ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์ ได้สัมภาษณ์เพื่อนสื่อตกงานรายหนึ่ง ที่มีประการณ์ตรงเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์ตามข้อบังคับทางกฎหมายการจ้างงาน หลังออกจากงานในวิชาชีพสื่อมวลชน โดยระบุว่า จากกระแสทำลายล้าง (Disruption) ของเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อในโลกอินเตอร์เน็ต ยังคงแผ่ซ่านเข้าไปยังธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะ ”สื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี” ที่กำลังหืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง
ในอนาคตอันใกล้นี้ 7 ช่องทีวีดิจิทัล ที่แจ้งความจำนงค์จะขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นั้น ก็นัยว่าจะทำให้ ”คนข่าวและผู้ปฏิบัติงานในช่องทีวีดิจิทัลเหล่านี้ อาจต้องตกงานไม่น้อยกว่า 2,000 ชีวิต”
บางช่องก็เริ่มเปิดโครงการ "จำใจจากจร" หรือ "จากกันด้วยดี" เปิดทางให้คนข่าว คนทีวี หรือผู้ปฏิบัติงาน ที่ต้องการจะ "เออรี่รีไทร์" ลาออกก่อนกำหนดได้แสดงความจำนง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้มาตรการเข้มข้น "จิ้มออก" ในภายหลัง
พนักงานผู้ปฏิบัติงานบางคนนั้นก็เต็มใจออก หรืออยากเจอรีไทร์จริงๆ ซึ่งก็คงมีไม่น้อย จะด้วยวัย อายุอานามหรือเพราะยากกลับบ้านไปเลี้ยงหลานอย่างจริงๆ จังๆ ก็มี
แต่ก็มีอีกไม่น้อย ที่ยังคงมีภาระรับผิดชอบ ยังมีอีกหลายชีวิตที่ต้องดูแล แต่เมื่อกระแสดิสรับ ย่างกรายเข้ามาถึงตัว ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะต้องถูกจิ้มออกหรือตกงานโดยไม่รู้ตัว
ในแง่ของธุรกิจหรือบริษัทที่ต้องเปิดโครงการเออรี่รีไทร์จำใจพรากหรือจำใจจาก ก็คาดหวังจะให้พนักงานที่ต้องจากกันก่อนเวลาอันควรนี้ไปได้ดิบได้ดี ไปที่อื่นๆ บางบริษัทนั้นแทบจะทำจดหมายหรือใบผ่านงานที่แสดงถึงความรู้ความสามารถของพนักงานที่ต้องเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ชนิดที่เรียกว่า อ่านแล้วน้ำตาไหลพราก เกือบไปสมัครงานที่ไหนก็แทบจะคว้าตัวไปทันที
แต่หารู้ไหม ความหวังดีของบริษัทในการเปิดโครงการจำใจพราก ให้พนักงานลาออก ก่อนกำหนดนั้น มันเป็น ”ดาบสองคม” ที่ทำให้การเรียกร้องค่าชดเชย จากการตกงาน ตามกฎหมายแรงงานนั้น ถูกได้สิทธิ์หรือริดรอนลงไปโดยอัตโนมัติ
ใบลาออก ใบผ่านงาน ที่พนักงานจักต้องนำไปแสดงยื่นความจำนงขอรับเงินชดเชย การว่างงานและขาดรายได้จากการตกงานต่อสำนักงานประกันสังคมนั้น ในกรณีที่บริษัทประทับตราว่า เป็นการลาออกอย่างเต็มใจ หรือเข้าโครงการลาออกจากสมัครใจไม่ได้เป็นการถูกปลดออกหรือไล่ออกจากบริษัทนั้น แม้จะยังความรู้สึกที่ดีต่อพนักงานผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ แต่มันก็เป็นดาบสองคมที่ในด้านหนึ่งนั้น กลับทำให้หนทางที่จะได้รับเงินชดเชยจากการว่างงาน แทนจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามกฎหมายแรงงาน
เพราะตามข้อกฎหมายประกันสังคมนั้น กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคิดคำนวณจากฐานเงินสมทบประกันสังคมขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบประกันสังคมสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานเดือนละ 5,000 บาท
แต่หากเป็นกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งหากผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาทเท่านั้น
เพราะฉะนั้น กรณีของสื่อต่างๆ ที่กำลังทยอยเลิกจ้าง นักข่าว ผู้ปฏิบัติงานทีวี ก่อนที่จะก้าวออกจากบริษัท ควรจะได้สอบถามฝ่ายบริหารและฝ่ายบุคคลให้เรียบร้อยสักนิด หนังสือแจ้งการลาออกที่บริษัทจะส่งไปยังสำนักงานประกันสังคมนั่นมีข้อความว่าอย่างไร?
หากหวังดีและปรารถนาดีกับเราจริง ก็ควรจะประทับตราไปเลยว่า “เลิกจ้าง หรือให้ออก เพราะยุบแผนก ยุบเลิกกิจการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบทำงาน ทำให้ต้องเลิกจ้าง” ก็ว่าไป
เพราะหากไปปรารถนาดีว่า ”เป็นการลาออกอย่างสมัครใจสุดใจขาดดิ้น” แล้ว แทนจะเป็นผลดีกับพนักงานที่จะได้รับเงินทดแทนจากการขาดรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย 50% ของฐานรายได้เฉลี่ยเป็นเวลา 180 วัน หรือ 6 เดือน ก็จะเหลืออยู่แค่ 30% ของค่าจ้างเฉลี่ยในระยะเวลาแค่ 90 วัน หรือ 3 เดือนเท่านั้น
ทางที่ดีจึงควรทำความตกลงกับบริษัทหรือนายจ้างซะให้เรียบร้อย ช่วยกรุณาทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานประกันสังคม หรือสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ตั้งทีเถอะว่า ปลดหรือเลิกจ้างอิฉัน ไม่ต้องมาปรารถนาดี ลงชื่อให้หรูว่า ลาออกโดยสมัครใจเลยค้า...
ระยะเวลาแค่ 3 เดือนมันผ่านไปไวเหมือนพรรคการเมือง (บางพรรค) นะจะบอกให้!