อยากอยู่หรอก “ผนึกกำลังกิน ฟินอยู่กับบ้าน” ตามนโยบายลดเชื้อเพื่อชาติ
แต่คนหาเช้ากินค่ำปากกัดตีนถีบอย่างพวกเรานั้น ปากท้องก็ต้องเดิน งานก็ต้องทำ กลัวก็กลัวติดเชื้อ แถมงานบางอย่างบางประเภทนั้นก็ไม่สามารถจะ W F H ได้เสียด้วย ดังนั้นแม้จะเสี่ยงภัยแค่ไหนก็ยังต้องถ่อสังขารไปทำงานกันเช่นเดิม
เช่นเดียวกับผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านรวงหรือเพิงหมาแหงนโดยทั่วไป ที่ต้องร้องแรกแหกกระเชอเมื่อไหร่ทางการ และ "ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19" หรือ ศบค. จะเงี่ยหูรับฟังความเดือดร้อนของผู้ประกอบการร้านรวงที่กำลังจะไม่มีกินกันบ้าง เมื่อไหร่จะปลดล็อคให้พวกเขาได้พอทำมาหากินกันได้บ้าง
เพราะหากนับเนื่องจากประกาศ ศบค. ลงวันที่ 29 เม.ย. 2564 ที่ไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารใน 6 จังหวัดควบคุมสูงสุด และเข้มงวดโดยกำหนดระยะเวลาเบื้องต้นเป็นเวลา 14 วันก่อนนั้น สัปดาห์นี้ก็น่าจะครบกำหนดไทม์ไลน์ที่ว่านั้นแล้ว ผู้ประกอบการร้านอาหาร จึงต่างลุ้นระทึกด้วยความคาดหวังว่าคงจะได้รับความกรุณาจากภาครัฐให้กลับมาเปิดให้นั่งกินในร้านได้บ้าง โดยเฉพาะร้านอาหารประเภทเปิดโล่ง ไม่มีแอร์ หรือเพิงหมาแหงนทั้งหลาย
เช่นเดียวกับสมาคมภัตตาคารไทย ที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศบค. เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว โดยระบุว่าคำสั่งของ ศบค. ที่ห้ามไม่ให้ร้านอาหารในพื้นที่ 6 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแบบนั่งกินในร้าน แต่ให้จำหน่ายแบบ Take home ได้เท่านั้นเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดและสร้างผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการในวงกว้าง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายวันละกว่า 1,400 ล้านบาท
และผลพวงจากการระบาดโรคโควิด-19 และจากมาตรการควบคุมใน 2 ระยะที่ผ่านมา ได้ทำให้มีร้านจำนวนไม่น้อยต้องเลิกกิจการไปพร้อมกับหนี้สิน และอีกจำนวนมากกำลังเข้าสู่จุดวิกฤติเสี่ยงต้องปิดกิจการตามมา หากรัฐยังคงปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ไม่เพียงจะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ ยังกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน
เหตุนี้สมาคมภัตตาคารไทย จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาล และ ศบค. ได้ทบทวนคำสั่งห้ามดังกล่าว เพื่อขอให้ร้านอาหาร ภัตตาคารสามารถจะนั่งกินในร้านได้ถึง 21.00 น.โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการร้านอาหารและภัตตาคารได้ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งหน่วยงานด้านสาธารณสุขจัดทำมาตรฐาน SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านสาธารณสุขที่อยู่ในระดับเป็นที่ยอมรับในระดับสากลของสมัชชาการท่องเที่ยวโลก (WTTC) โดยมีร้านอาหารจำนวนกว่า 2,000 ร้านที่ผ่านการตรวจสอบและให้การรับรองขั้นสูงสุดด้วย และยังมีร้านอาหารอีกจำนวนมากที่แม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรฐาน SHA แต่ก็ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ ศบค.กำหนดมาอย่างเข้มงวด
ฟังเสียงสะท้อนของผู้ประกอบร้านอาหารและสมาคมภัตตาคารไทยข้างต้นแล้ว ก็ให้เห็นใจคนหาเช้ากินค่ำเหล่านี้ ที่วันนี้กำลังหายใจพะงาบๆ แม้ไม่ตายด้วยเชื้อโควิดก็ตายเพราะไม่มีจะกินอยู่ดี ยิ่งกับบรรดาร้านรวง เพิงหมาแหงนทั้งหลายแหล่อย่างร้านสุกี้ ชาบู หมูกระทะ เพิงขายอาหารตามสั่งทั้งหลายที่มีลักษณะเปิดโล่งด้วยแล้ว คนกลุ่มนี้น่าจะได้รับการอะลุ่มอล่วยให้เปิดร้านรวงได้ แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลใดๆ จากภาครัฐ
แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสล่าสุดที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องวันละกว่า 2,000 คนในเวลานี้ สิ่งที่รัฐโดย ศบค. ปลดล็อคและผ่อนคลายกฎเกณฑ์ดังกล่าวให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ก็เป็นเพียงการอนุญาตให้ร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดให้ผู้บริโภคนั่งในร้านได้ไม่เกิน 25% ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสั่งกลับบ้านได้ไม่เกิน 23.00 น. ซึ่งเท่ากับว่า 1 โต๊ะ 4 คน จะสามารถนั่งได้ 1 คนเท่านั้น โดยยังคงงดการจำหน่ายสุราและดื่มสุราในร้าน ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัดนั้นให้นั่งได้จนถึง 5 ทุ่ม เรียกได้ว่าแม้จะผ่อนคลายแต่ก็ยังแทงกั๊กจนแทบจะไม่มีพื้นที่ให้หายใจ
ผิดกับร้านสะดวกซื้อ หรือ “โมเดิร์นเทรด” ติดแอร์เย็นฉ่ำที่ตั้งอยู่ตามย่านชุมชนทั้งหลายแหล่ แม้จะเป็นย่านชุมชนที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดอย่างหนัก หรืออยู่ใน 18 จังหวัดพื้นที่สีแดง หรือ 6 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง ก็ไม่เห็นภาครัฐจะมีคำสั่งปิดร้านรวงเหล่านี้ อย่างมากก็แค่สั่งให้เปิดให้บริการตั้งแต่ตี 5 ถึง 5 ทุ่มเท่านั้น ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเกือบเปิดให้บริการตามปกตินั่นแหล่ะ
ไม่รู้เพราะรัฐห่วงผู้ประกอบการเหล่านี้จะได้รับผลกระทบ หรือกลัวประชาชนได้รับผลกระทบไม่มีอะไรจะกินยามดึกดื้นหรือไง ถึงได้อนุเคราะห์ให้เขาเสียมากมายขนาดนั้น ช่างสมกับที่ผู้คนเขาสัพยอกรัฐบาลเพื่อนายทุนจริงๆ
แก่งหิน เพิง