ในห้วงที่ถนนทุกสายลุ้นระทึกกับวิกฤตไวรัสโควิดระลอกใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก จนทำเอาประชาชนคนไทย (และทั่วโลก) ขวัญผวาพากันหวาดวิตก เราจะยังรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ได้หรือไม่?
ยิ่งหันมาดูมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของภาครัฐ ที่แม้เวลานี้ยอดผู้ติดเชื้อจะพุ่งทะลุ 35,000 คนไปแล้ว แต่ละวันยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่าวันละ 1,500 รายขึ้นไป แต่มาตรการรับมือของภาครัฐก็ยังคงสะเปะสะปะ แทบจะมะงุมมะงาหรา
ขณะที่ความคาดหวังของผู้คนที่จะเข้าถึงและได้รับวัดซีนป้องกันไวรัสโควิดนั้น วันนี้ยังไร้หนทางออก คำสัญญาของภาครัฐก่อนหน้า เราจะเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคนี้ที่ประชาชนจะเข้าถึงและได้รับการฉีดวัคซีนก่อนใครนั้น
มาถึงวันนี้กับต้องหาวเรอและลุ้นระทึก เราจะเป็นประเทศสุดท้ายที่ประชาชนจะเข้าถึงและได้รับวัดซีนกันหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางวิกฤตที่กำลังถั่งโถม หลายภาคส่วนเริ่มสงเสริมและยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกันเองและพร้อมจะช่วยเหลือภาครัฐ อย่าง “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือ ซี.พี. ที่ออกมาระบุว่า ได้จัดงบกว่า 200 ล้านบาทในการสนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม พร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็นให้กับโรงพยาบาลของรัฐ และบุคคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ พร้อมยังเป็นหัวหอกกระทุ้งนายกฯ ต้องกล้าตัดสินใจเปิดกว้างสนับสนุนเอกชนนำเข้าวัคซีนต้านโควิด เพื่อให้แต่ละบริษัทสามารถดูแลพนักงานตนเองได้ เป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐได้อีกทาง
ขณะที่ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายสุพันธ์ มงคลสุธี ก็ได้นำเสนอแนวทางปลดล็อคปัญหาคอขวดวัคซีนต้านโควิด และมาตรการขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ได้จากการหารือของคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท.รวม 4 ข้อด้วยกัน
โดยข้อเสนอของ ส.อ.ท.ประกอบด้วย..
1. ให้ภาครัฐเปิดกว้างให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนได้ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงวัคซีนด้วยความรวดเร็ว รวมถึงลดภาระการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ
2. ให้ภาครัฐเร่งผลิตบุคคลากรที่สามารถดูแลการฉีดวัคซีนได้เฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านอัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างล่าช้าเนื่องจากบุคคลากรที่สามารถฉีดได้ไม่พอเพียง(บุคคลากร และสถานที่) โดยให้อบรมนักศึกษาแพทย์ / เภสัชกร ให้สามารถทำการฉีดวัคซีนและสังเกตอาการก่อนฉีดและหลังฉีดได้ พร้อมทั้งเสนอเพิ่มสถานที่บริการการฉีดวัคซีนได้แก่ ปั้มน้ำมันบางจากทั่วประเทศ (1,200 กว่าสถานี) และ โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยสภาอุตสาหกรรมฯจะทำการประสานโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ให้จัดพื้นที่ภายในโรงงานให้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีน
3. มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาแผนการกระจายวัคซีนเพื่อช่วยภาครัฐในการวางแผนการกระจายวัคซีนให้อย่างรวมเร็วและมีประสิทธิภาพ
และ 4. ให้จัดทำแพลตฟอร์มวัคซีนพาสปอร์ตเพื่อใช้สำหรับการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประเทศ
“การแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกัน ส.อ.ท. มีความพร้อมในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงของการแพร่ระบาด รวมถึงการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าในการฟื้นฟูประเทศได้อย่างรวดเร็ว”
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้กล่าวหลังประชุมระบบทางไกลกับ 40 ผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจต่างๆ ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก กลุ่มธนาคาร กลุ่มโรงแรม กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มภาคผลิต โดยรับที่จะช่วยเร่งกระจายการฉีดวัคซีนต้านโควิด เพื่อลดการแพร่รระบาดของโควิด-19 รวมถึงหาแนวทางสนับสนุนภาครัฐเพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ฉีดวัคซีน ทั้งยังจะขอความร่วมมือกับธุรกิจในการจัดหาสถานที่รองรับการฉีดวัคซีนอีกด้วย
เห็นความเคลื่อนไหวของสภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าไทย ต่อการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนับสนุนภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิดระลอกใหม่แล้ว ก็ให้นึกย้อนมาถึงบทบาทของกระทรวงดีอีเอส และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่มีต่อเรื่องนี้บ้าง
เพราะแม้นายกฯ และรัฐบาลจะมีนโยบายให้ทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานของรัฐและภาคธุรกิจได้ WFH เป็นหลักเพื่อลดการเดินทาง ลดการสัมผัส ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อลง แต่สิ่งที่เราเห็นนั้น ก็มีเพียงเจ้ากระทรวงดิจิทัล (ดีอีเอส) ที่สั่งการไปยัง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เร่งติดตั้งฟรีไวไฟในโรงพยาบาลสนามให้ถ้วนทั่ว และประสานสำนักงาน กสทช. ให้ดูแลสั่งการให้ผู้ให้บริการมือถือทั้งหลายดูแลเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อสนับสนุนการทำงานที่บ้านเท่านั้น
แล้วมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ที่เป็นรูปธรรมอยู่ที่ไหนกันหรือ เหตุใดจึงไร้มาตรการสนับสนุนการ WFH ที่เป็นรูปธรรมไปเสียหล่ะคราวนี้ หรือเพราะข้อเสนอครั้งก่อนไม่ได้รับการตอบสนองเลยเก็บพับข้อเสนอใหม่ไปด้วย!!!
แก่งหินเพิง