ควันหลงประเด็นที่ "หมอคนดัง" และเครือข่ายนักวิชาการนอกที่ออกโรงเคลื่อนไหวรณรงค์ให้คนไทยไปร่วมกันกอบกู้ดาวเทียมสื่อสารของชาติ "ไทยคม 7-8" จ่อระอุแดดขึ้นมาอีกหน
เพราะล่าสุด นายประเสริฐ อภิปุญญา อดีตกรรมการติดตามและประเมินผลผลการปฏิบัติงานของ กสทช. (กตป.) ดอดไปยื่นเรื่องต่อประธาน ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบกรณีออกใบอนุญาตประกอบกิจการไทยคม 7- 8
โดยระบุว่า.. การที่ กสทช. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมประเภทที่ 3 เลขที่ 3ก/51/003 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2555 และหมดอายุวันที่ 25 มิ.ย.2575 และแก้ไขเมื่อวันที่ 31 มิ.ย.2563 เลขที่ TEL3/2555/002 ให้ บมจ.ไทยคม โดยอ้างมติคณะรัฐมนตรีชุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจเป็นการออกใบอนุญาตที่บกพร่องไม่เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาจเข้าข่ายทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
จึงขอให้ตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร , นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช. , นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ รวมทั้งกรรมการ กสทช. ยกชุด
จุดพลุร้องเวลาไหนไม่ทำ ดันมาร้องเอาในช่วงที่อดีตเลขาธิการ กสทช.กำลังสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช.ชุดใหม่พอดิบพอดี ทำเอาเจ้าตัวนั่งไม่ติดต้องออกโรงชี้แจงเป็นพัลวัน และยืนยัน อำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรนั้นเป็นของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลจัดสรรแล้วจึงส่งเรื่องให้ กสทช. พิจารณาออกใบอนุญาตให้ ซึ่งในขณะนั้นเป็นอำนาจของ "คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)" ไม่เกี่ยวข้องกับเลขาธิการ กสทช. และสำนักงาน กสทช.
ที่จริงเรื่องของดาวเทียม “ไทยคม 7-8” นั้น เป็นปัญหาคาราคาซังกันมาตั้งแต่ปีมะโว้ 2560 โน้นแล้ว หลังจากกระทรวงดีอีเอส ลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวยื่นโนตี๊สไปยัง บมจ.ไทยคม ให้บริษัทปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน โดยต้องโอนทรัพย์ไทยคม 7 และ 8 ที่บริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. กลับไปยู่ในระบบสัมปทาน พร้อมจ่ายค่าต๋งสัมปทานเพิ่มเติมให้แก่รัฐ นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ให้ กสทช.แล้ว
ฟากฝั่ง บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ออกมาตอบโต้กระทรวงอย่างหนักหน่วงว่า การที่กระทรวงดีอีเอสที่จะให้ไทยคม 7 และ 8 กลับไปอยู่ในระบบสัมปทานนั้น เป็นการกระทำที่ขัดกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544 ที่ห้ามขยายหรือเพิ่มเติมสัญญาสัมปทาน และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ปี 2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ที่ให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกรูปแบบต้องเข้าสู่ระบบให้ใบอนุญาต
ที่สำคัญก่อนที่ไทยคม 7 และ 8 จะได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. กระทรวงดีอีเอสเองก็มีเอกสารยืนยันไปยัง กสทช. ว่า ไทยคมได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตครบถ้วนแล้ว และกระทรวงดีอีเอส ก็รับรองความถูกต้องไปหมดแล้ว โดยถือเป็นดาวเทียมดวงแรกที่ได้ใบอนุญาตตามระบบใหม่ด้วย
ก่อนที่ บมจ.ไทยคม จะยื่นคำร้องต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการเพื่อให้เข้ามาแก้ไขข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 25 ตุลาคม 2560 เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 โดยยืนยันว่า บริษัทได้ใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมจาก กสทช.มาอย่างถูกต้อง กระทรวงดีอีเอสไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะให้สัมปทานใดๆ ได้อีก เพราะการประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้เข้าสู่ระบบการให้ใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 และ พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544 ตั้งแต่ปี 2549 แล้ว
ก่อนหน้านี้ กระทรวงดีอีเอสก็เทียวไล้เทียวขื่อ หารือกับ กสทช.ในเรื่องการโอนทรัพย์สินไทยคม 7-8 กลับไปอยู่ในระบบสัมปทานมาหลายครั้งหลายหน แต่ก็ไม่มีข้อยุติ เพราะ กสทช. ยืนยันเป็นเพียงผู้ออกใบอนุญาตประกอบการให้เท่านั้น แต่ได้แนะนำให้ รมต.ดีอีเอส ออกมาตรการทางปกครองเรียกเก็บค่าวงโคจรดาวเทียมเพิ่มเติม นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี 2% ของ กสทช.และเงินกองทุน กทปส. 3.75% ซึ่งหากบริษัทเอกชนคู่สัญญาไม่เห็นด้วย ก็สามารถใช้สิทธิร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดได้อยู่แล้ว จะได้เป็นข้อยุติที่ชัดเจนเสียที แต่กระทรวงดีอีเอสก็กลับได้แต่นั่ง "เอามือซุกหีบ" ไม่มีการดำเนินการใด ๆ
ก็ไม่รู้เจ้ากระทรวงดีอีเอสจะเข้าใจหรือไม่ว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมถึงกิจการดาวเทียมนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมานั้น กระทรวงดีอีเอสหาได้มีอำนาจที่จะให้สัมปทานใดๆ ได้อีก เพราะกฎหมายผูกขาดทั้งหลายทั้งปวงได้ถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นระบบการออกใบอนุญาตภายใต้ กสทช. ไปหมดสิ้นแล้ว
หาไม่แล้วดีอีเอสจะ "หักดิบ" ข้อเสนอไทยคมที่ยื่นเงื่อนไขขอขยายสัญญาสัมปทาน 3-5 ปี เพื่อแลกกับการยิงเพาเวอร์แบงก์ในการยืดอายุดาวเทียมไทยคม 5 ออกไปหรือ ก็ด้วยข้ออ้างไม่มีอำนาจขยายหรือให้สัมปทานอีกไม่ได้ไม่ใช่หรือ?
ที่สำคัญกิจการดาวเทียม หรือตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมก็หาได้เป็นสิทธิ์ของประเทศที่จะนำไปเปิดประมูลหาประโยชน์ได้ แต่เป็นสิทธิ์ที่สหภาพโทรคมนาคม (ITU) จะเป็นผู้พิจารณาจัดสรรให้แก่ประเทศใดประเทศหนึ่งในลักษณะ "มาก่อนได้ก่อน" หรือ First Come First Served ที่ต้องไป "ช่วงชิง" กันมา
พฤติกรรมกระทรวงดีอีเอสที่ยังคงพยายามยืนยัน นั่งยันจะต้องโอนทรัพย์สิน "ไทยคม 7 และ 8" ไปเป็นของรัฐ ทั้งที่ไม่มีกฏหมายรองรับและไม่ยอมดำเนินการตามคำแนะนำจอง กสทช. นั้น จึงทำให้นอกจาก บมจ.ไทยคม จะใช้สิทธิ์ยื่นข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการแล้ว ยังเตรียมฟ้องร้องข้าราชการผู้เกี่ยวข้องทั้งแพ่ง-และอาญา พ่วงไปด้วยอีกเพราะถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงกิจการจนก่อให้เกิดความเสียหาย
ไม่ต่างไปจากกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจ ม.44 ออกคำสั่งยกเลิกสัมปทานเหมืองทองอัคราที่พิจิตรและเพชรบูรณ์ ด้วยข้ออ้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคง จนถูกบริษัทคิงส์เก็ต ออสเตรเลียฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ให้ชดใช้ความเสียหายแก่บริษัทกว่า 30,000 ล้าน ซึ่งนายกฯ เคยป่าวประกาศจะรับผิดชอบเอง แต่วันนี้กลับมีความพยายามจะโยนให้รัฐแบกรับค่าโง่ที่เกิดขึ้น
กรณีดาวเทียมไทยคม 7-8 ที่กระทรวงดีอีเอสเข้ามาแทรกแซงกิจการเอกชนถึงขั้นจะยึดไปเป็นทรัพย์สินของรัฐ ทั้งที่ไม่ได้เป็นกิจการสัมปทาน และตนเองก็ไม่สามารถขยายหรือให้สัมปทานเพิ่มเติมใดๆ ได้นั้น ก็ให้พึงระวังกันไว้นิด หากท้ายที่สุดเกิดความเสียหายขึ้นมา กระทวงดีอีเอสคงปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้แน่!
โดย แก่ง หินเพิง