกหนึ่ง...คือ โครงการช้อปดีมีคืน โดยทั้ง 2 โครงการ พ่วงไปกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ออกมาก่อนหน้านี้
ทั้งหมด...มีส่วนสร้างสีสันให้กับสังคมไทย และมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างมาก
และก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิดฯรอบที่ 2 ทุกฝ่ายต่างคาดหมายไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ เศรษฐกิจไทยที่ได้ผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ไปแล้ว ทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับในไตรมาสหลังๆ
ถึงขนาดคาดหวังกันว่า...จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะตบเท้าเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยในปี 2565 มากในระดับ 40 ล้านคน สร้างรายได้ 3.06 ล้านล้านบาท เหมือนเช่นในปี 2562 อันเป็นช่วงก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตการณ์ไวรัสโควิดฯ ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก
และก่อนจะถึงวันนั้น วันนี้...ความคึกคักของธุรกิจทุกระดับทั่วทุกภาคของไทย จะเริ่มมีส่วนสำคัญในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้กลับมาเป็นบวกในปี 2564 และดียิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป
นโยบายการควบคุมพื้นที่ ด้วยการแบ่งโซนตามสี “แดง - เหลือง - เขียว” ถูกนำไปใช้ควบคู่กับการออกมาตรการ/โครงการช่วยเหลือ บรรเทา และเยียวยาประชาชน โดยมีประสบการณ์ตรงจากการระบาดรอบแรก มาเป็น “คู่เทียบ”
จากที่เคยกระจายมาตรการ/โครงการช่วยเหลือฯ ด้วยการแยกตามกลุ่มอาชีพของประชาชน เปลี่ยนไปเป็นการช่วยเหลือในล็อตใหญ่ล็อตเดียว...รวมกลุ่มอาชีพอิสระ เกษตรกร คนทั่วไป ไว้ด้วยกัน
แม้ภายหลังจะเพิ่มกลุ่มข้าราชการและลูกจ้างที่มีฐานรายได้ต่ำ รวมถึงคนทำงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ตามมา ก็ถือว่า...รอบนี้ รัฐบาลช่วยเหลือในรอบเดียว ไม่แยกก้อน...เหมือนครั้งก่อน
มาตรการ/โครงการ...เราชนะ และเรารักกัน (มาตรา 33) แจกจ่ายเงิน 7,000 และ 4,000 บาท ให้กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับสิทธินี้ ตามลำดับ ได้รับความสนใจจากคนไทยเป็นส่วนใหญ่
แม้จะมีบางเสียงที่ไม่เห็นด้วย เมื่อรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง เลือกจะใช้วิธีการแจก “สิทธิการใช้จ่ายเงิน” ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” แทนการโอนเงินสดเข้าบัญชีธนาคาร เหมือนเช่นที่เคยทำกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน ก่อนหน้านี้
สิ่งนี้จำเป็นต้องทำ...เพราะรัฐบาล หวั่นจะเสียคะแนนและค่าความนิยม หลังถูกกล่าวหาว่า “แจกเงินให้คนไทยไปใช้จ่ายในธุรกิจของเจ้าสัว”
นั่นจึงเป็นที่มาของการแจกเงินผ่านการใช้สิทธิใช้จ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง”
จากข้อมูลบ่งชี้ว่า...ในการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบแรกนั้น รัฐบาลใช่จ่ายเงินเพื่อการเยียวยาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ และภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก
เฉพาะในส่วนของภาครัฐ (ไม่รวมภารกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ) มีการใช้จ่ายเงินที่ได้มาจากการกู้เงินในโครงการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาและแก้ไขปัญหาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ราว 3.9 แสนล้านบาท
คาดหมายกันว่า...การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 นั้น ภาครัฐจะต้องใช้จ่ายเงินผ่านมาตรการ/โครงการต่างๆ รวมกันไม่น้อยกว่า 2.1 แสนล้านบาท
เฉพาะ 2 ก้อนนี้...รวมกันราว 6 แสนล้านบาท นี่ยังไม่รวมงบประมาณในส่วนที่ได้จ่ายเพื่อการสาธารณสุขไปแล้วอีกเกือบ 6 หมื่นล้านบาท และงบที่ต้องจัดหาวัคซีนไวรัสโควิด-19 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติการจัดซื้อล่วงหน้า ในกรอบวงเงินกว่า 6.2 พันล้านบาท
และไม่แน่ว่างบประมาณในส่วนของการจัดหาและผลิตวัคซีนไวรัสโควิด-19 ในประเทศ จะหยุดอยู่แค่นี้...
อย่างไรก็ตาม คาดหมายกันว่า...หลังจากรัฐบาลออกมาตรการ/โครงการทุกอย่างในการต่อสู้และรับมือกับไวรัสโควิด-19 นับแต่กลางปี 2563 จนถึงปัจจุบัน น่ายังจะมีวงเงินคงเหลือจากโครงการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มากกว่า 2 แสนล้านบาท
มากพอที่รัฐบาลจะนำไปรวมกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 และ 2565 เพื่อการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยต่อไปได้
ยกเว้น! จะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 3 ซึ่งทุกฝ่ายต่างไม่อยากเห็นและไม่อยากให้เกิดขึ้น โดยหวังว่า...วัคซีนไวรัสโควิด-19 จะมาหยุดยั้งการแพร่ระบาดระลอกใหม่
ทั้งหลายทั้งปวง...ถือว่าแนวทางการบริหารงานเพื่อการรับมือและต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินมาถูกทางในเชิงนโยบาย...
องค์กรระหว่างประเทศหลายต่อหลายแห่ง...ต่างเอ่ยปากชมเปราะว่า รัฐบาลไทย “เป็นตัวอย่างที่ดี” ให้กับรัฐบาลประเทศอื่นๆ ได้ดำเนินการตาม
แต่หากมองในแง่ปฏิบัติ โดยเฉพาะกับมุมมองของคนส่วนใหญ่ในประเทศแล้ว ไม่แน่ใจว่า...การเดินมาถูกทางในเชิงนโยบาย จะใช่การเดินมาถูกทางในเชิงปฏิบัติหรือไม่?
ภาพที่คนสูงอายุ เดินทางข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด เพื่อมาต่อคิว ต่อแถว เพื่อรอการขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะ ณ สาขาของธนาคารกรุงไทย มีให้เห็นนับแต่วันแรกของการเปิดรับลงทะเบียนฯ
และเป็นภาพที่ถูกก่นด่าจากทั่วทุกสารทิศ
แม้ภายหลัง...กระทรวงการคลังจะประกาศเพิ่มจุดรับบริการลงทุนให้กับกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ไม่มีสมาร์ทโฟนทำให้ไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียนเองหรือเดินทางไปใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ที่ได้รับผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้) หรือ “กลุ่มพิเศษฯ”
จากเดิมมีเฉพาะสาขาของธนาคารกรุงไทย และจุดเคลื่อนที่รวมกันแค่ 1,894 จุด เป็น 3,500 จุดทั่วประเทศ
โดยใช้บริการของสาขาธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึง สำนักงานคลังจังหวัด สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ รวมถึงหน่วยรับลงทะเบียนเคลื่อนที่ของกระทรวงมหาดไทย เพิ่มเข้าไว้ด้วย
กระทั่ง สามารถให้บริการรับลงทะเบียนกับคนใน “กลุ่มพิเศษฯ” มากเกือบ 7 แสนคน (ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์)
กระนั้น รัฐบาลและกระทรวงการคลัง คงต้องยอมรับในจุดบกพร่องและผิดพลาดของตัวเอง โดยเฉพาะ “การวิ่งไล่ตามปัญหา” หลายครั้งหลายคราที่ผ่านมา
นั่นเพราะ...กลุ่มคนที่คิดมาตรการ/โครงการต่างๆ นั้น...ไม่ใช่กลุ่มคนที่เดือนร้อนจริงๆ จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 คนพวกนี้...ไม่เคยพบเจอภาวะ ตกงาน ขาดรายได้ ไม่มีกิน ไม่มีเงินผ่อน/จ่ายค่าเช่าบ้าน ไม่เคยยากจน เพราะ “หลวงเลี้ยง” มาตลอดชีวิต
จึงคิดแต่มาตรการ/โครงการในลักษณะ “คิดแทนคนจน” อยู่ในห้องทำงานสุดหรู ติดแอร์เย็นๆ จึงเข้าไม่ถึงหัวใจของคนส่วนใหญ่ และไม่ล่วงรู้ถึงความต้องการแท้จริงของคนไทย
หากจะบอกว่า...นโยบาย มาตรการและโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมา ช่วยเหลือเยียวยาคนไทย ทั้งในกลุ่มประชาชนและกลุ่มธุรกิจ นับแต่ช่วงต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน รวมกันเกือบ 12 เดือนนั้น
ถือว่า...รัฐบาลสอบผ่านในเชิงนโยบาย
แต่สำหรับภาคปฏิบัติที่ยัง “ตกๆ หล่นๆ” ให้เห็นอยู่ตลอดเวลานั้น ต้องขอบอกว่า...สอบไม่ผ่าน และมีอีกหลายๆ อย่างต้องปรับปรุงเป็นการด่วน!
ครั้นจะสรุปในมุมของ สำนักข่าว “เนตรทิพย์” ทำนอง...ล้มเหลวบนความสำเร็จ! ก็คงไม่แปลกอะไรมากนัก
เพราะเป็นความสำเร็จในเชิงนโยบาย ที่ยังมีเสียงก่นด่าถึงแนวทางการปฏิบัติที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่ต้องกับความต้องการของคนไทยส่วนใหญ่ ที่มีให้ได้ยินตามมาตลอดเวลา!!!