เห็นหนังสือของฝ่ายบริหาร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ออกโรงชี้แจงกรณีประกวดราคาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.5 กม. วงเงิน 78,813 ล้านบาท ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตุกันอย่างอื้ออึงว่า มีการล็อกสเปกตั้งแต่ในมุ้งหรือไม่?
โดย รฟม.ได้โต้แย้งว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการก่อสร้าง ประกอบกับสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการฯที่ผ่านเขตชุมชนหนาแน่น พื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูง จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้ผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์และมีสมรรถนะสูงเพียงพอสำหรับการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถดำเนินงานก่อสร้างให้สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผนงาน
ดังนั้น ในการดำเนินการคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา รฟม.จึงกำหนดเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอด้านราคา ประกอบเกณฑ์เทคนิค ซึ่งเป็นไปตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 65 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 83 (2) ประกอบกับแนวทางการปฏิบัติในการจัดทำร่างขอบเขตของงาน กรณีหน่วยงานของรัฐกำหนดเกณฑ์การพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ราคาประกอบเกณฑ์อื่นเพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีศักยภาพสูงและเหมาะสมเป็นหลักประกันความสำเร็จของการดำเนินการก่อสร้าง
คำชี้แจงของ รฟม.ข้างต้นนั้น กล่าวได้ว่า “ถอดแบบ” มาจากคำชี้แจง กรณีการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม.วงเงินลงทุน 1.427 แสนล้านที่ รฟม.ดำเนินการจัดประกวดราคาก่อนหน้านี้ และถูกสังคมตั้งข้อกังขากรณี รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลจากปกติมาเป็นการพิจารณาข้อเสนอด้านราคาและเทคนิคประกอบกัน เพื่อหวังประเคนโครงการไปให้แก่กลุ่มทุน "กากี่นั้ง"
หากคำชี้แจงข้างต้นเป็นจริงอย่างแท้ทรู ก็ช่วยตอบสังคมให้เกิดความกระจ่างทีเถอะ การกำหนดหลักเกณฑ์สุดพิสดาร ที่อ้างว่า เพื่อให้ได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพเพื่อเป็นหลักประกันว่า จะสามารถดำเนินงานได้ตามกรอบเวลา และงบประมาณที่กำหนดไว้นั้น ได้ทำให้โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม สำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่
ขอโทษ! เปิดประมูลไปตั้งแต่ปีมะโว้ 12 มิ.ย.63 จนป่านนี้ 1 ปี 6 เดือนเข้าไปแล้ว ก็ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน มิหนำซ้ำตัวผู้บริหาร รฟม.ยังถูกบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลฟ้องกราวรูด และร้องแรกแหกกระเชอไปทั่วสิบทิศจนทำเอาโครงการสะดุดกึกแทบ "ล้มทั้งยืน" คาราคาซังอยู่จนกระทั่งวันนี้
และแม้ฝ่าย รฟม. จะ "แก้ลำ" โดยสั่งยกเลิกการประมูล ด้วยหสังจะดำเนินการประกวดราคาใหม่ ภายใต้หลักเกณฑ์เจ้าปัญหาที่อ้างว่า เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างก่อสร้างที่มีศักยภาพสูง เป็นหลักประกันว่า จะสามารถดำเนินโครงการได้สำเร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ แต่จนแล้วจนรอดกระทั่งวันนี้ รฟม. ก็ยังไม่สามารถเปิดประมูลโครงการดังกล่าวได้
นอกจากนี้ คำชี้แจงของ รฟม.ข้างต้นก็ไม่ได้ตอบคำถามสังคมที่ตั้งข้อกังขาในเรื่อง การล็อคสเปกตั้งแต่ในมุ้ง หวังประเคนให้รับเหมากากี่นั้งหรือไม่
เพราะการที่ รฟม.อ้างเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน ต้องได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพสูงเพื่อเป็นหลักประกันความสำเร็จในการดำเนินโครงการนั้น
ในเงื่อนไขประกวดราคา และเกณฑ์พิจารณาก็กำหนดให้รับเหมาที่จะได้รับพิจารณาต้องได้คะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อเกิน 80% อยู่แล้ว และภาพรวมต้องได้เกิน 85% อันเป็นเกณฑ์ด้านเทคนิคสุดเข้มข้นในสามโลกอยู่แล้วไม่ใช่หรือ? ผู้รับเหมาที่ผ่านเกณฑ์นี้ได้ย่อมต้องถือว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินโครงการได้อยู่แล้ว
อีกทั้ง รฟม.เอง ยังมีข้อกำหนดให้ผู้รับจ้างยังต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน (แบงก์การันตี) ล็อคคอเอาไว้อีกชั้น หากผู้รับเหมารายนั้นๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญาก็สามารถยึดแบงก์การันตีได้อยู่แล้ว ดังนั้นหลังการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค มันจึงควรจะไปชี้ขาดกันที่ข้อเสนอด้านการเงินหรือชี้ขาดกันที่ราคา ว่าในแต่ละสัญญา (6 สัญญา) นั่น รายใดเสนอราคาก่อสร้างต่ำสุด ก็ควรได้งานนั้นไป
แต่ รฟม.กลับเอาคะแนนด้านเทคนิคที่พิจารณาเสร็จสิ้นไปแล้ว ไปทอนเป็นคะแนนดิบอีกชั้น 30 คะแนน แล้วเอาข้อเสนอด้านการเงินมาพิจารณาร่วมอีก 70 คะแนน เพื่อชี้จาดว่าผู้รับเหมารายใดจะได้งานไป ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดโอกาส เปิดช่องให้คณะกรรมการคัดเลือกใช้วิจารณญาณจะเทคะแนนอุ้มสมไปให้แก่ผู้รับเหมาตายใดก็ย่อมทำได้
ต่อให้รับเหมารายนั่นต้องพ่ายคะแนนด้านราคา แต่หากได้คะแนนอุ้มสมด้านเทคนิคนำโด่ง ก็สามารถพลิกล็อคชนะประมูลโครงการได้ ประเภทต่อให้เสนอราคาก่อสร้างต่ำกว่า ก็ไม่ใช่หลักประกันว่าจะชนะประมูลโครงการได้
จุดนี้แหล่ะที่สังคมคลางแคลงใจ เพราะมันคือเงื่อนไขประมูลที่ถอดแบบ "โมเดล" เดียวกับประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่ รฟม. ดำเนินการทุกวิถีทางในอันที่จะตีกันไม่ให้คู่แข่งเข้าประมูล เพราะะกลัวคู่แข่งเสนอราคาและการเงินได้ดีกว่า จึงต้องเอาเกณฑ์ด้านเทคนิคที่คู่แข่งเป็นรองมาตีกัน จนกลายเป็นประเด็นดราม่า ที่ทำให้ รฟม. ถูกร้องถูกฟ้องกราวรูดอยู่ในปัจจุบัน
กับเรื่องที่ รฟม. อ้างว่า ได้นำเสนอโครงการนี้เข้าดำเนินการภายใต้ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact ) และลงนามกับองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน ACT เพื่อเป็นหลักประกันความโปร่งใสในการดำเนินโครงการนั้น เชื่อแน่ว่าในเงื่อนไขประมูลเดิมที่ รฟม. เชิญใครต่อใครเข้ามาร่วมตรวจสอบการดำเนินโครงการนั้น คงไม่ได้นำเอาหลักเกณฑ์ประมูลสุดพิสดาร เอาเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกที่เอาข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาพิจารณาร่วมกันมาพิจารณาด้วยแน่
เพราะเงื่อนไขสุดพิสดารที่ว่านี้ รฟม.เพิ่งผุดขึ้นมาใช้กับโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม เมื่อต้นปี 62 นี่เอง ดังนั้น ไอ้ที่อ้างว่านำเอาโครงการนี้ทำข้อตกลงคุณธรรม ดึงตัวแทน ACT เจ้ามาร่วมตรวจสอบด้วยนั้น ก็คงต้องน้อนถามไปยังเครือข่ายองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นว่า เขาผุดเกณฑ์ประมูลคัดเลือกสุดพิสดารขนาดนี้ยังดูไม่ออกอีกหรือ ยังพลอยเห็นดีเห็นงามกับการประมูลสุดอื้อฉาวนี้ได้หรือ
เพราะหากองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน หรือ ACT ที่เห็นดีเห็นงามไปกับการประมูลสุดพิสดารในโครงการนี้ ก็เท่ากับยอมรับว่า การประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มสุดอือฉาว ที่กำลังถูกสารพัดองค์กรล้วงลูกเข้ามาตรวจสอบนั้นเป็นไปด้วยความโปร่งใสด้วยเช่นกัน จริงไม่จริง!!!
โดย แก่งหิน เพิง