กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือ 10 มหาวิทยาลัย จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TISC) ส่งเสริมนักวิจัยและผู้ประกอบการ เชื่อมโยงนวัตกรรมสู่ภาคธุรกิจ
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 กรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับสถาบันการศึกษา 10 แห่ง ลงนาม MOU จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation Support Center: TISC) ตั้งเป้าหมายให้คนไทยเป็นเจ้าของสิทธิบัตรและนวัตกรรมมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยยกระดับสินค้าและบริการทัดเทียมประเทศคู่ค้าต่างชาติ
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศและเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนและสร้างแต้มต่อให้กับภาคธุรกิจ กรมฯ จึงได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อตอบโจทย์ประชาชนและภาคธุรกิจ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างคน สร้างความรู้ และสร้างนวัตกรรม จึงเป็นที่มาของการทำความร่วมมือระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาและสถาบันการศึกษา เพื่อจัดตั้งศูนย์ TISC เป็นตัวกลางในการเชื่อมกลุ่มผู้สร้างสรรค์และกลุ่มผู้ใช้งานสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง”
กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีความร่วมมือในรูปแบบของ MOU กับสถาบันการศึกษา 10 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการเข้าถึงกลุ่มนักประดิษฐ์ นักวิจัย และผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด
“เป้าหมายสำคัญของการจัดตั้งศูนย์ TISC นอกจากมุ่งสร้างเครือข่ายส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังมีการให้คำปรึกษา วิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยี ขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และเชื่อมโยงนวัตกรรมสู่ภาคธุรกิจ”
นายวุฒิไกร กล่าวทิ้งท้ายว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นการเดินหน้าที่สำคัญของวงการทรัพย์สินทางปัญญาไทยในการสร้างนักประดิษฐ์และนักวิจัยที่มีคุณภาพ สร้างผลงานสิทธิบัตรและนวัตกรรมของไทยที่มีมูลค่า พร้อมสร้างรายได้เข้าประเทศผ่านการซื้อ-ขายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และที่สำคัญเครือข่ายที่เข้มแข็งระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญากับสถาบันการศึกษาจะสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นกิจกรรมอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อวงการทรัพย์สินทางปัญญาและเศรษฐกิจของไทยอย่างแน่นอน”