เหลือบไปเห็นข่าวพาดหัวสื่อสิ่งพิมพ์คุณภาพฉบับหนึ่ง “ศักดิ์สยาม” จ่อฟ้องศาลปกครองขอรื้อคดีคาโง่โฮปเวลล์ใหม่ มั่นใจอายุคดีความสิ้นสุดไปแล้ว ศาลปกครองไม่สามารถรับคดีได้ เชื่ออาจทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน
โดยเนื้อหาข่าวนั้นระบุว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เตรียมยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลางภายในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อขอรื้อฟื้นคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ใหม่ ที่อาจทำให้ภาครัฐ-การรถไฟฯ อาจไม่ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายแก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้ หลังกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุด ได้พบประเด็นใหม่ในเรื่องการนับอายุความฟ้องคดีที่อาจหมดอายุความไปแล้ว จึงจะขอรื้อฟื้นคดีใหม่
นอกจากนั้น ในระหว่างที่กระทรวงคมนาคมขอรื้อฟื้นคดีโฮปเวลล์ใหม่นั้น ทาง รฟท.จะขอใช้สิทธิทางศาลขอชะลอการชดเชยความเสียหายจากการยุติโครงการ ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ รฟท. ชดเชยค่าเสียหายให้กับ บริษัท 24,000 ล้านบาทออกไปก่อน
เห็นความพยายามดิ้นสุดเฮือกของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต่อความพยายามพลิกหาช่องทางในการไม่ต้องจ่ายค่าโง่ ชดเชยความเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาสัมปทานของการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคมในอดีตแล้ว ก็ได้แต่เห็นใจและสะท้อนใจแทน
เมื่อที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก มีความเห็นต่อกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้กำหนดการนับอายุความคดีปกครอง ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือวันที่ 9 มี.ค. 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ว่าเข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ โดยให้เหตุผลว่า แม้เป็นการออกระเบียบตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ซึ่งผิดไปจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่า ให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี
ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผลต่อการที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท. จะยื่นรื้อคดีใหม่ ทั้งประเด็นการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการนับอายุความของคดีที่ถูกต้องว่า คดีดังกล่าวหมดอายุความไปก่อนหน้านั้นหรือไม่
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 ชี้ชัดว่าศาลปกครองสูงสุดนับอายุความของคดีค่าโง่โฮปเวลล์ขัดกฎหมาย ไม่เป็นไปตามบันทัดฐานที่ควรนับจากวันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น จึงน่าจะมีผลทำให้คดีดังกล่าวมีช่องทางในอันที่จะรื้อฟื้นคดีได้ใหม่ และกลายเป็นอีก 1 สูตรสำเร็จของการประวิงเวลาจ่ายค่าโง่ก้อนนี้ของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ที่พยายามทำทุกวิถีทางในอันที่จะประวิงเวลาจ่ายค่าโง่ก้อนนี้ให้ถึงที่สุด
แม้หลายฝ่ายได้ออกโรงเตือนสติรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมระวังจะระอุ “ค่าโง่ระลอกใหม่” ขึ้นมาเสียเอง เพราะแทนที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จะไปไล่เบี้ยหาคนรับผิดชอบที่ทำให้รัฐตัองเสียค่าโง่มากถึงเพียงหนี้ ตามกระบวนการและกรอบแห่งกฎหมายคือ พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับมาหาทางประวิงเวลาหาช่องที่จะพลิกไม่ต้องจ่ายเสียอย่างนั้น ทั้งที่มันเลยจุดนั้นมาไม่รู้กี่สิบปีเข้าไปแล้ว
และจะว่าไปประเด็นการนับอายุความดังกล่าว ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ใด ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคู่สัญญาบริษัทเอกชน เพราะคดีดังกล่าวมีการร้องต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ และฟ้องคดีต่อศาลมาตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในสัญญาระหว่างกันมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าการบังคับคดีตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะอยู่ในอำนาจของศาลแพ่งและพาณิชย์ หรือศาลปกครองที่ตั้งขึ้นมาในภายหลัง ก็เป็นเรื่องภายในกระบวนการศาลยุติธรรม ที่คู่สัญญาเอกชนไม่ได้เข้ามาแทรกแซงใด ๆ จึงหาได้เป็นมูลเหตุที่รัฐและกระทรวงคมนาคมจะหยิบยกมาเป็นมูลเหตุในการชักด่าบไม่ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายได้
และจะว่าไป ก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ก็เคยมีความพยายามจะรื้อฟื้นคดีนี้มาหนแล้ว ทั้งการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์(ประเทศไทย) เข้าทำสัญญาสัมปทานกับรัฐที่ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี อันส่งผลต่อสัญญาสัมปทานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาจตกเป็นโมฆะ รวมทั้งกรณีข้ออ้างการนับอายุความของศาลปกครองสูงสุดที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองนี้
แต่กระนั้นศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2564 ให้ยกคำร้องของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟ ที่ขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณางดหรือทุเลาการบังคับคดี ในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กระทรวงคมนาคมและรฟท. ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551เนื่องจากศาลปกครองกลางมีความเห็นว่า เมื่อคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ผู้ร้องทั้งสองปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด (21เมษายน2562) ผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวนี้ จึงผูกพันผู้ร้องทั้งสองให้ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
และหากนับเนื่องจากเส้นตายตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ภายใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดแล้ว คือภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 จนถึงวันนี้ก็ล่วงเลยมาครบ 2 ปีเข้าไปแล้ว วงเงินชดเชยที่ต้องจ่ายตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลบาการ และศาลปกครองสูงสุด มันได้ทะลักขึ้นมาจากเงินต้น 11,700 ล้านบาท วันนรี้ปาเข้าไปวันนี้กว่า 25,000 ล้านบาทแล้วกระมัง
“ค่าโง่” ส่วนที่ระอุขึ้นมาใหม่จากความพยายามในการประวิงเวลาจ่ายค่าโง่ดังกล่าวที่ไม่รู้จะทะลักขึ้นมา แล้วสักกี่มากน้อย และค่าโง่ส่วนนี้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่สามารถจะปฏิเสธความรับผิดชอบ หรือโยนกลองไปเป็นความรับผิดชอบของใครอื่นได้เลย
สำหรับ “แก่ง หินเพิง” แล้ว สิ่งที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ สมควรจะดำเนินการนั้น นอกเหนือจากการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในการเจรจาหาทาง “ปิดบัญชี” การจ่ายเงินค่าโง่ที่ว่านี้ให้เหลือน้อยที่สุดแล้ว
สิ่งที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปก็คือการควานหาตัวบุคคล เจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมืองที่จะต้องมาร่วมกันรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539 เพราะเมื่อรัฐต้องเสียหายจ่ายเงินค่าโง่ที่เกิดจากการบริหารสัญญา หรือยกเลิกสัญญา “ผิดพลาดสุดมหันต์” แล้ว หน่วยงานต้นสังกัดย่อมต้องมีหน้าที่ไปไล่เบี้ยความเสียหายทางแพ่งกลับคืนมา
นั่นหมายความว่า กระทรวงคมนาคมและรถไฟจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบต้นตอความเสียหาย ตลอดจนการ “ไล่เบี้ย” เอากับตัวบุคคลที่มีส่วนทำให้รัฐเสียหายตั้งแต่ต้น จะเป็นนักการเมือง ข้าราชการประจำ หรือเจ้าหน้าที่รัฐใด ๆ ที่มีส่วนสร้างความเสียหายจากโครงการนี้ ก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบมาก-น้อยแตกต่างกันไป
เฉกเช่นการไล่เบี้ยความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าว ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.กำลังฟ้องไล่เบี้ยผู้เกี่ยวข้องนับร้อยคน เพื่อเรียกความเสียหายนับหมื่นล้านบาทอยู่ในเวลานี้ หรือกรณีค่าโง่ในโครงการรถและเรือดับเพลิง กทม. มูลค่ากว่า 6,800 ล้านบาท โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มูลค่ากว่า 23,000 ล้านบาท หรือกรณีโรงพักและแฟลตตำรวจร้าง มูลค่ากว่า 5,700 ล้านบาท ที่หน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการที่เสียหายมีหน้าที่ต้องไปดำเนินการไล่เบี้ยมูลละเมิดหรือค่าเสียหายทางแพ่งเอากับผู้มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐตามมา
หาไม่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บอร์ดและผู้บริหารการรถไฟฯ รวมถึงรัฐบาลชุดนี้ทั้งชุดนั่นแหล่ะจะ “งานเข้า” ถูกฟ้องไล่เบี้ยเสียเอง โทษฐานนั่ง "ทับขี้" ซุกค่าโง่เอาไว้ใต้พรมโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเสียเอง
เตือนกันเอาไว้ด้วยความรักใคร่จริงๆ ฯพณฯ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่เคารพ!!!
โดย แก่ง หินเพิง