ยังจะมียุคสมัยไหน? ที่ความเสี่ยงเกิดขึ้นได้กับคนทุกกลุ่มเท่ายุคนี้ แม้คนที่เงินฝากในแบงก์เกิน 1 ล้านบาท และมีเงินรวมกันมากถึง 95% ของเงินฝากทั้งประเทศ 14.4 ล้านล้านบาท ยังต้องเสี่ยงกับการไม่คุ้มครองส่วนเกิน 1 ล้านบาท ครั้นจะโยกไปลงทุนด้านอื่น ก็ยังเสี่ยง...เสี่ยงแม้กระทั่งซื้อพันธบัตรรัฐบาล!
ท่ามกลาง “3 วิกฤตใหญ่” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน นับแต่..วิกฤตด้านสาธารณสุข จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
จนถึงวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ ที่ธุรกิจทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน คนใช้แรงงานและหาเช้ากินค่ำ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายและมาตรการรัฐในการใช้เพื่อต่อสู้และรับมือกับไวรัสโควิดฯ
กระทั่งเกิด วิกฤตทางการเมือง ที่ประชาชนส่วนหนึ่งออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะล้มเหลวในการดูแลและรับมือกับวิกฤตการณ์ข้างต้น
ยังจะมีเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนในรัฐบาล แต่กลับเป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับคนไทย โดยเฉพาะคนที่มีเงินฝากอยู่ในบัญชีธนาคารมากกว่า 1 ล้านบาท
หลังจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก “กลับลำ” นำเอาข้อกำหนดในมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาบังคับใช้กับเงินฝากของประชาชนที่มีเกิน 1 ล้านบาทต่อบัญชีเงินฝาก เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564
นั่นคือ สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะให้ความคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน
หมายความว่า...ใครก็ตาม ที่มีบัญชีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องแบกรับความเสี่ยงกันเอง หากบ้านเมืองไทยเกิดวิกฤตขนาดใหญ่ ส่งผลสะเทือนถึงระบบเศรษฐกิจ และทำให้ธนาคารที่รับฝากเงินประสบปัญหาตามมา กระทั่งไม่สามารถชดเชยหรือชดใช้ “ความเสียหาย” ของเงินฝากในบัญชีเหล่านั้น เกินกว่า 1 ล้านบาทได้
แม้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง จะพยายามออกมาพูด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ฝากเงิน โดยย้ำว่า คนไทยที่มีบัญชีเงินฝากเกินกว่า 1 ล้านคน มีเพียงไม่ถึง 2% เนื่องจากจำนวนคนที่มีเงินฝากฯ ต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีมากเกินกว่า 98%
ดังนั้น การที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะกลับไปใช้แนวทางการให้ความคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน จึงไม่กระทบคนส่วนใหญ่ของประเทศ
พูดอย่างนี้...ก็ไม่ผิด!
แต่อย่าลืมว่า คนส่วนน้อยที่ว่า หรือผู้ที่มีเงินฝากอยู่ในบัญชีธนาคารแต่ละแห่งเกินกว่า 1 ล้านบาท และมีไม่ถึง 2% นั้น
หากมองในแง่ของศักยภาพของตัวคน ก็ถือว่า คนกลุ่มนี้...มีอิทธิพลทางความคิด มากพอจะชี้นำสังคมไทยให้คล้อยตามได้ หากพวกเขารวมตัวกันขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง? ไม่เพียงแค่นั้น จำนวนไม่ถึง 2% ที่ว่า...กลับมีจำนวนเงินฝากในบัญชีธนาคารรวมกัน มากถึงกว่า 95% ของเงินฝากรวม ที่คนไทยทั้งประเทศมี
จากข้อมูลสถิติ ณ ปัจจุบัน พบว่า...ประเทศไทยมีบัญชีเงินฝากของทุกธนาคารรวมกันราว 106.5 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้ 65% เป็นบัญชีออมทรัพย์ (บางแห่งเรียก “เผื่อเรียก”) และมียอดเงินฝากรวมกัน ณ เดือนมิถุนายน 2564 ประมาณ 14.94 ล้านล้านบาท เพิ่มจาก ณ สิ้นปี 2563 ที่มีราว 14,74 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯที่รุนแรงและหนักหน่วง ถึง 2 แสนล้านบาททีเดียว
สรุปให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ คนไม่ถึง 2% มีเงินฝากรวมกันมากกว่า 95% ขณะที่คนส่วนใหญ่กว่า 98% กลับมีเงินฝากในธนาคารรวมกันแค่ไม่ถึง 5% เท่านั้น
เมื่อภาครัฐงัดมาตรการบีบให้คนฝากเงินที่มีเกิน 1 ล้านบาทต่อบัญชี ต่อธนาคาร ต้องรับปล่อยให้ผู้ที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท ต้องรับผิดชอบเงินฝากของตัวเอง สิ่งนี้...ย่อมสร้างผลสะเทือนมหาศาลตามมาอย่างแน่นอน
เหมือนเช่นที่ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสื่อบางสำนักว่า...
ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น กลับพบว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขนาดใหญ่หลายแห่ง มีผลกำไรจากการดำเนินการที่เพิ่มขึ้น หลายธุรกิจเตรียมวางแผนจะขยายการลงทุนไปในต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในประเทศ
สิ่งที่นักวิชาการท่านนี้พูด...เป็นสิ่งที่คนไทยต่างรับรู้มาบ้างแล้ว แต่มันเหมือนกับการได้รับคำยืนยันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ทำนอง “เศรษฐีย่อมมีทางออก แต่คนระดับกลางลงมายันยาจก...หาทางออกไม่มี!”
หลายคน...หลาครอบครัว...หลายตระกูล มีธุรกิจไม่ใหญ่พอจะขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เหมือนคนใน 100 ตระกูลมหาเศรษฐีไทย เช่นที่ นิตยสารและเครือ Forbes ได้จัดทำทำเนียบมหาเศรษฐกิจไทย ล่าสุด
คำถามตามมาก็คือ...หากคนที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท ต่อบัญชี ต่อธนาคาร ต้องการจะโยกเงินส่วนเกินไปหาแหล่งพักพิง ที่ไม่เสี่ยงและให้ผลตอบแทนสูงกว่าฝากแบงก์ พวกเขายังจะมีทางเลือกให้กับตัวเอง เหมือนเช่นที่มหาเศรษฐกิจ 100 คน/ตระกูล หรือนักธุรกิจใหญ่ชั้นแนวหน้า โยกเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้อย่างไร?
เพราะไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใน...ตลาดหุ้น ทองคำ น้ำมัน ค้าเงิน ทั้งเงินจริงและเงินออนไลน์ หรือการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ต่างก็มีความเสี่ยงและราคาขึ้นลงผันผวนรับวิกฤตโควิดฯ ถ้วนหน้ากัน
เหลือ 2 เรื่องที่ยังพอทำได้และได้ทำ...แต่ก็ยังต้องเสี่ยงเล็กๆ แม้ความเสี่ยงที่ว่าจะน้อยกว่าการลงทุนข้างต้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยง นั่นคือ...
การลงทุนใน “พันธบัตรรัฐบาล” แม้ความเสี่ยงจาการลงทุนไม่มี แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเข้าไม่ถึงการลงทุนประเทศนี้ และหากได้ลงทุน...ก็จะได้รับผลตอบแทนที่น้อยมาก ทว่าการซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็ไม่ง่าย! เพราะก็ต้องแย่งกับคนอื่นๆ ในลักษณะ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”
ไม่ต่างจากสลากออมทรัพย์ของแบงก์รัฐ ไม่ว่าจะเป็น...สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. หรือแม้แต่ สลาก ธอส. ที่เข้าถึงช้า...ก็อดเหมือนกัน!
ส่วนการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่แม้วันนี้..หลายตัว โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียม ที่ตกอยู่ในภาวะ “ล้นตลาด” จะมีราคาถูกลง แต่ก็ถูกลงจากราคาที่ปรับสูงอย่างมากไปก่อนหน้านี้
รวมถึงการลงทุนในที่ดินเปล่า แถบชานเมืองและตามต่างจังหวัด ที่ยังพอมีให้กว้านซื้อ จากเจ้าของเดิมที่ “ร้อนเงิน”
แม้ราคาซื้อยามนี้จะไม่แพง และเมื่อทุกอย่างกลับมาสู่ภาวะปกติ ราคาที่ดินจะแพงลิบลิ่ว ทันทีที่นักธุรกิจต่างชาติกลับมาประเทศไทย
แต่ระหว่างทางของการถือครองที่ดิน...หากไม่ใช่ “เงินเย็น” แล้ว การลงทุนในที่ดินเปล่า จะกลายเป็นการ “จมลึก!” และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะปล่อยออกไปได้ นี่ก็คือเป็นความเสี่ยงเช่นกัน
ครั้นจะถือเงินสดไว้กับตัว...หรือเก็บในตู้เซฟที่บ้าน ก็ยังมีความเสี่ยงจากโจรผู้ร้าย...
กลายเป็นว่า...ยุคแห่งการปกครอง 7 ปีเศษมานี้ วิถีชีวิตของคนไทยกลับย่ำแย่และดำดิ่งจนมองไม่เห็นฝั่งฝัน แม้กระทั่งคนมีเงินฝากในแบงก์เกิน 1 ล้านบาท ยังคงเอาเท้าก่ายหน้าผาก!