รัฐบาลกู้เพิ่มแน่! และไม่ใช่แค่ 7 แสนล้าน นำไปสู้โควิดฯ แต่ยังมีโปะการขาดดุลงบปี’65 ในวงเงินเท่ากันอีก สรุป! รวมหนี้สาธารณะของไทย ช่วง “รัฐบาลประยุทธ์” พุ่งสูงกว่า 9.38 ล้านล้านบาท แต่ยังไม่ถึงเพดานวินัยการเงินกาคลัง เหตุ! หยุดแค่ 58.56% แถมมีช่องให้แก้เพดานเงินกู้ทะลุ 60% ของจีดีพี
ข่าวหลุด! ที่ “สื่อกระแสหลัก” หลายสำนัก รายงานตรงกัน...รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง เตรียมกู้เงินเพิ่มเติมอีก 7 แสนล้านบาท
หลังจากที่เกิดวิกฤตโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 รัฐบาลเคยออก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ มาแล้ว 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาดูแลงานด้านสาธารณสุข เยียวยาผลกระทบจากนโยบายรัฐ (ชัตดาวน์) และฟื้นฟูเศรษฐกิจ
แต่รอบนี้...มุมมิบทำกันเฉพาะใน “วงปิด” เพราะกระทรวงการคลัง โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเมื่อช่วงวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ก่อน ครม.จะเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และปิดเงียบเรื่องนี้ทันที!
ทว่า “ความลับไม่มีในโลก” เหมือนจะมีใครบางคน? นำข้อมูลนี้ มาบอกกล่าวกับสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล จนกลายเป็นข่าวคึกโคมในวันรุ่งขึ้น...
จากนั้น...ทุกคน ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง รวมถึงผู้บริหารกระทรวงการคลัง ต่างปิดปากเงียบในเรื่องนี้...
ฝ่ายการเมือง...โยนเผือกร้อนไปให้กระทวงการคลังเป็นผู้แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเงินกู้ก้อนใหม่
จะมีก็แต่...นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ที่ยอมเปิดปากพูดถึงเรื่องนี้...โดยระบุว่า วงเงินกู้ 7 แสนล้านบาท จะถูกนำไปใช้ใน 3 ภารกิจ คือ...
1.จัดซื้อวัคซีนต่อต้านโควิดฯ 3 หมื่นล้านบาท, 2. เยียวยาผลกระทบจากโควิดฯ 4 แสนล้านบาท และ 3. สำรองเอาไว้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 2.7 แสนล้านบาท
จะว่าไปแล้ว...คนส่วนใหญ่ต่างรับรู้กันทั่ว แม้รัฐบาลไม่อยู่ในฐานะ “ถังแตก!” แต่วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เหลือน้อยเต็มทน เท่าที่เป็นข่าว เหลือเพียง “หมื่นกว่าล้านบาท” แค่นั้น
แถมการจัดเก็บรายได้ภาษี ยัง “ต่ำตามคาด” ซึ่ง ปี 2563 หลุดเป้าไป 3.43 แสนล้านบาท หรือ -12.5% ขณะที่ปี 2564 ทุกฝ่ายพูดตรงกัน...หลุดเป้าแน่นอน!
แต่จะหลุดมากกว่าปีก่อนหรือไม่? ยังต้องลุ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
หากการฉีดวัคซีนต่อต้านไวรัสโควิดฯ เข้าเป้า! ทั้งใน เชิงปริมาณ คือ ฉีดคนไทยได้ครบทั่วประเทศ และ เชิงคุณภาพ คือ ผลลัพธ์ออกมาดี ย่อมส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการเปิดประเทศ...ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
โอกาสจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทย...ย่อมมีสูง!
นั่นจึงเป็นสาเหตุให้รัฐบาล ทำทุกวิถีทางเพื่อจัดหาวัคซีนฯมาฉีดให้กับคนไทย และเงินกู้ก้อนใหม่ 7 แสนล้านบาท ก็เป็นคำตอบของแผนการนี้...
หลายคนสงสัย? เหตุที่รัฐบาลและกระทรวงการคลัง ปิดข่าว! นั่นเพราะ...เงินกู้ก้อนใหม่ กระทบวินัยการเงินการคลังหรืออย่างไร? ถึงไม่กล้าบอกกับสังคมไทย?
กระทั่ง “อดีต รมว.คลัง” อย่าง...นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ออกมาวิจารณ์และให้ข้อมูลเรื่องนี้...
นายกรณ์ ชี้ว่า...ก่อนหน้านี้ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” เคยออกกฎหมายกู้เงินฉุกเฉินนอกระบบงบประมาณฯ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการกู้เงินลักษณะนี้ โดยออก พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง นำไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบจาก วิกฤตเศรษฐกิจโลก “แฮมเบอร์เกอร์” และแก้ไขปัญหาได้สำเร็จลุล่วง จนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วเป็นอันดับ 2 ของโลก
ต่อมา “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ก็ออก พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมปี 2554 แต่สุดท้ายไม่ได้ใช้เพราะโครงการไม่พร้อม
กระทั่ง “รัฐบาลประยุทธ์” ได้ออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปแก้ปัญหาโควิดฯ เมื่อต้นปี 2563 และไม่ใช่แค่เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพราะปีเดียวกัน...ยังได้กู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 อีกราว 7 แสนล้านบาท
รวมปี 2563 กู้ไปแล้ว...1.7 ล้านล้านบาท หรือราว 10% ของจีดีพี (มูลค่าจีดีพีไทยราว 17 ล้านล้านบาท)
และปี 2564 รัฐบาลก็ไม่ได้วางแผนกู้เงินนำไปใช้แก้ปัญหาโควิดฯ 7 แสนล้านบาท เท่านั้น เพราะยังต้องกู้เพื่อนำมาชดเชยการขาดดุลปีงบประมาณ 2565 อีกราว 7 แสนล้านบาท อีก
สิ่งที่ นายกรณ์ ตั้งข้อสังเกต เชิงแนะนำ “รัฐบาลประยุทธ์” คือ...
"การกู้ครั้งใหม่ในสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงิน ไม่กู้ไม่ได้ ดังนั้นการใช้เงินจึงต้องเข้าเป้า และนี่คือโจทย์ที่สำคัญที่สุด ต้องกู้แต่ต้องใช้เงินกู้ให้คุ้มที่สุด"
พร้อมจี้ให้รัฐบาล เร่งแก้ปัญหา 2 ด้าน คือ 1. อย่านำงบไปใช้เพื่อการฟื้นฟูกับเรื่องไม่เป็นเรื่องมากนัก และ 2. ควรเร่งเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น ไม่ใช่ล่าช้า...ไม่สมกับเป็นงบฉุกเฉินตามนิยามของ พ.ร.ก.ฯ เหมือนครั้งก่อน...
นายกรณ์ ยังแนะนำให้รัฐบาล หลีกเหลี่ยงการแจกเงินภายใต้หลักการและแนวคิดเดิมๆ และไม่ควรมีเรื่องฟื้นฟูไม่เป็นเรื่อง แต่ควรยิงให้เข้าเป้า!
นั่นคือ...เป้าหมายหล่อเลี้ยงผู้ประกอบการขนาดเล็ก SMEs ร้านอาหาร ธุรกิจภาคบริการทั้งระบบให้อยู่รอดจนถึงการฉีดวัคซีนครบตามเป้า
รัฐบาลจะเชื่อหรือไม่? นั่นเรื่องนึง แต่การกู้เงิน ซึ่งท้ายที่สุด...ประชาชนคนไทย จะต้องมีส่วนร่วมชดใช้หนี้สินก้อนหนี้ และทุกก้อนที่มี...จึงควรต้องรับรู้ถึงข่าวสารข้อมูล ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะ “ปิดกั้น” ประชาชน เช่นนี้...
ข้อมูลที่ สำนักข่าว “เนตรทิพย์” สรุปรวบรวมมาได้ ก็คือ...หากนับรวมเงินกู้ 2 ปี (2563 - 2564) แล้ว รัฐบาลก็เงินมาแล้ว ทั้งในและนอกงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท หรือราว 18.2% ของจีดีพี
ถามว่า...หากรวมกับเงินกู้ก่อนหน้านี้แล้ว มันทำให้หนี้สาธารณะของไทยสูงระดับไหน? และเกินเพดานเงินกู้ 60% ของจีดีพีแล้วหรือยัง?
เรื่องนี้...มีคำตอบ! นั่นคือ...หากนับรวมเงินกู้ทั้งในและนอกงบประมาณในปี 2564 ที่มีราว 1.4 ล้านล้านบาท และเงินกู้ก่อนหน้านี้ จะทำให้หนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 (30 กันยายน 2564) มีรวมกันประมาณ 9.38 ล้านล้านบาท
หรือ คิดเป็น 58.56% ของจีดีพี และยังไม่เกินเพดานเงินกู้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
ทว่าเรื่องพรรค์นี้...รัฐบาลกลับไม่บอกกล่าวให้คนไทยได้รับรู้ ปล่อยให้ “มือดี” หรือ...พวกหวังดีประสงค์ร้าย! ให้ข่าวแบบ “ไม่ออกนาม” กับสื่อกระแสหลักกลุ่มนั้น
สรุป! เงินกู้ก้อนใหม่ 7 แสนล้านบาท ยังไม่ใช่ก้อนสุดท้าย เพราะยังจะมีเงินกู้โปะงบประมาณขาดดุลอีก 7 แสนล้านบาท โดยหากนับรวมเงินกู้ 2 ก้อนใหม่ เข้ากับหนี้สินเก่าๆ ของไทย...
ยังไง...ก็ยังไม่ถึงและเกินเพดาเงินกู้ที่ 60% ของจีดีพี
เรียกว่า...ยังเหลือช่องโหว่ให้กู้ได้อีก หรือหากจำเป็น...ก็แก้ไขกฎหมายหลัก เปิดช่องให้เพดานเงินกู้สูงกว่า 60% ของจีดีพี
ยากกว่านี้...“รัฐบาลประยุทธ์” ก็ทำมาแล้ว 555!