กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประสานความร่วมมือภาคธุรกิจใกล้ชิดมากขึ้น หารือสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ ดัน “แฟรนไชส์” เป็นธุรกิจเรือธงสร้างมูลค่าตลาด/เพิ่ม GDP ให้ประเทศ เตรียมจับมือออนทัวร์นำธุรกิจแฟรนไชส์เสนอผู้ที่กำลังมองหาอาชีพและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19... “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้” เห็นพ้อง..ควรจัดทำบิ๊กดาต้าธุรกิจแฟรนไชส์ไทยทั้งระบบ..ใช้เป็นแนวทางกำหนดนโยบายส่งเสริมธุรกิจให้ชัดเจน... พร้อมใช้เป็นข้อมูลสำหรับนักลงทุนทั้งไทยและเทศก่อนตัดสินใจลงทุน
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ประสานความร่วมมือและบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เป็นกลไกหลักในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพ โดยเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญ ล่าสุด กรมฯ ได้บูรณาการความร่วมมือกับสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ นำโดย นายบุญประเสริฐ พู่พันธ์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วย คณะกรรมการสมาคมฯ ให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น ประเด็นสำคัญ คือ การผลักดันให้ “แฟรนไชส์” เป็นธุรกิจเรือธงที่สร้างมูลค่าตลาดและเพิ่ม GDP ภาพรวมให้แก่ประเทศ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.5 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.7 ของ GDP ทั้งประเทศ ดังนั้น การผลักดันให้ธุรกิแฟรนไชส์เติบโตอย่างมีทิศทางและแข็งแกร่งจะส่งผลถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมด้วยเช่นกัน”
“การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดการชะลอตัวและหยุดชะงัก ลูกจ้าง/พนักงานองค์กรภาคธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และเล็กต่างได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงาน/ลดเงินเดือน ผู้ที่ถูกเลิกจ้างหันมาลงทุนประกอบธุรกิจส่วนตัวเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาขาดทุนและออกจากธุรกิจไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการขาดประสบการณ์และไม่มีที่ปรึกษาทางธุรกิจ กรมฯ และสมาคมฯ จึงเตรียมใช้รูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ช่วย ‘สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้’ โดยร่วมกันนำธุรกิจแฟรนไชส์หลากหลายรูปแบบ ขนาด และเงินลงทุน ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเลือกลงทุนนำไปประกอบเป็นอาชีพ ทั้งนี้ วิกฤตโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยเกิดเจ้าของกิจการขึ้นจำนวนมาก การนำธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้ระบบพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยบริหารจัดการจะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากจะมีแฟรนไชส์ซอร์ (เจ้าของแฟรนไชส์) คอยเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการธุรกิจตลอดระยะเวลาการประกอบธุรกิจ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จจึงมีมาก”
อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “เบื้องต้น กรมฯ จะประสานภาคธุรกิจที่มีแผนลดอัตรากำลัง/ลดจำนวนพนักงาน เพื่อนำธุรกิจแฟรนไชส์เข้าไปเสนอให้ผู้ที่เข้าเกณฑ์การเลิกจ้างหรือผู้ที่กำลังมองหาธุรกิจได้เลือกลงทุนประกอบธุรกิจทั้งเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม โดยจะมีการให้ความรู้และให้คำปรึกษาถึงรายละเอียดของแต่ละประเภทธุรกิจก่อนการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้เหมาะกับบุคลิก ความชอบ และความถนัดของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้ผู้ลงทุนมีพลังในการประกอบธุรกิจและผลักดันให้ประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ กรมฯ และสมาคมฯ จะร่วมกันจัดทำแผนการลงพื้นที่ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนำธุรกิจแฟรนไชส์ไปเปิดโลกการประกอบธุรกิจแก่กลุ่มเป้าหมายอื่นต่อไป โอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมฯ ดังกล่าวด้วย”
“กรมฯ และสมาคมฯ ยังเห็นพ้องในการจัดเก็บข้อมูล (บิ๊กดาต้า) ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทยทั้งระบบ (ซึ่งยังไม่เคยมีหน่วยงานใดดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม) เพื่อเป็นข้อมูลปฐมภูมิในการจำแนกประเภทและขนาดของธุรกิจ และใช้เป็นข้อมูลในการส่งเสริม/พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์แต่ละธุรกิจ/ขนาดอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เนื่องจาก แฟรนไชส์แต่ละประเภทต้องการความช่วยเหลือและการพัฒนาที่แตกต่างกัน ดังนั้น การมีข้อมูลธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศขนาดใหญ่และมีความสมบูรณ์จะช่วยให้ภาครัฐสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ได้อย่างตรงจุดมากที่สุด รวมทั้ง สามารถใช้เป็นข้อมูลเชิงลึกสำหรับนักธุรกิจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในการนำไปวิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจเลือกลงทุนอีกด้วย”
“ทั้งนี้ กรมฯ และสมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมือกันในทุกๆ ด้านอย่างแนบแน่น เพื่อให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยเป็นธุรกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง รวมถึง ใช้เป็นเครื่องมือในการ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทั้งในยามที่ประเทศประสบปัญหาวิกฤตจากกรณีต่างๆ หรือในยามที่ประเทศมีความรุ่งเรือง โดยธุรกิจแฟรนไชส์พร้อมให้การสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศทุกรูปแบบ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจที่ทำให้คนไทยมีความอยู่ดี กินดี และมีความมั่นคงระยะยาว” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564) ธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 575 กิจการ แบ่งตามประเภทได้ดังนี้ 1) อาหาร 181 กิจการ (คิดเป็นร้อยละ 31.48) 2) เครื่องดื่ม 136 กิจการ (คิดเป็นร้อยละ 23.65) 3) การศึกษา 101 กิจการ (คิดเป็นร้อยละ 17.57) 4) ค้าปลีก 88 กิจการ (คิดเป็นร้อยละ 15.29) 5) บริการ 44 กิจการ (คิดเป็นร้อยละ 7.66) และ 6) สปาและความงาม 25 กิจการ (คิดเป็นร้อยละ 4.35)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570 โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5953 e-Mail : franchisedbd@gmail.com และ www.dbd.go.th